xs
xsm
sm
md
lg

อธิบดีศาลอาญาแจง ตร.ขอหมายจับม็อบ เป็นอำนาจของศาลแขวงดุสิต

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาชี้แจง ตำรวจขอหมายจับผู้ชุมนุมทำร้าย ด.ต.บาดเจ็บ มีอัตราโทษไม่เกิน 3 ปี เป็นอำนาจของศาลแขวงดุสิต ไม่เกี่ยวศาลอาญาตามที่มีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ แนะตำรวจให้ขอหมายจับโดยมีรายละเอียดชัดเจน ไม่ใช่เอากระดาษแผ่นเดียวแล้วไปขอหมายจับ

ที่ห้องประชุมศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก วันนี้ (20 พ.ย.) นายธงชัย เสนามนตรี อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา แถลงข่าวชี้แจงที่มีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในกลุ่มเจ้าหน้าที่ตำรวจ กรณีศาลไม่ออกหมายจับผู้ชุมนุมที่ทำร้ายร่างกาย ด.ต.จำเนียร หงษ์ไทย ผบ.หมู่ กก.สส.บก.น.6 ได้รับบาดเจ็บเหตุเกิดที่บริเวณสะพานมัฆวานรังสรรค์ เมื่อวันที่ 7 พ.ย.ที่ผ่านมาว่า ขอชี้แจงข้อเท็จจริง การดำเนินการขอหมายจับคดีทำร้ายร่างกายผู้อื่นให้บาดเจ็บจนเป็นอันตรายแก่ร่างกายหรือจิตใจ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295 หรือ 296 นั้นมีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี พนักงานสอบสวนจะต้องไปยื่นขอหมายจับกับศาลแขวงดุสิต ซึ่งเป็นศาลในท้องที่ที่เกิดเหตุ ศาลอาญาไม่มีอำนาจพิจารณาคำร้อง เพราะศาลอาญาจะพิจารณาคดีที่มีโทษหนักขึ้น คือ มีอัตราโทษสูงกว่า 3 ปีขึ้นไป หรือทำร้ายร่างกายจนเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิต

นอกจากนั้น ในข้อเท็จจริงพนักงานสอบสวนก็ไม่เคยมายื่นคำร้องขอหมายจับผู้ซึ่งกระทำความผิดที่มีภาพถ่ายเตะร่างกายเจ้าหน้าที่ตำรวจคนดังกล่าวต่อศาลอาญา ศาลอาญาจึงไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง อย่างไรก็ตาม ขณะนี้มีการพูดวิพากษ์วิจารณ์ว่าศาลอาญาไม่ออกหมายจับ จึงเป็นข้อมูลที่ไม่ถูกต้องตรงต่อข้อเท็จจริง และทราบว่าขณะนี้พนักงานสอบสวนได้ไปยื่นขอหมายจับต่อศาลแขวงดุสิตแล้ว ส่วนผลจะเป็นอย่างไรก็ต้องติดตามข่าวกันเอง และฝากไปถึงเจ้าพนักงานตำรวจด้วยว่า การดำเนินการขอหมายจับ หรือหมายค้น จะต้องปฏิบัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา กฎหมายก็เขียนชัดเจนว่าเหตุผลเช่นไรที่จะต้องขอออกหมายจับหรือหมายค้น เพราะฉะนั้น เวลามาเสนอขอหมายจับหรือหมายค้นต่อศาล ต้องมีรายละเอียดพฤติการณ์ให้ศาลสั่งว่าจะพิจารณาออกหมายจับหรือหมายค้นตามกฎหมายได้หรือไม่

“ไม่ใช่มีกระดาษคำร้องเพียงแผ่นเดียวแล้วให้ศาลออกหมายจับ หมายค้น สิทธิเสรีภาพของประชาชนเป็นสิ่งสำคัญ เพราะฉะนั้นจึงฝากบอกไปยังพนักงานสอบสวนถึงผู้บังคับบัญชาระดับสูงขอให้ท่านได้คิดไตร่ตรองให้เป็นไปตามกฎหมายด้วย” อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญากล่าว

เรื่องที่ 2 เมื่อวันที่ 11 พ.ย.ที่ผ่านมา ปรากฏเป็นข่าวทางสื่อมวลชนกรณีนายไชยวัฒน์ สินสุวงศ์ จำเลยในคดีบุกรุกสนามบินและทำเนียบ ได้มายื่นคำร้องต่อศาลอาญาโดยระบุว่าต้องการจะขึ้นไปปราศรัยบนเวทีการชุมนุมก่อนที่ศาลโลกจะพิจารณาพิพากษาคดี จึงเรียนมาเพื่อทราบและหากพนักงานอัยการยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการประกันตัวก็ขอให้ศาลอย่าอนุญาตให้เพิกถอน ซึ่งข้อเท็จจริงชัดเจนว่า นายไชยวัฒน์เพียงแต่มายื่นคำร้องต่อศาลเพื่อให้ศาลทราบเท่านั้นเอง ซึ่งนายไชยวัฒน์สามารถทำได้ เพราะการขึ้นปราศรัยบนเวทีการชุมนุมเป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญที่ทุกคนสามารถทำได้ และที่ผ่านมาก็มีทั้งแกนนำเสื้อเหลือง เสื้อแดงที่เป็นจำเลยมาขอขึ้นเวทีการปราศรัย โดยศาลก็ได้กำหนดเงื่อนไขเป็นมาตรฐานเดียวกัน คือ ห้ามกระทำการยุยงปลุกปั่นให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง หรืออาจก่อให้เกิดภยันตรายใดๆ ก่อให้เกิดความเสียหายหรือความสงบเรียบร้อย ต่อศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือกระทำการใดๆ ให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมาย และห้ามเดินทางออกนอกประเทศ เพราะฉะนั้นคำสั่งใดๆของศาล จึงได้กำหนดไว้อย่างชัดเจนด้วยเงื่อนไขของศาล ศาลไม่ได้ห้ามนายไชยวัฒน์ขึ้นเวที เพราะเป็นสิทธิแต่ก็ได้สั่งกำชับไม่ให้กระทำการใดๆ ที่เป็นการละเมิดเงื่อนไขการปล่อยชั่วคราว ดังนั้น ศาลอาญาจะยึดถือปฏิบัติตามเงื่อนของศาลอย่างเคร่งครัด บังคับใช้อย่างเฉียบขาด ไม่มีละเว้นให้แกjใคร และที่นายไชยวัฒน์กล่าวว่าศาลอนุญาตให้ขึ้นเวทีการปราศรัยได้นั้นจึงไม่ถูกต้อง คลาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริง ซึ่งศาลจะได้ดำเนินการต่อไป เช่น เรียกมาสอบถามว่าข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏเป็นข่าวนั้นเป็นอย่างไร

อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญากล่าวอีกว่า ต่อมานายยศวริศ ชูกล่อม หรือเจ๋ง ดอกจิก จำเลยที่ 7 ในคดีก่อการร้ายก็ได้ยื่นคำร้องต่อศาลเช่นกันว่า ในเมื่อศาลอนุญาตให้นายไชยวัฒน์ขึ้นเวทีปราศรัยได้ ตนก็ให้ศาลสั่งเพิกถอนคำสั่งห้ามขึ้นเวทีด้วย ซึ่งเรียนว่าข้อเท็จจริงในเงื่อนไขการปล่อยชั่วคราวก็นายยศวริศ หรือเจ๋ง ดอกจิกนั้นแตกต่างกันนายไชยวัฒน์โดยสิ้นเชิง เนื่องจาก เพราะในคำร้องขอให้ศาลปล่อยชั่วคราวนั้น นายยศวริศที่ถูกเพิกถอนประกัน ต่อมาก็ได้แถลงไว้ในคำร้องว่า ขอสละสิทธ์การขึ้นเวทีปราศรัยหรือดำเนินการใดๆที่จะก่อความวุ่นวาย เป็นการขอสละสิทธิ์ของตัวเอง ซึ่งเป็นเงื่อนไขสำคัญของการให้ปล่อยชั่วคราว เพราะฉะนั้นแล้วศาลจึงไม่อนุญาตให้นายยศวริศขึ้นเวทีปราศรัยตามที่ยื่นคำร้องมา จึงไม่ใช้กรณีที่ศาลอาญาดำเนินการโดยใช้สองมาตรฐาน เพราะตนได้กล่าวแล้วว่า ศาลอาญาจะไม่มีสองมาตรฐาน

เรื่องต่อมาปรากฏข่าวทางสื่อมวลชนทำนองว่า รมว.ยุติธรรม โยนศาลไม่ให้ประกันเสื้อแดง กรณีที่นางพะเยาว์ อัคฮาด แกนนำเสื้อแดงและมารดาผู้เสียชีวิต ได้ขอให้กรมคุ้มครองสิทธิฯ มายื่นขอประกันตัวเสื้อแดงแล้วจำนวน 3 ครั้ง แต่ศาลไม่อนุญาตให้ประกัน โดยไม่บอกรายละเอียดชัดเจนนั้น ขอชี้แจงในฐานะอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาว่า การให้ประกันหรือไม่ให้ประกันนั้น เป็นไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เป็นดุลพินิจของผู้พิพากษา โดยพิจารณาถึงเหตุผลต่างๆ นานา กรณีที่ศาลให้ประกัน บางทีศาลก็ไม่ได้ระบุเหตุผลไว้ แต่ถ้ากรณีใดที่ศาลไม่ให้ประกันตัวก็จะเขียนเหตุผลไว้ชัดเจน ว่าเหตุผลใดศาลจึงไม่ให้ประกันตัว เมื่อคู่ความไม่พอใจก็ใช้สิทธิอุทธรณ์ และหากศาลอุทธรณ์ไม่ให้ประกันก็จะระบุเหตุผลไว้อย่างชัดเจนเช่นเดียวกัน ทั้งนี้คำสั่งของศาลอาญาและอุทธรณ์จะระบุเหตุผลหลักไว้ เมื่อระบุเหตุผลหลักไว้อย่างชัดเจนแล้ว เหตุผลปลีกย่อยต่างๆก็ไม่จำเป็นต้องนำมาเขียนแจกแจงทั้งหมด ดังนั้นจึงเป็นการเข้าใจข้อเท็จจริงที่คลาดเคลื่อน ฟังใครมาหรือเข้าใจผิดก็เป็นได้ก็ให้ไปสอบถามรมว.ยุติธรรมเอง

นอกจากนี้ อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญายังกล่าวว่า ขณะนี้มีข้อบังคับของประธานศาลฎีกาในการสืบพยานต่างๆ โดยใช้วิดีโอนคอนเฟอเรนซ์ ซึ่งศาลอาญาเองก็เริ่มดำเนินการแล้ว เช่น พยานอยู่ จ.เชียงใหม่ อ.เกาะสมุย จ.ภูเก็ต ฯลฯ ศาลก็จะไม่พยายามส่งประเด็นไปสืบในต่างจังหวัดเช่นที่ผ่านมา แต่จะใช้วิธีสืบพยานผ่านทางจอภาพ ซึ่งจะใช้กรณีที่มีเหตุจำเป็นซึ่งไม่สามารถนำพยานดังกล่าวมาสืบที่ศาล กทม.ได้ และเป็นวิธีการประหยัดค่าใช้จ่ายและความสะดวกของคู่ความด้วย และจะส่งผลให้การสืบพยานของศาลอาญาดำเนินการไปอย่างรวดเร็ว

ผู้สื่อข่าวถามว่า คดีนี้ตำรวจ บชน.ไปขอหมายจับจากศาลแขวงดุสิต 2 ครั้ง แต่เหตุใดศาลไม่อนุมัติหมายจับ โดยครั้งแรกทราบจากตำรวจว่าภาพถ่ายไม่ชัดเจน

นายธงชัยกล่าวว่า ตนไม่เห็นข้อเท็จจริงในสำนวนว่าเป็นไปอย่างที่ถามหรือเปล่า ซึ่งศาลจะต้องมีคำสั่งว่าไม่อนุญาตเพราะเหตุผลใด เป็นไปไม่ได้ที่ศาลจะไม่ให้เหตุผลไว้ และอีกอย่าง การขอหมายจับ หมายค้นในคดีสำคัญๆ มีเหตุผลอะไรที่พนักงานสอบสวนมามายื่นขอหมายจับ หมายค้นในวันเสาร์ เพราะว่าวันเสาร์จะมีเฉพาะผู้พิพากษาเวร ประจำอยู่ที่ศาลเท่านั้น รองอธิบดี หรือหัวหน้าศาลที่จะให้คำปรึกษาก็ไม่อยู่ เพราะฉะนั้นการให้คำปรึกษาต่างๆ จึงเป็นเรื่องที่ทำได้ลำบาก การดำเนินการขอหมายจับหมายค้น ไม่ใช่เรื่องยาก ขอให้ทำเป็นไปตามกฎหมาย ว่าทำไมเหตุผลอะไร จึงขอหมายจับ หมายค้น ศาลเองก็พร้อมที่จะพิจารณาให้อยู่แล้ว โดยเฉพาะถ้าปรากฏภาพหลักฐานชัดเจนก็ไม่มีปัญหาอะไร เชื่อว่าไม่นานศาลแขวงดุสิตก็จะมีคำสั่งออกมา เพราะทราบว่าพนักงานสอบสวนได้ยื่นขอหมายจับ ครั้งที่ 3 แล้ว โดยหลักทั่วไปการยื่นขอหมายจับครั้งที่ 2 หรือครั้งที่ 3 หมายถึงเป็นการแก้ไขในข้อบกพร่อง ข้อผิดพลาดของพนักงานสอบสวนที่ไม่อยากใช้คำว่าส่งเดช ขอให้ทำให้ดีหน่อย ศาลมีหน้าที่ในการดูรายละเอียดพยานหลักฐานต่างๆ อย่างชัดเจน ไม่ใช่มีแต่ภาพถ่ายเตะ แต่ต้องบอกว่ามีหลักฐานอะไรบ้าง
นายธงชัย เสนามนตรี อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา
แถลงข่าวต่อสื่อมวลชน
กำลังโหลดความคิดเห็น