xs
xsm
sm
md
lg

เจ้าของช้าง “พังแตงโม” ฟ้อง “กรมอุทยาน-ก.ทรัพยากรฯ” เรียกค่าเสียหาย 2.8 ล้าน

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

นายอิทธิพันธ์ ขาวละมัย เลขาธิการ กลุ่มคชสารคู่แผ่นดิน พาเจ้าของช้างพังแตงโมที่ล้มตาย ฟ้องศาลแพ่ง
ควาญช้าง “พังแตงโม” ฟ้องแพ่ง “กรมอุทยาน-กระทรวงทรัพยากรฯ” เรียกเงิน 2.8 ล้าน หลังถูกเจ้าหน้าที่จับกุมและยึดช้างไปโดยมิชอบ อ้างเป็นช้างป่า จนทำให้ “พังแตงโม” เจ็บป่วย และล้มตายในที่สุด

วันนี้ (12 มี.ค.) เมื่อเวลา 14.00 น.ที่ศาลแพ่ง ถนนรัชดาภิเษก นายเนติวินท์ อมรสิน เจ้าของช้างพังแตงโมที่เสียชีวิต พร้อมด้วย ร.ต.ต.สุรศิษฏ์ เหลืองอรัญนภา ทนายความ ได้เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นจำเลยที่ 1-2 ต่อศาลแพ่ง ในความผิดฐานละเมิด พร้อมเรียกค่าเสียหายเป็นเงินจำนวน 2.8 ล้านบาท จากกรณีที่กรมอุทยานฯได้ยึดช้างพังแตงโมไม่ชอบด้วยกฎหมาย และทำให้ช้างพังแตงโมป่วยและล้มตายลง ขณะอยู่ในความดูแลของจำเลยทั้งสอง เมื่อวันที่ 5 ธ.ค. 2556

นายเนติวินท์ กล่าวว่า ตนซื้อช้างพังแตงโมมาเมื่อปี 2553 ในราคา 7.9 แสนบาท ซึ่งขณะนั้นช้างมีอายุประมาณ 2 ปี โดยตนได้นำมาฝึกฝนเพื่อเตรียมนำไปแสดงในศูนย์คชอณาจักร ที่จังหวัดสุรินทร์ เพื่อที่จะใช้เป็นอาชีพในการหาเลี้ยงครอบครัว แต่ยังไม่ทันจะได้ไปแสดงโชว์ก็ถูกเจ้าหน้าที่กรมอุทยานได้เข้าตรวจสอบ และกล่าวหาว่าช้างของตนเป็นช้างป่า ทั้งที่มีตั๋วรูปพรรณช้างตามพระราชบัญญัติสัตว์พาหนะ 2482 ต่อมาเมื่อวันที่ 1 มิ.ย.2555 นายดำรง พิเดช อดีตอธิบดีกรมอุทยานฯ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ได้เดินทางมายึดช้างพังแตงโมไปไว้ที่สถาบันคชบาล อำเภอห้างฉัตร จังหวัดลำปาง ซึ่งการเคลื่อนย้ายช้างไม่ถูกต้องตามวิธีการ และไม่ดูแลรักษาช้างตามหลักสวัสดิภาพของสัตว์ จากนั้นตนได้ต่อสู้เพื่อยืนยันว่าช้างพังแตงโมไม่ใช่ช้างป่า และยืนยันว่ามีตั๋วรูปพรรณถูกต้อง โดยขอความช่วยเหลือทางกฎหมายและคดีต่อสภาทนายความ ต่อมาพนักงานอัยการมีคำสั่งถึงที่สุดไม่ฟ้องคดี และมีคำสั่งให้กรมอุทยานฯคืนช้างพังแตงโมแก่เจ้าของ แต่ตนก็ยังไม่ทันได้ช้างพังแตงโมคืน เพราะระหว่างนั้นยังอยู่ในความดูแลของกรมอุทยานฯที่สถาบันคชบาล ต่อมาเมื่อวันที่ 26 มิ.ย.2556 ช้างพังแตงโมได้ล้มป่วยลงโดยมีแผลที่หลังและบั้นเอวจนไม่สามารถเดินได้ กระทั่งได้ล้มตายลงอย่างผิดธรรมชาติ เมื่อวันที่ 5 ธ.ค. 2556 โดยแพทย์ระบุว่ากระดูกสันหลังทับเส้นประสาท โดยขณะนั้นช้างพังแตงโมงมีอายุ 4 ปี 8 เดือน ซึ่งเรื่องดังกล่าวถือว่าตนไม่ได้รับความเป็นธรรม

นายเนติวินท์ กล่าวอีกว่า หลังจากนั้นตนได้ร้องเรียนไปยังกรมอุทยานฯมาแล้วหลายครั้ง และได้ร้องเรียนที่ทำเนียบรัฐบาล 2 ครั้ง แต่เจ้าหน้าที่กลับบ่ายเบี่ยง โดยอ้างว่าต้องดำเนินการตามขั้นตอนและรอตรวจสอบราคาช้าง ทำให้คดีไม่มีความคืบหน้าจนถึงปัจจุบันกระทั่งเรื่องเงียบหายไป ซึ่งไม่เคยมีการเยียวยาค่าเสียหายแต่อย่างใด ตนจึงได้ประสานไปยังสภาทนายความเพื่อขอความช่วยเหลือด้านคดีความเพื่อเรียกร้องค่าเสียหาย จึงได้มายื่นฟ้องต่อศาลแพ่งเพื่อต้องการเรียกร้องให้ผู้ที่เกี่ยวข้องออกมาแสดงความรับผิดชอบและชดใช้ค่าเสียหายต่อกรณีที่เกิดขึ้น โดยตนได้ปรึกษากับสภาทนายความและประเมินราคาช้างแล้ว จึงได้ยื่นฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายตามราคาช้างเป็นจำนวนเงิน 2.8 ล้านบาท เพื่อต้องการนำเงินไปซื้อช้างเชือกใหม่ ส่วนการฟ้องในคดีอาญานั้นคงจะปรึกษากับทนายความอีกครั้ง

“พังแตงโมถือเป็นส่วนหนึ่งของสมาชิกในครอบครัว เพราะเลี้ยงดูมาตั้งแต่เล็ก ถึงจะได้ช้างตัวใหม่มาก็ไม่เหมือนตัวเดิมที่ตายไป ซึ่งกรมอุทยานฯบ่ายเบี่ยงความรับผิดชอบทุกอย่าง แม้แต่คำขอโทษสักคำก็ไม่เคยมี ตนเชื่อว่าสาเหตุที่พังแตงโมล้มตาย คาดว่าเจ้าหน้าที่อาจดูแลไม่ดี ไม่รู้ว่าให้อดข้าวอดน้ำหรือเปล่า นอกจากนี้ตนทราบจากชาวบ้านว่ายังมีช้างอีกหลายเชือกที่ถูกเจ้าหน้าที่กรมอุทยานฯตรวจยึดไป และมีอาการป่วยจนล้มตายลงอีกหลายเชือก แต่เจ้าของช้างเขาไม่อยากมีเรื่องมีราว จึงไม่ได้มาฟ้องคดีต่อศาลแบบตน ซึ่งคดีนี้ถือว่าเป็นคดีแรกของประเทศ ที่เจ้าของช้างฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายต่อกรมอุทยานฯ” เจ้าของช้างพังแตงโมกล่าว และว่า สำหรับในวันช้างไทยที่ 13 มี.ค.นี้ ตนจะทำบุญเลี้ยงช้างและอุทิศส่วนกุศลให้กับช้างที่ตายไป

นายอิทธิพันธ์ ขาวละมัย เลขาธิการกลุ่มคชสารคู่แผ่นดิน เปิดเผยว่า ตนทำหน้าที่ประสานงานให้กับ นายเนติวินท์ อมรสิน เจ้าของช้างพังแตงโมที่เสียชีวิต ในการขอความเป็นธรรมจากหน่วยงานรัฐ พร้อมทั้งขอความช่วยเหลือในด้านคดีจากสภาทนายความ ที่ผ่านมามีกฎหมายเกี่ยวกับช้างหลายมาตรา ที่สร้างความสับสนระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐ กับผู้เลี้ยงช้างไทย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวบ้านคนธรรมดา ทั้งที่อยู่ จ.สุรินทร์และทั่วประเทศ จึงต้องคอยดูแลช่วยเหลือให้ได้รับความเป็นธรรม

ด้าน ร.ต.ต.สุรศิษฏ์ ทนายความ กล่าวว่า ภายหลังจากที่ยื่นฟ้องศาลได้รับไว้เป็นคดีหมายเลขดำที่ 951/2557 และนัดพร้อมคู่ความเพื่อตรวจพยานหลักฐาน ในวันที่ 19 พ.ค.2557 ซึ่งทางสภาทนายความได้ให้ความช่วยเหลือ โดย นายเดชอุดม ไกรฤทธิ์ นายกสภาทนายความ ได้มอบหมายให้ นายสุรพงษ์ กองจันทึก ประธานคณะอนุกรรมการสิทธิมนุษยชน สืบสวนข้อเท็จจริง จนทราบว่าเจ้าหน้าที่จับกุมและนำช้างไปโดยไม่ถูกต้อง จึงมาฟ้องร้องเรียกค่าเสียหาย ส่วนจะชนะคดีหรือไม่ก็ว่ากันไปตามกระบวนการยุติธรรมและถือเป็นเคสแรกที่ว่าความคดีเกี่ยวกับช้าง
กำลังโหลดความคิดเห็น