กระทรวงยุติธรรรม จับมือ สสส.ลงนาม MOU พัฒนาระบบการปฏิบัติต่อผู้กระทำความผิด มุ่งคืนคนดีสู่สังคม ลดการกระทำผิดซ้ำ ให้โอกาสผู้ก้าวพลาด
วันนี้ (25 เม.ย.) ที่ห้องแกรนด์บอลรูม 2 โรงแรมรามาการ์เดนส์ เมื่อเวลา 10.00 น. กระทรวงยุติธรรมจัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) เรื่องการพัฒนาระบบการปฏิบัติต่อผู้กระทำความผิด ระหว่างกระทรวงยุติธรรม โดยนายชาญเชาว์ ไชยานุกิจ รองปลัดกระทรวงยุติธรรม กับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดย ทพ.กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ โดยมี น.ส.รื่นวดี สุวรรณมงคล อธิบดีกรมคุมประพฤติ นายสุนทร เพิงมาก รองอธิบดีกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน และตัวแทนจากกรมราชทัณฑ์ ร่วมเป็นสักขีพยานในการลงนาม
นายชาญเชาวน์กล่าวว่า การลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับ สสส. มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อการขับเคลื่อนงานเสริมสร้างคุณภาพชีวิตของผู้กระทำความผิดและการปรับทัศนคติของชุมชนและบุคคลรอบข้าง เพื่อส่งมอบคนดีให้กลับคืนสู่สังคม สำหรับข้อมูลล่าสุดจากกรมคุมประพฤติ เมื่อเดือนมีนาคม 2557 มีผู้อยู่ระหว่างคุมความประพฤติจำนวน 281,064 คน แบ่งเป็น ผู้ใหญ่ 220,138 คน เด็กและเยาวชน 30,453 คน ได้รับการพักการลงโทษ 18,906 คน ลดวันต้องโทษ 11,567 คน และอยู่ระหว่างการฟื้นฟู 257,620 คน
รองปลัดกระทรวงยุติธรรมกล่าวต่อว่า การพัฒนาระบบการปฏิบัติต่อผู้กระทำความผิดนี้จะเป็นการบูรนาการทั้งในด้านองค์ความรู้และการทำงานร่วมกันของส่วนต่างๆ เช่น การพัฒนางานวิชาการในการดูแลฟื้นฟูและปรับเปลี่ยนพฤติกรรม การพัฒนารูปแบบการทำงานร่วมกับชุมชน การศึกษาค้นคว้ามาตรการและกระบวนการยุติธรรมต่างๆ ที่จะช่วยลดจำนวนผู้กระทำผิดและผู้ที่ต้องถูกควบคุมตัวในที่ต้องขัง การพัฒนาระบบบริการสุขภาพ สุขภาวะ เพื่อส่งเสริมด้านคุณภาพชีวิต และการมีสุขภาวะที่เหมาะสม ของผู้ต้องขังและผู้ปฏิบัติงาน นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาระบบเตรียมความพร้อมในการส่งผู้กระทำผิดกลับสู่สังคม ซึ่งต้องทำงานร่วมกับผู้เกี่ยวข้องหลายภาคส่วน เช่น ครอบครัว ชุมชนและสังคม ทั้งนี้ งานความร่วมมือระหว่าง 2 หน่วยงานยังมีขอบเขตครอบคลุมถึงการพัฒนาโครงสร้างการทำงาน ระบบข้อมูลสารสนเทศ และการพัฒนาศักยภาพบุคลากรและภาคีเครือข่ายด้วย
นายชาญเชาวน์กล่าวอีกว่า ก่อนหน้านี้เราใช้งบประมาณจากกรมคุมประพฤติ กรมราชทัณฑ์ และกรมพินิจคุ้มครองเด็กและเยาวชน สำหรับการฟื้นฟูผู้กระทำความผิด ปีละ13,400 ล้านบาทต่อคน จำนวน 800,000 คน ตนยืนยันว่าร้อยละ 80-90 เขาจะสามารถฟื้นฟูกลับสู่สังคมได้ อย่างไรก็ตาม งบประมาณที่ผ่านมาไม่ได้เน้นการฟื้นฟู และให้โอกาสเขากลับคืนสู่สังคม อาทิ กรมราชทัณฑ์นั้นจะใช้งบประมาณเน้นไปทางควบคุมอย่างเดียว
“อยากเชิญชวนภาคเอกชน ประชาชน สมาคมหรือมูลนิธิต่างๆ มีส่วนร่วมในการฟื้นฟูผู้กระทำความผิด โดยร่วมทำงานกับเราเพื่อคืนคนดีสู่สังคม” นายชาญเชาวน์กล่าว
ด้าน ทพ.กฤษดากล่าวว่า เดิมที สสส.ได้ร่วมงานกับทั้ง 3 กรมอยู่แล้ว และการที่สังคมไทยมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วทำให้ปัญหาต่างๆ เพิ่มขึ้นอย่างมากมาย โดยเฉพาะปัญหายาเสพติดที่ส่งผลต่อจำนวนผู้กระทำผิดที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก ทั้งการกระทำผิดครั้งแรกและการกระทำผิดซ้ำจนเป็นวิกฤต เกิดปัญหาความหนาแน่นของผู้ต้องขังในเรือนจำ ซึ่งจะส่งผลถึงด้านสุขภาพ สุขภาวะ ของผู้ต้องขังและเจ้าหน้าที่ของเรือนจำเอง ระบบงานที่จะร่วมกันพัฒนาขึ้นในครั้งนี้จะช่วยเสริมประสิทธิภาพในการดูแล ฟื้นฟู และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้กระทำผิดเพื่อมุ่งสู้เป้าหมายการคืนคนดีสู่สังคม อันจะนำไปสู่การมีสังคมสุขภาวะสำหรับทุกคน
โดยในส่วนของ สสส.จะให้การสนับสนุนในด้านการสร้างเสริมสุขภาวะ ลดช่องว่างด้านการเข้าถึงบริการทางสุขภาพในกลุ่มเฉพาะเช่นผู้ต้องขังที่เป็นคนพิการ คนสูงอายุ หรือคนที่มีปัญหาสุขภาพทั้งนี้รวมถึงด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิตของทั้งผู้ต้องขังและเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานในด้านต่างๆ เช่น สุขภาพอนามัย ทั้งด้านร่างกายและจิตใจ การเตรียมความพร้อมเพื่อกลับสู่สังคม การปรับทัศนคติของผู้เกี่ยวข้อง การยอมรับของครอบครัวและชุมชน ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายภาคส่วน เนื่องจากปัญหาดังกล่าวไม่ใช่ปัญหาของบุคคลครอบครัว หรือหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง แต่เป็นปัญหาของสังคมโดยรวมที่ต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วน สอดคล้องกับภารกิจของ สสส.ในการสร้างเสริมสุขภาวะให้กับสังคม
“การเปลี่ยนแปลงวิธีคิด ปรับทัศนคติ และให้โอกาส กับคนที่เคยทำผิด หลังจากที่ได้เข้ากระบวนการบำบัดฟื้นฟูแล้ว เชื่อว่าผู้เคยกระทำผิดจะสามารถกลับตัวเป็นผู้ที่มีคุณค่าต่อสังคม เป็นพลังในการขับเคลื่อนสังคม หากคนในสังคมให้โอกาส ซึ่งการลงนามข้อตกลงครั้งนี้ จะเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลง” ทพ.กฤษดา กล่าว
นายประดิษฐ์ ศรีสมบูรณ์ อดีตผู้กระทำความผิดที่พ้นโทษแล้ว กล่าวว่า ตนต้องโทษใช้ชีวิตอยู่ในเรือนจำนานกว่า 17 ปี ต้องอยู่ภายในกฎระเบียบ มีความเป็นอยู่ไม่สะดวกสบาย และไม่ได้รับการติดต่อจากญาตินาน 12 ปี เมื่อพ้นโทษได้หางานทำแต่เปลี่ยนงานหลายครั้ง ต้องอดทนอดกลั้น ไม่ย่อท้อ จนตัดสินใจขอกู้ยืมเงินจากมูลนิธิพิบูลสงเคราะห์ กรมราชทัณฑ์ ซึ่งมูลนิธิฯ ไม่เพียงให้กู้ยืมเงินเท่านั้น ยังมีการฝึกอาชีพให้ด้วย ทำให้ตนลืมตาอ้าปากได้ และที่สำคัญที่สุดคือได้รับโอกาสจากคนในสังคม และปัจจุบันตนได้เปิดร้านกาแฟชื่อร้านบ้านสวัสดีเป็นของตัวเอง และบางโอกาสก็อาสาไปเป็นวิทยากรถ่ายทอดประสบการณ์และความรู้ให้แก่ผู้ต้องขังที่พ้นโทษด้วย