สำนักจุฬาราชมนตรี คณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้อัยการสูงสุดยื่นอุทธรณ์คำพิพากษายกฟ้องในคดีฆาตกรรมอำพรางนายโมฮัมหมัด อัลรูไวลี ชาวซาอุดีอาระเบีย ย้ำไม่ใช่ไม่ยอมรับคำตัดสิน แต่เพื่อให้กระบวนการตัดสินคดีนี้ได้ดำเนินขึ้นอีกครั้ง เพื่อให้ความเป็นธรรมแก่ญาติของผู้เสียชีวิต และสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างประเทศ
วันนี้ (30 เม.ย.) เมื่อเวลา 13.30 น. ที่โรงแรมรีเจนท์ นายอาศิส พิทักษ์ดุมพล จุฬาราชมนตรี ผศ.ดร.สุชาติ เศรษฐมาลินี ดร.พิสุทธิ์ บิลล่าเต๊ะ ผอ.ศูนย์ประสานงานสำนักจุฬาราชมนตรี นายไพศาล พรหมยงค์ ร่วมกันแถลงข่าวเนื่องในการประชุมคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 4/2557 ที่ได้มีการประชุมอภิปรายถึงกรณีคำพิพากษาของศาลอาญา เมื่อวันที่ 31 มี.ค.ที่ผ่านมาที่ได้มีคำพิพากษายกฟ้องในคดีฆาตกรรมอำพรางนายโมฮัมหมัด อัลรูไวลี ชาวซาอุดีอาระเบีย โดยที่ประชุมได้ตระหนักถึงผลกระทบที่มีต่อสังคมไทยและผลประโยชน์โดยรวมของประเทศชาติเป็นสำคัญ จึงได้มีมติให้ออกแถลงการณ์เพื่อแสดงจุดยืนขององค์กรมุสลิมในประเทศไทยต่อกรณีดังกล่าว มีข้อสรุปดังนี้
1. สำนักจุฬาราชมนตรี คณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย และคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดทั่วราชอาณาจักร ต่างมีความรู้สึกเสียใจและเห็นใจเป็นอย่างยิ่งต่อประชาชนชาวซาอุดีอาระเบียและบรรดาญาติของนายโมฮัมหมัด อัลรูไวลี ที่ได้ถูกทำให้สูญหายไปด้วยการฆาตกรรมอำพรางในประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 12 ก.พ. 2533 เป็นเวลาที่นานถึง 24 ปีมาแล้ว
2. ถึงแม้ว่าการตัดสินในคดีความใดๆ จำเป็นต้องให้ความเคารพในคำตัดสินของศาลในทุกคดีความ ถึงกระนั้นก็ตาม สำนักจุฬาราชมนตรี คณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย และคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดทั่วราชอาณาจักร มีความไม่สบายใจเป็นอย่างยิ่งที่ผลของกระบวนการยุติธรรมของไทยในการตัดสินคดีนี้เป็นที่เคลือบสงสัยต่อสังคมโดยทั่วไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งบรรดาญาติของนายโมฮัมหมัด อัลรูไวลี และประชาชนชาวซาอุดีอาระเบีย ตลอดจนโลกอาหรับทั้งมวล อันเนื่องมาจากการเปลี่ยนตัวผู้พิพากษาท่านหนึ่งในองค์คณะผู้พิพากษาในคดีนี้ก่อนการตัดสินเพียงไม่กี่วัน ดังนั้น สำนักงานจุฬาราชมนตรี คณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย และคณะกรรมการ อิสลามประจำจังหวัดทั่วราชอาณาจักร จึงขอให้การสนับสนุนและขอเรียกร้องให้สำนักงานอัยการสูงสุดได้ทำการอุทธรณ์คำพิพากษาเพื่อให้กระบวนการตัดสินคดีนี้ได้ดำเนินขึ้นอีกครั้งและเต็มไปด้วยความบริสุทธิ์ยุติธรรมอย่างแท้จริงต่อไป
3. สำนักจุฬาราชมนตรี คณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย และคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดทั่วราชอาณาจักร เห็นว่า หากกระบวนการยุติธรรมของไทยในการติดสินคดีนี้ยังคงเป็นที่เคลือบแคลงสงสัยต่อสาธารณชนดังที่เป็นอยู่ จะส่งผลกระทบและสร้างความเสียหายอย่างใหญ่หลวงต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย กลุ่มประเทศโลกอาหรับ และประเทศสมาชิกองค์การความร่วมมืออิสลาม (โอไอซี) จำนวน 57 ประเทศ ซึ่งองค์กรดังกล่าวมีเลขาธิการคนปัจจุบันประเทศไทยโดยรวม โดยเฉพาะอย่างยิ่งธุรกิจอุตสาหกรรมการส่งออกสินค้าฮาลาล ปัจจุบันประเทศไทยมีสัดส่วนในการส่งออกสินค้าฮาลาลสูงเป็นอันดับ 5 ของตลาดโลก ในขณะที่ผู้ประกอบการสินค้าที่ได้รับการรับรองมาตรฐานฮาลาลในประเทศไทยส่วนใหญ่นั้นไม่ใช่มุสลิม
4. กรณีการถูกอุ้มฆ่าและหายตัวไปของนายโมฮัมหมัด อัลรูไวลี ไม่ใช่เป็นเพียงกรณีเดียว ที่เกิดขึ้นในสังคมไทยในอดีตที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน มีประชาชนชาวไทย จำนวนไม่น้อยทั้งชาวไทยพุทธและชาวไทยมุสลิมได้ถูกฆาตกรรมอำพรางในลักษณะเดียวกันนี้ สำนักจุฬาราชมนตรี คณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย และคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดทั่วราชอาณาจักร เห็นว่าปรากฏการณ์การฆาตกรรมดังกล่าวในสังคมไทยเป็นความรุนแรงและเป็นความอธรรมที่จำเป็นจะต้องได้รับการแก้ไขอย่างจริงจังและเร่งด่วน ดังนั้นจึงขอเรียกร้องให้หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องในการกำกับดูแลและรับผิดชอบในเรื่องนี้ จำเป็นต้องทบทวนและปรับปรุงกระบวนการทำงานในเรื่องนี้ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพอย่างแท้จริง เพื่อไม่ให้ประเทศไทยต้องสูญเสียภาพลักษณ์และความเชื่อมั่นต่อนา นาออารยประเทศในด้านการพิทักษ์สิทธิมนุษยชนอันเป็นคุณค่าสำคัญสูงสุดประการหนึ่งของความเป็นมนุษย์ในสังคมโลก
ทั้งนี้ นายอาศิสกล่าวว่า ที่ทำการออกแถลงการณ์ในครั้งนี้เนื่องจากคำนึงถึงโดยหน้าที่ของชาวมุสลิมต้องรักษาความเที่ยงธรรมตามคำสอนของพระผู้เป็นเจ้า ศาสนาอิสลามถือว่าการฆ่าคนคนหนึ่งถือเป็นการฆ่าคนทั้งโลก จึงต้องมีการผดุงไว้ซึ่งความยุติธรรม จึงขอให้ประเทศไทยรักษาความเป็นธรรมเพื่อศักดิ์ศรีของประเทศชาติ เราเพียงแต่เรียกร้องให้มีการอุธรณ์สูงสุดตามสิทธิเท่านั้น ไม่ได้ไม่ยอมรับคำตัดสินของศาล เนื่องจากเมื่อมีการเปลี่ยนตัวผู้พิพากษา ทำให้ทางประเทศซาอุดีอาระเบียไม่สบายใจเป็นอย่างมาก
นายอาศิสกล่าวต่อว่า กรณีดังกล่าวไม่ได้เกิดขึ้นเป็นครั้งแรก ทำให้มีการเรียกร้องให้ประเทศซาอุดีอาระเบียตัดความสัมพันธ์กับประเทศไทย หากเป็นเช่นนั้นจริงจะสร้างความสูญเสียแก่ประเทศไทยอย่างมหาศาล เพราะเรามีการส่งออกสินค้าฮาลาลออกเป็นอันดับ 5 ของโลก จึงต้องมีการออกมาเรียกร้องดังกล่าว