สน.พระอาทิตย์
ปฏิบัติการพิเศษของศูนย์รักษาความสงบ (ศรส.) โดย ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ที่ใช้ฤกษ์วันมาฆบูชาและวันแห่งความรัก วาเลนไทน์เดย์ ที่ผ่านมา เข้าบุกขอคืนพื้นที่การชุมนุมบริเวณแยกมิสกวัน ใกล้ประตู 5 ทำเนียบรัฐบาล รื้อเต็นท์ รื้อยางรถยนต์ สิ่งกีดขวางต่างๆ ของผู้ชุมนุมรวมทั้งยึดระเบิด ยึดประทัดยักษ์ ยึดหัวนอต ยึดหนังสติ๊ก และใบกระท่อม
แม้การเข้าขอคืนพื้นที่ครั้งนี้จะมีเสียงเหน็บแนมจากสังคมว่าเป็นเพียงลิเกฉากหนึ่งที่ถูกจัดขึ้นมาเพียงเพื่อเป็นการแก้ผ้าเอาหน้ารอด ลดแรงกดดันให้ เหลิม จากคนในรัฐบาล คนในพรรคเพื่อไทยรวมทั้งคางคกตู่-จตุพร พรหมพันธุ์ แกนนำคนเสื้อแดง ซึ่งออกมาปรามาสฝีมืออดีตสารวัตรเก่าอย่างหนักหน่วง เพราะทุกขั้นทุกตอนของปฏิบัติการล้วนมีช่องเว้าช่องโหว่ให้น่าสงสัย
เริ่มตั้งแต่ก่อนเปิดปฏิบัติการร.ท.หญิง สุณิสา เลิศภควัต รองโฆษกรัฐบาลก็ออกมากระซิบดังๆ ส่งถึงผู้สื่อข่าวผ่านโลกโซเชียล ในทำนองให้รอทำข่าวใหญ่
และนัดรวมตัวกันตั้งแต่เช้ามืด ท่ามกลางการระดมตำรวจระดมรถตรวจจำนวนมากมาใช้ในปฏิบัติการ ซึ่งเดากันไม่ยากว่า น่าจะเป็นปฏิบัติการสลายม็อบ ทั้งๆ ที่ตามปกติ
การปฏิบัติการสลายม็อบ หรือแม้แต่การเข้าทลายบ่อนการพนัน เวลาตำรวจนัดหมายสื่อก็จะแค่นัดเวลาไม่ได้ให้รายละเอียดถึงขนาดนี้ เพราะโอกาสข่าวรั่วมีสูงมาก
จากนั้นเมื่อเริ่มปฏิบัติการ เป้าหมายที่กำลังตำรวจภายใต้การสั่งการของ ศรส.เข้าขอคืนพื้นที่ไม่ใช่จุดใหญ่ที่ผู้ชุมนุมกลุ่มคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข(กปปส.) ชัตดาวน์เมืองกรุงอยู่ หรือพื้นที่กระทรวงมหาดไทยที่รัฐบาลโดนตบหน้าถูกยึดจุดยุทธศาสตร์งานปกครองกลับเป็นผู้ชุมนุมกลุ่มอิสระแยกมิสกวัน ทั้งๆ ที่ใกล้แยกมิกสักวันก็ยังมีกลุ่ม คปท.ปักหลักอยู่เชิงสะพานชมัยมรุเชฐ
มิหนำซ้ำ ช่วงจังหวะเวลาที่กำลังตำรวจจะเข้าพื้นที่กลุ่ม คปท.ก็ยกขบวนออกมาพื้นที่สะพานชมัยมรุเชฐ ออกรณรงค์ไปที่แยกปทุมวันเหมือนเปิดทางให้ตำรวจเข้าเคลียร์พื้นที่กลุ่มอิสระรวมทั้งการเข้ายึดคืนพื้นที่ก็ไม่ได้มีการต่อต้านจนตำรวจต้องใช้กำลังอย่างที่หลายคนกังวล
อย่างไรก็ดีถึงแม้จะมีข้อเคลือบแคลงสงสัยมากมาย แต่ปฏิบัติการพิเศษของ ศรส.ก็เสร็จสิ้นลุล่วงไปด้วยดี และยังทำให้เหลิมได้หน้าถึงขนาดยกขบวนของกลางและนายตำรวจน้อยใหญ่ไปยืนเรียงหน้ากระดานตั้งโต๊ะแถลงข่าวอยู่หน้าตึกไทยคู่ฟ้าทำเนียบรัฐบาล เหมือนส่งสัญญาณให้เห็นว่าการเข้ามารับหน้าเสื่อคุมงานจัดการม็อบของ ร.ต.อ.เฉลิม ประสบความสำเร็จสามารถเข้ามายืนผงาดใช้สถานที่ทำเนียบรัฐบาล ฐานทัพใหญ่ในการบริหารบ้านเมืองแถลงข่าวได้
และการยืดอกมีที่ยืนอีกครั้งของคนชื่อ เฉลิม อยู่บำรุง ก็เป็นแรงส่งให้น้องเลิฟที่ชื่อ พล.ต.อ.วรพงษ์ ชิวปรีชา รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รอง ผบ.ตร.) ราศีบนเส้นทางสีกากีจับขึ้นมาอีกครั้ง โดยเฉพาะการก้าวขึ้นเป็น ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) หลังจากดูเหมือนช่วงที่พี่เลิฟ ร.ต.อ.เฉลิม ดาวน์ลง ถูกลดชั้นจากรองนายกรัฐมนตรี คุมงานสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ไปเป็น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน พล.ต.อ.วรพงษ์ ก็เงียบเช่นกัน
ต้องยอมรับว่าผลงานในการจัดการม็อบ ส่วนสำคัญมาจาก พล.ต.อ.วรพงษ์ ในฐานะผู้ควบคุมการใช้กำลัง ที่ทำให้ ร.ต.อ.เฉลิม ได้หน้าครั้งนี้ รวมทั้งยังเป็นใบเบิกทางให้ ร.ต.อ.เฉลิม สามารถนำไปโชว์ให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ผู้มีอำนาจตัวจริง เห็นถึงความสามารถในการช่วยงานและค้ำความแข็งแกร่งให้กับรัฐบาลพรรคเพื่อไทยต่อจาก พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผบ.ตร.ที่จะเกษียณราชการปลายปี 2557 นี้
ซึ่งไม่ใช่เพียงแค่การช่วยงาน ร.ต.อ.เฉลิม ในครั้งนี้เท่านั้นที่ผ่านมา พล.ต.อ.วรพงษ์ ก็เป็นไม้เป็นมือให้กับ ร.ต.อ.เฉลิม ตลอดถึงขนาดช่วงหนึ่งที่ พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ รอง ผบ.ตร.ลาออกจากเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันปราบปรามยาเสพติด (เลขาฯ ป.ป.ส.) ไปลงสมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.มีกระแสข่าวจะโยก พล.ต.อ.วรพงษ์ ไปเป็น เลขาฯ ป.ป.ส. “สารวัตเหลิม” ต้องรีบออกมาขวาง
“ผมใช้งาน พล.ต.อ.วรพงษ์ หนักมากเป็นหัวหน้าตรวจสอบการทุจริตทั้ง 3 โครงการ คือ งบน้ำท่วมงบท้องถิ่น และงบเยียวยา และผมตั้งใจว่าการลักลอบค้าน้ำมันเถื่อนในระยะนี้มันระบาดมาก และ พล.ต.อ.วรพงษ์ เคยอยู่ใต้มาก่อน ถ้าให้ไปช่วยแก้ไขปัญหาน้ำมันเถื่อนจะทำงานได้ดีกว่าการไปเป็น เลขาฯ ป.ป.ส.” การขวางไม่ให้ พล.ต.อ.วรพงษ์ ไปเป็น เลขาฯ ป.ป.ส.ส่วนหนึ่งก็เกี่ยวข้องกับเป้าหมายเก้าอี้ “ผบ.ตร.” ซึ่ง ร.ต.อ.เฉลิม หมายมั่นปั้นมือที่จะส่งให้น้องเลิฟขึ้นมีอำนาจบนตำแหน่งใหญ่สีกากีหลังจากที่เคยผิดหวังไม่สามารถดัน พล.ต.อ.ภาณุพงศ์ สิงหรา ณ อยุธยา ที่ปรึกษา รมว.แรงงาน สมัยเป็น รอง ผบ.ตร.ขึ้น ผบ.ตร.ได้อย่างที่ตัวเองต้องการแรงผลักดัน พล.ต.อ.วรพงษ์ ครั้งนี้ดูจะมีน้ำหนักเพิ่มขึ้น เพราะผลงานต่างๆ เริ่มเห็นชัดเจนเข้าตา พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นลำดับแม้ขนาด พล.ต.อ.อดุลย์ จะพยายามปั้นพล.ต.อ.เอก อังสนานนท์ รอง ผบ.ตร.ที่เคยอยู่สำนักงาน พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รองนายกฯด้วยกันสมัย พล.ต.อ.ประชา เป็น ผบ.ตร.ทั้งการให้คุมหน้างานป้องกันปราบปรามอาชญากรรม ซึ่งเป็นงานโชว์เข้ามารับผิดชอบคดีความรุนแรงที่ผ่านมา ดูเหมือนพล.ต.อ.เอก จะยังทำงานไม่เข้าตาจนมีบางกระแสว่า พล.ต.อ.อดุลย์ เริ่มถอดใจ และหันมามอง พล.ต.อ.วรพงษ์ ในการเป็นทายาทมากขึ้น
ถ้าหากมีการตั้ง ผบ.ตร.วันนี้พรุ่งนี้ โอกาส “วรพงษ์”มีมากกว่าคู่แข่งคนอื่น เพราะอย่างว่า เหลิมหนุน อดุลย์เชียร์ ทักษิณเอาด้วยเคาะผ่าน วงจรชีวิตตำรวจไทยวันนี้ก็แค่นี้อยู่ในมือคนไม่กี่คน
อย่างไรก็ตาม เก้าอี้ ผบ.ตร.ไม่ใช่แค่มีแรงสนับสนุนอย่างเดียวแล้วใครก็สามารถขึ้นเป็นผู้นำสีกากีได้ต้องมีวาสนาด้วย ดังนั้นใครจะแรง ใครจะเด่นช่วงนี้ อาจวัดไม่ได้มากนัก ต้องรอความชัดเจนในช่วงเดือนสิงหา-กันยา ซึ่งเป็นเดือนไฮไลต์สำคัญ เพราะต้องไม่ลืมถึง พล.ต.อ.วรพงษ์ จะเกษียณอายุราชการปี 2558 หรือเพียงปีเดียวหากได้ขึ้นเป็น ผบ.ตร.น้อยกว่าคนอื่นอย่าง พล.ต.อ.เอก พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง รอง ผบ.ตร.พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ รอง ผบ.ตร.ที่เกษียณปี 2559 หรืออีก 2 ปี
แต่ในแวดวงสีกากีต่างก็รู้อยู่ว่าไม่มีอะไรที่ตำรวจไทยทำไม่ได้ ไม่เว้นแม้แต่ขี่คอรุ่นพี่เหยียบหัวเพื่อนขึ้นเป็นใหญ่.