อุทธรณ์ยืนประหารชีวิต “ส.ท.ต่าย” ยิงเอ็ม 16 ถล่ม “กอบกุล นพอมรบดี” อดีต ส.ส.ราชบุรี พรรคไทยรักไทย เสียชีวิตกลางสี่แยก จ.ราชบุรี ส่วนลูกน้องทีมฆ่า 2 คนสารภาพ ลดโทษเหลือตลอดชีวิต
วันนี้ (26 ธ.ค.) เมื่อเวลา 10.00 น. ที่ห้องพิจารณา 913 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ศาลอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ คดีหมายเลขดำ อ.2995/2549 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 6 และนายมานิต นพอมรบดี อดีต รมช.สาธารณสุข สามีของนางกอบกุล นพอมรบดี ส.ส.พรรคไทยรักไทย จ.ราชบุรี ผู้ตาย เป็นโจทก์ฟ้อง นายอนันตศักดิ์ หรือต่าย ศรีสวัสดิ์ สมาชิกสภาเทศบาลเมืองราชบุรี หรือ ส.ท.ต่าย อายุ 46 ปี นายวิญญู หรือเลิฟ รัตนวรรณี อายุ 34 ปี พ่อค้าขายผัก และนายอานนท์ หรือเอ็ม พันธ์รัตน์ คนดูแลโต๊ะสนุกเกอร์ อายุ 44 ปี เป็นจำเลยที่ 1-3 มีความผิดฐานร่วมกันฆ่า และพยายามฆ่าผู้อื่นโดยเจตนาแล้วไตร่ตรองไว้ก่อน มีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนที่นายทะเบียนไม่อาจออกใบอนุญาตให้ได้ไว้ในความครอบครอง โดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย และพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมืองหมู่บ้านและทางสาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาต
โจทก์ฟ้องสรุปว่า เมื่อวันที่ 27 พ.ค. 2549 จำเลยทั้ง 3 คนร่วมกับ นายสงัด หรือเปี๊ยก พุ่มเพ็ง ผู้ต้องหาอีกคนที่เสียชีวิตไปแล้ว ร่วมกันมีอาวุธปืนเล็กกลแบบเอ็ม 16 จำนวน 2 กระบอก และกระสุนปืน .223 โดยจำเลยทั้งหมดร่วมกันพกพาอาวุธปืนเข้าไปใน ต.หลุมดิน และตลาดศรีเมือง ต.หน้าเมือง กับสี่แยกเขางู (สี่แยกนิสสัน) หมู่ที่ 2 ต.เจดีย์หัก อ.เมืองราชบุรี อันเป็นเมืองหมู่บ้านและที่สาธารณะโดยไม่มีเหตุอันควร แล้วจำเลยทั้ง 3 ได้ใช้อาวุธปืนดังกล่าวยิงนางกอบกุล นพอมรบดี อดีต ส.ส.ราชบุรี จนถึงแก่ความตาย โดยถูกยิงที่ใบหน้า ศีรษะ หัวไหล่ซ้าย และขาขวา นอกจากนี้ยังมีผู้ได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์ดังกล่าวอีกจำนวน 2 คน คือ นายชาตรี ศุภรานันท์ คนขับรถ ผู้เสียหายที่ 1 ถูกยิงที่บ่าขวา ต้นแขนขวา และสะบักขวา และ จ.ส.ต.สายชล แก้วสายทอง ตำรวจติดตาม ผู้เสียหายที่ 2 ถูกเศษกระจกรถยนต์บาดจนได้รับอันตรายแก่กาย เหตุเกิดขณะรถจอดรอสัญญาณไฟอยู่ที่บริเวณสี่แยกเขางู โดยจำเลยทั้งสามได้ไตร่ตรองไว้ก่อน ชั้นจับกุมและสอบสวนจำเลยที่ 1 ให้การปฏิเสธ ส่วนจำเลยที่ 2 ให้การสารภาพฐานร่วมกันฆ่า และพยายามฆ่าผู้อื่นโดยเจตนาและไตร่ตรองไว้ก่อนส่วนข้อหาอื่นให้การปฏิเสธ และจำเลยที่ 3 ให้การรับสารภาพตลอดข้อกล่าวหา
คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาเมื่อวันที่ 31 มี.ค.2554 ให้ประหารชีวิตจำเลยทั้งสาม ฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ตามม.289 (4) ซึ่งเป็นโทษบทหนักสุด และจำคุกอีกคนละ 3 ปี ตามพ.ร.บ.อาวุธปืนฯ แต่จำเลยที่ 2 - 3 ให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมและสอบสวนให้ 1 ใน 3 คงลงโทษจำคุกตลอดชีวิตจำเลยที่ 2 -3 และให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชดใช้เงิน 3 แสนบาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปีตั้งแต่วันที่ 24 ส.ค.49 ให้กับนายชาตรี ศุภรานันท์ คนขับรถ นางกอบกุล ผู้เสียหายที่ 1 ต่อมาโจทก์และจำเลยทั้งสามยื่นอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ตรวจสำนวนประชุมปรึกษาหารือกันแล้วเห็นว่า แม้โจทก์จะไม่มีประจักษ์พยาน แต่จากพฤติการณ์แวดล้อมและพยานซึ่งเป็นคนกลาง พนักงานสอบสวน ซึ่งไม่มีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยมาก่อน โดยข้อเท็จจริงรับฟังได้ปราศจากข้อสงสัยว่าจำเลยที่ 1 และ 3 ร่วมกันมีปืนกลเล็กเอ็ม 16 ขนาด .223 และกระสุนปืนที่ใช้ยิงได้เป็นอาวุธพกพาติดตัวไปที่ต.หลุมดิน และตลาดศรีเมือง สี่แยกเขางู ม.2 ต.เจดีย์หัก อ.เมืองราชบุรี โดยจำเลยที่ 2 ขับรถกระบะซึ่งมีจำเลยที่ 1 และ 3 นั่งอยู่ด้านท้ายแล้วร่วมกันใช้อาวุธปืนยิงผู้ตาย ส่วนนายชาตรี ผู้เสียหายที่ 1 ได้รับบาดเจ็บ รวมทั้งมีนายมานิต โจทก์ร่วมเบิกความยืนยันถึงมูลเหตุว่าผู้ตายมีปัญหาขัดแย้งเรื่องโครงการก่อสร้างตลาด
ส่วนที่จำเลยที่ 1 ต่อสู้อ้างว่าไม่ได้รู้จักหรือสนิทสนมและไม่เคยโทรศัพท์ติดต่อกับจำเลยที่ 2-3 รวมทั้งโทรศัพท์มือถือของจำเลยที่ 1 ลูกน้องสามารถที่จะนำไปโทรติดต่อได้นั้น จากพยานหลักฐานที่เป็นบันทึกข้อมูลการใช้โทรศัพท์พบว่าช่วงก่อนเกิดเหตุตั้งแต่วันที่ 1-19 พ.ค.2549 หมายเลขโทรศัพท์มือถือของจำเลยที่ 1 ได้ติดต่อกับจำเลยที่ 2 จำนวน 5 ครั้ง และจำเลยที่ 3 จำนวน 48 ครั้ง และหมายเลขโทรศัพท์ของจำเลยที่ 3 ได้ติดต่อจำเลยที่ 1 ด้วยถึง 6 ครั้ง ขณะที่ช่วงเวลาดังกล่าวก็ไม่ปรากฏว่าลูกน้องของจำเลยที่ 1 หรือคนอื่นที่รู้จักสนิทสนมหรือมีเหตุที่ต้องโทรศัพท์ติดต่อกับจำเลยที่ 2-3 หลายครั้งตามที่ปรากฏในบันทึกการใช้โทรศัพท์ คงมีเพียงแต่จำเลยที่ 1 เท่านั้น สำหรับจำเลยที่ 1 อ้างว่าไม่เคยไปสนามยิงปืนและไม่เคยนำอาวุธปืนไปทิ้งที่ลำห้วยในโครงการอุตสาหกรรมร่วมกับจำเลยที่ 3 นั้น แต่จากผลการตรวจพิสูจน์ปลอกกระสุนปืนขนาด 11 มม. และปลอกกระสุนปืนขนาด .223 ที่พบในลำห้วยโครงการอุตสาหกรรมยิงมาจากอาวุธปืนพกกึ่งอัตโนมัติขนาด 11 มม.ที่ยึดได้จากรถบีเอ็มดับเบิ้ลยูของจำเลยที่ 1 และยิงมาจากอาวุธปืนเล็กกลเอ็ม 16 ของจำเลยที่ 1 และ 3 ที่นำไปทิ้ง
ส่วนที่จำเลยที่ 2-3 ต่อสู้ว่าถูกหลอกว่าจะกันไว้เป็นพยานและถูกทำร้ายร่างกายด้วยการช็อตไฟฟ้าที่อัณฑะและนำถุงดำที่มีหูรูดครอบศรีษะให้รับสารภาพในชั้นจับกุมนั้น ศาลเห็นว่าระหว่างที่จำเลยทั้งสองได้นำชี้ที่เกิดเหตุก็มีนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่ ประชาชน และสื่อมวลชนจำนวนมากอยู่ด้วย หากมีการทำร้ายร่างกายก็น่าที่จะร้องเรียนและเรื่องนี้ที่มีการกล่าวหาจำเลยก็เป็นคดีอุฉกรรจ์ที่มีโทษสูงถึงประหารชีวิต จึงเชื่อว่าหากจำเลยไม่ได้ร่วมกระทำก็จะไม่ให้การรับสารภาพ ซึ่งคดีนี้เป็นคดีที่อยู่ในความสนใจของประชาชน เจ้าหน้าที่ตำรวจย่อมจะต้องใช้ความระมัดระวังในการทำสำนวน ไม่น่าเชื่อว่าจะไปขู่หรือกลั่นแกล้งหลอกลวง อีกทั้งคำรับสารภาพของจำเลยก็ได้กระทำต่อหน้านายตำรวจชั้นผู้ใหญ่ ไม่น่าเชื่อว่าจะมีพนักงานสอบสวนคนใดจัดทำคำรับสารภาพของจำเลยขึ้นมาเอง โดยเนื้อหานั้นมีเรื่องราวรายละเอียดแต่ละส่วนค่อนข้างมาก จึงยากที่เจ้าหน้าที่ตำรวจจะแต่งเติมขึ้นเอง
พยานหลักฐานที่จำเลยทั้งสามนำสืบต่อสู้หักล้างยังไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานโจทก์ได้ อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสามฟังไม่ขึ้น ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยทั้งสามมานั้นชอบแล้ว ศาลอุทธรณ์เห็นพ้องด้วย พิพากษายืน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังจากที่ศาลมีคำพิพากษาจำเลยทั้งสามมีสีหน้าเรียบเฉย โดยระหว่างการพิจารณาคดีจำเลยทั้งสามไม่ได้รับอนุญาตให้ประกันตัว ขณะที่วันนี้นายมานิต นพอมรบดี อดีตรมช.สาธารณสุข สามีนางกอบกุล พร้อมด้วยลูกสาวเดินทางมาฟังคำพิพากษาด้วยตัวเอง