อุทธรณ์แก้ “ผู้พันตึ๋ง” กับพวก 4 คน รีดทรัพย์-เรียกรับสินบนพ่อค้าตลาดไนท์บาซาร์ จ.เชียงใหม่ เหลือ 2 ข้อหา แต่โทษจำคุก 6 ปี ส่วนอดีตหัวหน้าเทศกิจเทศบาลนครเชียงใหม่เจอคุก 9 ปี
ที่ห้องพิจารณา 801 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก วันนี้ (17 ธ.ค.) ศาลอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ คดีหมายเลขดำ ด.3203/2540 ที่อัยการกองคดีอาญา 5 เป็นโจทก์ฟ้อง นายศรายุธ ภู่พลับ อดีตหัวหน้าเทศกิจเทศบาลนครเชียงใหม่, นายธานี ฟูทอง, นายพรชัย สุคัณธสิริกุล, นายธีรยุทธ สุวรรณพาณิชย์ ทั้งหมดเป็นอดีตเจ้าหน้าที่เทศกิจ, พ.ต.เฉลิมชัย มัจฉากล่ำ หรือผู้พันตึ๋ง อดีตที่ปรึกษานายกเทศบาลนครเชียงใหม่ และจำเลยคดีร่วมกันฆ่านายปรีณะ ลีพัฒนะพันธ์ อดีตผู้ว่าฯ ยโสธร, พล.ต.อินทรัตน์ ยอดบางเตย หรือ เสธ.ยอด อดีตที่ปรึกษานายกเทศบาลนครเชียงใหม่, นายนิสสันต์ ชาติชำนิ (เสียชีวิต) และ จ.ส.อ.สุทิน ศรีเมืองหลวง
เป็นจำเลยที่ 1-8 ในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่โดยมิชอบ ข่มขืนใจหรือจูงใจเพื่อให้บุคคลใดมอบให้ หรือหามาซึ่งทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดแก่ตนเองหรือผู้อื่น เป็นสมาชิกเทศบาลเรียก รับ หรือยอมรับทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเอง หรือผู้อื่นโดยมิชอบ เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ โดยทุจริต และร่วมกันกรรโชกทรัพย์ผู้อื่น ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 148, 149, 157 และ 337 ประกอบ มาตรา 44, 45, 83 และ 86 กรณีระหว่างวันที่ 20 พ.ย. 38 -31 พ.ค. 39 พวกจำเลยร่วมกันกรรโชกทรัพย์ผู้ค้า 128 รายในตลาดวโรรส และตลาดไนท์บาซาร์ จ.เชียงใหม่
โดยศาลชั้นต้นพิพากษาเมื่อวันที่ 26 เม.ย. 2554 เห็นว่า โจทก์มี พ.ต.อ.สมพงษ์ คงเพชรศักดิ์ เบิกความเป็นพยานว่า ที่มาของคดีนี้เกิดจากมีฆ่านายชัยกร ไม้หอม บุตรบุญธรรมของนายเกษม คำวงศ์ษา พ่อค้าน้ำดื่มในตลาดวโรรส จ.เชียงใหม่ เมื่อนายเกษมไม่ยอมจ่ายค่าคุ้มครองทั้งรายวัน รายเดือน นอกจากนี้ยังถูกบังคับให้ซื้อรถเข็นกาแล เมื่อไม่ทำตามจึงถูกกดดันไม่ให้ขายของในตลาด โดยจำเลยกับพวกที่เป็นเจ้าหน้าที่เทศกิจแต่งกายคล้ายทหาร พกวิทยุสื่อสาร จะคอยเดินตรวจตลาด พูดจาข่มขู่ผู้ค้าในตลาด และยังมีผู้ค้าที่เป็นเสียหายเบิกความเป็นพยานในทำนองเดียวกันว่า ถูกจำเลยที่ 1 เรียกเก็บเงินรายวันๆ ละ 200-300 บาท เก็บค่าแผงรายเดือนๆ ละ 1,500 บาท โดยจำเลยที่ 2-5 บังคับให้ผู้ค้าซื้อรถเข็นทรงกาแล จากจำเลยที่ 4 ราคาคันละ 2,700 บาท และต้องจ่ายค่าฝากรถเข็นอีกเดือนละ 500 บาท และจากการตรวจค้นบ้านพักของจำเลยที่ 1 และ 4 พบหลักฐานเป็นภาพรถเข็นทรงกาแล ระบุราคา 2,700 บาท รวมทั้งเอกสารแบ่งหน้าที่รับผิดชอบที่จำเลยจะต้องร่วมกับเจ้าหน้าที่เทศกิจ เข้าไปดูแลทั้งที่ตลาดไนท์บาซาร์ ตลาดวโรรส และโรงฆ่าสัตว์ เป็นต้น มีแผนผังเรียกเก็บเงินจากผู้ค้าที่ตลาดไนท์บาซาร์ จำนวน 700 แผง แผงละ 20,000 บาท มูลค่า 14 ล้านบาท
ซึ่งการกระทำจำเลยที่ 1-5 เป็นความผิดตาม ม.148, 149 และ 337 วรรคหนึ่ง อันเป็นความผิดกรรมเดียวแต่ผิดกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษบทหนักสุดตาม ม.148 ฐานใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่โดยมิชอบ ข่มขืนใจให้ผู้อื่นมอบทรัพย์สินฯ จำคุก 9 ปี นายศรายุธ อดีตหัวหน้าเทศกิจเทศบาลนครเชียงใหม่ จำเลยที่ 1 ฐานเป็นตัวการ ส่วนจำเลยที่ 2-5 เป็นผู้สนับสนุนให้จำคุกคนละ 6 ปี และให้จำเลยที่ 1-4 ร่วมกันชดใช้เงินคืนแก่ผู้เสียหายด้วย
สำหรับจำเลยที่ 6 และ 8 โจทก์มีเพียงพยานเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจให้การไว้ในชั้นสอบสวน แต่ไม่ได้นำตัวมาเบิกความในชั้นศาล ดังนั้นเป็นเพียงพยานบอกเล่า จึงยังมีข้อสงสัยว่าจำเลยที่ 6 และ 8 ร่วมกระทำผิดด้วยหรือไม่ ให้ยกประโยชน์แห่งความสงสัย ยกฟ้องจำเลยที่ 6 และ 8 ขณะที่นายนิสสันต์ ชาติชำนิ จำเลยที่ 7 ได้เสียชีวิตระหว่างการพิจารณา ศาลจึงให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบ
ต่อมาจำเลยที่ 1-5 ยื่นอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ตรวจสำนวนประชุมปรึกษาหารือกันแล้ว เห็นว่า พฤติการณ์ของจำเลยที่ 1-5 เป็นการกระทำฐานเป็นเจ้าพนักงาน สมาชิกสภานิติบัญญัติ สมาชิกสภาจังหวัด หรือสมาชิกสภาเทศบาล เรียก รับ ประโยชน์สำหรับตนเองโดยมิชอบ ม.149 และข่มขืนใจผู้อื่นให้ยอมให้ทรัพย์สินกับตนเองฯ ตาม ม.337 วรรคหนึ่ง อันเป็นความผิดกรรมเดียวแต่ผิดกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษบทหนักสุดตาม ม.149 ฐานเรียกรับสินบนฯ คงจำคุกนายศรายุธ อดีตหัวหน้าเทศกิจเทศบาลนครเชียงใหม่ จำเลยที่ 1 ฐานเป็นตัวการเป็นเวลา 9 ปี ส่วนจำเลยที่ 2-5 เป็นผู้สนับสนุนให้จำคุกคนละ 6 ปี และให้จำเลยที่ 1-4 ร่วมกันชดใช้เงินคืนแก่ผู้เสียหายด้วย