xs
xsm
sm
md
lg

ตร.เว้นระยะรับใช้ ศรส.แค่ (สันดาน) เอาตัวรอด

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


สน. พระอาทิตย์

เรียกเสียงฮือฮาไม่น้อย คำสั่ง แม่ทัพอู๋ พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ในฐานะผู้บัญชาการศูนย์รักษาความสงบ (ศรส.) ส่งถึงลูกน้องตำรวจทั่วประเทศ ให้งดการใช้อำนาจตามประกาศและคำสั่ง ศรส.จนมีการตั้งคำถามไปในท้วงทำนองที่ว่า “ตำรวจ”จะแข็งข้อกับ “ศรส.”แล้วหรือ?

เพราะในคำสั่งดังกล่าว พล.ต.อ.อดุลย์ อ้างถึงกรณี นายถาวร เสนเนียม เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ผู้อำนวยการ ศรส. และ ผบ.ตร.เพิกถอนประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และห้ามใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุม ซึ่งศาลแพ่งมีคำพิพากษาไม่เพิกถอน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน แต่มีข้อกำหนดห้าม 9 ข้อ

พล.ต.อ.อดุลย์ จึงบอกว่า เพื่อให้การปฏิบัติตามคำบังคับใช้ของศาลแพ่ง จึงแจ้งให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติหน้าที่หรือรับมอบหมายในเขตท้องที่ตามประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน งดการใช้อำนาจตามประกาศและคำสั่ง ศรส.ที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามประกาศ มาตรา 11 แห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ลงวันที่ 21 ม.ค.57 และข้อกำหนดที่ออกตามความในมาตรา 9 ประกอบมาตรา 11 แห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน พ.ศ.248 ลงวันนที่ 23 ม.ค.57 โดยให้ดำเนินการบังคับใช้กฎหมายกับผู้กระทำผิดไปตามกฎหมายปกติ

เมื่อตรวจประกาศและคำสั่ง ศรส.ที่ตำรวจไม่ต้องปฏิบัติ ตามที่ พล.ต.อ.อดุลย์ สั่งการนั้น ในประกาศตามมาตรา 11 แห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ระบุ การให้อำนาจต่างๆของพนักงานเจ้าหน้าที่รวม 12 ข้อ อาทิ ให้อํานาจจับกุมและควบคุมตัวผู้ที่สงสัยว่าจะเป็ผู้ร่วมกระทําการให้เกิด สถานการณ์ฉุกเฉิน หรือเป็นผู้ใช้ ผู้โฆษณา ผู้สนับสนุนการกระทําเช่นว่านั้น หรือปกปิดข้อมูลเกี่ยวกับการกระทําให้เกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน การให้มีอํานาจออกคําสั่งยึดหรืออายัดอาวุธ สินค้าเครื่องอุปโภคบริโภค เคมีภัณฑ์ หรือวัตถุอื่นใด ในกรณีที่มีเหตุอันควรสงสัยว่าได้ใช้หรือจะใช้สิ่งนั้นเพื่อการกระทําการ หรือสนับสนุนการกระทําให้เกิดเหตุสถานการณ์ฉุกเฉิน การให้อำนาจ ออกคําสั่งตรวจสอบจดหมาย หนังสือ สิ่งพิมพ์ โทรเลข โทรศัพท์ หรือการสื่อสารด้วยวิธีอื่นใด ตลอดจนการสั่งระงับหรือยับยั้งการติดต่อหรือการสื่อสารใด เพื่อป้องกันหรือระงับเหตุการณ์ร้ายแรง การให้อำนาจพนักงานเจ้าหน้าที่สั่งห้ามการกระทำที่เป็นการปิดการจราจรและ เส้นทางคมนาคมในทุกเขตพื้นที่ที่ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน รวมถึงยังมีการกำหนดให้ข้าราชการทหารช่วยเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองหรือตํารวจ เพื่อระงับเหตุการณ์ร้ายแรงหรือควบคุมสถานการณ์ให้เกิดความสงบโดยด่วน

ส่วน ข้อกําหนดออกตามความในมาตรา 9 ประกอบมาตรา 11 แห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 นั้นระบุไว้ว่า ตามที่ได้มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่กรุงเทพมหานครจังหวัดนนทบุรี อําเภอลาดหลุมแก้ว จังหวัดปทุมธานี และอําเภอบางพลีจังหวัดสมุทรปราการ ลงวันที่ 21 ม.ค.2557 แล้วนั้น เพื่อให้สามารถแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินให้ยุติได้โดยเร็วและป้องกันมิให้เกิด เหตุการณ์ร้ายแรงมากขึ้น อาศัยอํานาจตามความในมาตรา 9 และมาตรา 11 วรรคสองแห่ง พ.ร.ก.การบริหารราชการ ในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 อันเป็นกฎหมายที่มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจํากัดสิทธิและเสรีภาพของ บุคคลซึ่งมาตรา 29 ประกอบกับมาตรา 32 มาตรา ประกอบกับมาตรา 32 มาตรา 33 มาตรา 34 มาตรา 36 มาตรา 38 มาตรา 41 มาตรา 43 มาตรา 45 และมาตรา 63 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทําได้โดยอาศัยอํานาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายนายกรัฐมนตรีโดย ความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี จึงออกข้อกําหนด

1.ห้ามไม่ให้มีการชุมนุมหรือมั่วสุมกัน ณ ที่ใดๆ ตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป หรือกระทําการใดอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยทั้งนี้ ภายในเขตพื้นที่ที่หัวหน้าผู้รับผิดชอบประกาศกําหนด เว้นแต่เป็นการชุมนุมตามกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้ง หรือการหาเสียงเลือก ตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหาร ท้องถิ่น

2.ห้ามการเสนอข่าวการจําหน่าย หรือทําให้แพร่หลายซึ่งหนังสือพิมพ์ สิ่งพิมพ์ หรือสื่ออื่นใดที่มีข้อความอันอาจทําให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว หรือเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสาร ทําให้เกิดความเข้าใจผิดในสถานการณ์ฉุกเฉินจนกระทบต่อความมั่นคงของรัฐหรือ ความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชนในทั่วราชอาณาจักร

3.ห้ามการใช้เส้นทางคมนาคมหรือการใช้ยานพาหนะ หรือกําหนดเงื่อนไขในการใช้เส้นทางคมนาคม หรือการใช้ยานพาหนะทั้งนี้ ตามที่หัวหน้าผู้รับผิดชอบประกาศกําหนด 4.ห้ามใช้อาคาร หรือเข้าไปหรืออยู่ในสถานที่ใดๆ หรือห้ามเข้าไปในพื้นที่ใดๆ ทั้งนี้ ตามที่หัวหน้าผู้รับผิดชอบประกาศกําหนด

5.ให้อพยพประชาชนออกจากพื้นที่ที่กําหนด เพื่อความปลอดภัยของประชาชนหรือห้ามผู้ใดเข้าไปในพื้นที่ ทั้งนี้ ตามที่หัวหน้าผู้รับผิดชอบประกาศกําหนด

6.ในการดําเนินการตามข้อ 1-5 หัวหน้าผู้รับผิดชอบจะกําหนดเงื่อนเวลาในการปฏิบัติตามข้อกําหนดหรือ เงื่อนไขในการปฏิบัติงานของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามที่เห็นสมควร เพื่อไม่ให้มีการปฏิบัติที่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่ประชาชนเกินสมควรแก่ เหตุก็ได้

ถ้าพิจารณารายละเอียดประกาศและคำสั่งทั้งหมดแล้ว ประเด็น“แข็งขืน”ต่อ ศรส.คงไม่น่าจะเป็นเช่นนั้น เพราะมาตราที่งดการใช้ล้วนสอดคล้องกับ 9 ข้อห้ามตามคำสั่งศาลแพ่ง แต่น่าจะเป็นการ“เอาตัวรอด”ของตำรวจในสถานการณ์การเมืองพลิกผันมากกว่า

โดยเฉพาะจากเหตุการณ์การเข้าขอคืนพื้นที่แยกผ่านฟ้าลีลาศช่วงอาทิตย์ที่ผ่านมา ซึ่งตำรวจเป็นขุมกำลังที่ได้รับมอบหมายจาก ศรส.ให้เข้าปฏิบัติการ และเกิดความรุนแรง มีการใช้อาวุธสงคราม ใช้ระเบิด จนมีผู้เสียชีวิต 4 ราย เป็นตำรวจ 1 นาย ผู้ชุมนุม 3 ราย และมีผู้ได้รับบาดเจ็บ 60-70 คน

“ตำรวจ” ตกเป็นจำเลยในข้อหาใช้อาวุธและใช้กระสุนจริงยิงผู้ชุมนุม เพราะมีหลักฐานเป็นภาพถ่ายและคลิปวิดีโอที่สามารถจับภาพตำรวจหลายๆคนที่เข้าปฏิบัติการครั้งนี้ ไม่ได้ใช้เพียงกระบอง กระสุนยาง หรือแก๊สน้ำตาในการเข้าขอคืนพื้นที่ตามหลักสากลเท่านั้น แต่มีการใช้กระสุนจริงในการยิงเข้าใส่ผู้ชุมนุม

มิหนำซ้ำฝ่ายรัฐบาล หรือ ศรส.ต่างก็ออกมาลอยตัวข้อครหานี้ ด้วยการยืนยันเสียงหนักแน่นว่าไม่มีคำสั่งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจใช้กระสุนจริงหรือระเบิดกับผู้ชุมนุม แรงกดดันจึงย้อนกลับมาที่ตำรวจที่ตกเป็นจำเลยสังคม จน พล.ต.ต.ปิยะ อุทาโย โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ยอมรับว่าในเหตุการณ์ที่สะพานผ่านฟ้า ได้มีการส่งกำลังตำรวจชุดระวังป้องกัน ซึ่งมีอาวุธไปช่วยเหลือตำรวจควบคุมฝูงชน หลังพบมีการใช้อาวุธหนักโจมตีตำรวจ

“ขนาดส่งกำลังไปแล้วเหตุการณ์ยังเป็นเช่นที่เห็น ฉะนั้นการตรวจหลักฐานที่เกิดเหตุ วิถีกระสุนจะสามารถบอกได้ว่าเหตุการณ์ที่สะพานผ่านฟ้า ได้มีการใช้อาวุธอะไร ใครยิงจากจุดใดบ้าง”

แม้จะยอมรับการใช้กำลังพิเศษที่มีอาวุธติดตัวออกไป แต่ก็ยังไม่ยอมรับการใช้กระสุนจริงหรือไม่ในเหตุการณ์ครั้งนี้ แต่จับท่าทีก็พอจะดูออกว่าตำรวจโดนโดดเดี่ยวกดดันอย่างหนักในการใช้ความรุนแรง ถึงขนาดต้องออกมายอมรับ แม้จะรับครึ่งเดียวก็ตาม

ปฏิกิริยา“ลดโทน”ความทุ่มเทรับใช้ ศรส.ชนิดไม่ลืมหูลืมตา มาเป็นการแอบอิงข้อกฎหมายเป็นหลัก ตามที่พล.ต.อ.อดุลย์ สั่งลูกน้องให้บังคับใช้กฎหมายตามปกติแทน ก็ไม่ใช่การกลับใจ หรือดวงตาเห็นธรรมใดๆ แต่เป็นแค่การ“เอาตัวรอด”เท่านั้น.

กำลังโหลดความคิดเห็น