เกียรติศักดิ์ของสมาชิกเนติบัณฑิตยสภา
โดย สราวุธ เบญจกุล เลขาธิการสำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา
ตามที่สื่อมวลชนได้เสนอข่าวเกี่ยวกับการรับสมัครสมาชิกเนติบัณฑิตยสภา ทำให้เกิดข้อสงสัยว่า เนติบัณฑิตยสภา มีการจัดตั้งขึ้นโดยวัตถุประสงค์ใด หลักเกณฑ์ในการพิจารณารับสมัครสมาชิกเป็นอย่างไร สิทธิและหน้าที่ของสมาชิกเป็นอย่างไร
เนติบัณฑิตยสภา กำเนิดมาจากโรงเรียนกฎหมายส่วนพระองค์ ซึ่งจัดตั้งขึ้นโดยพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ (กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์) เมื่อ พ.ศ. 2440 และมีการสอบไล่เป็นเนติบัณฑิตรุ่นแรกในปีเดียวกันนั้น ต่อมาได้โอนเป็นโรงเรียนหลวง สังกัดกระทรวงยุติธรรม โดยมีเสนาบดีกระทรวงยุติธรรมเป็นผู้จัดการโรงเรียนกฎหมาย
เมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2547 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6) ทรงรับ เนติบัณฑิตยสภาไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์ และทรงมีพระราชประสงค์เพื่อบำรุงการศึกษาวิชากฎหมาย ทั้งการรักษาความประพฤติของทนายความ
ใน พ.ศ. 2491 เนติบัณฑิตยสภาได้จัดตั้งสำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภาขึ้น มีศาสตราจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ เป็นเลขาธิการสำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภาคนแรก โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการศึกษานิติศาสตร์ และความรู้ความชำนาญในการประกอบวิชาชีพกฎหมาย เพื่อให้สามารถนำความรู้ทางกฎหมายไปใช้ในทางปฏิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ หลักสูตรการศึกษาอบรมได้ถือแบบอย่างของสภาการศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภาประเทศอังกฤษ และมติของเนติบัณฑิตยสภาสากล ซึ่งเนติบัณฑิตยสภาไทยเป็นภาคีด้วย
เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2507 พระราชบัญญัติเนติบัณฑิตยสภา พ.ศ. 2507 ได้มีผลใช้บังคับ กำหนดให้เนติบัณฑิตยสภา ซึ่งรัชกาลที่ 6 ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งขึ้นมีฐานะเป็นนิติบุคคล มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการศึกษานิติศาสตร์และการประกอบอาชีพทางกฎหมาย ตลอดทั้งส่งเสริมความสามัคคีและผดุงเกียรติของสมาชิก
การบริหารงานของเนติบัณฑิตยสภามีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นสภานายกพิเศษมีอำนาจหน้าที่กำกับเกี่ยวกับกิจการของเนติบัณฑิตยสภา และมีคณะกรรมการคณะหนึ่งเรียกว่า คณะกรรมการเนติบัณฑิตยสภา ประกอบด้วย ประธานศาลฎีกาเป็นนายก ประธานศาลอุทธรณ์และอัยการสูงสุดเป็นอุปนายก และกรรมการอื่นอีก 20 คน ซึ่งเลือกตั้งจากบุคคลที่เป็นสามัญสมาชิกมาแล้ว
ไม่น้อยกว่า 10 ปี ประเภทละ 5 คน คือ ข้าราชการตุลาการ ข้าราชการอัยการ ทนายความ และบุคคลอื่น มีอำนาจหน้าที่บริหารกิจการของเนติบัณฑิตยสภาให้เป็นไปตามกฎหมายและข้อบังคับเนติบัณฑิตยสภา
คณะกรรมการเนติบัณฑิตยสภา มีอำนาจในการตราข้อบังคับเนติบัณฑิตยสภา เกี่ยวกับประเภทสมาชิก คุณสมบัติของผู้สมัครเป็นสมาชิก การเข้าเป็นสมาชิก และการขาดจากสมาชิกภาพ คณะกรรมการจึงออกข้อบังคับเนติบัณฑิตยสภา พ.ศ.2507 กำหนดให้สมาชิกมี 5 ประเภท คือ 1.สามัญสมาชิก 2.สมาชิกวิสามัญ 3.สมาชิกสมทบ 4.ภาคีสมาชิก 5.สมาชิกกิตติมศักดิ์
ผู้สมัครเป็นสมาชิกต้องทำคำขอสมัครตามแบบที่กำหนดยื่นต่อเลขาธิการ คำขอสมัครต้องมีสามัญสมาชิกไม่น้อยกว่า 2 คน ซึ่งเป็นสามัญสมาชิกไม่น้อยกว่า 10 ปี ลงลายมือชื่อรับรองว่าผู้สมัครเป็นผู้มีความประพฤติเรียบร้อย ไม่เป็นบุคคลที่ควรรังเกียจแก่สังคม และประกอบด้วยคุณลักษณะที่จะดำรงเกียรติในการเป็นสมาชิกแห่งเนติบัณฑิตยสภา
เมื่อเลขาธิการได้รับคำขอสมัครแล้ว จะต้องประกาศชื่อ ถิ่นที่อยู่ และอาชีพของผู้สมัคร เป็นเวลา ไม่น้อยกว่า 15 วัน เพื่อให้บุคคลทั่วไปทำคำคัดค้าน จากนั้นเลขาธิการจะเสนอใบสมัครพร้อมด้วยคำคัดค้าน (ถ้ามี) ต่อที่ประชุมคณะกรรมการเนติบัณฑิตยสภา เพื่อพิจารณาว่าจะรับหรือไม่รับผู้สมัครดังกล่าว
ในการพิจารณารับผู้สมัครเป็นสมาชิก ให้คณะกรรมการคำนึงถึงความสมควรที่ผู้สมัครจะพึงได้รับเกียรติเป็นสมาชิกแห่งเนติบัณฑิตยสภาหรือไม่ด้วย และคณะกรรมการย่อมมีสิทธิเด็ดขาดในอันที่จะวินิจฉัยตามที่เห็นสมควร ถ้ามีการไม่รับผู้ใดเป็นสมาชิกประเภทใดด้วยเหตุใดๆ ก็ตาม ผู้นั้นมีสิทธิยื่นคำขอสมัครเป็นสมาชิกในประเภทนั้นอีกได้เมื่อพ้นกำหนด 1 ปี นับแต่วันที่มีมติหรือคำสั่งไม่รับแล้วแต่กรณี และถ้ามีการไม่รับผู้ใดเป็นสมาชิกในประเภทนั้นอีกผู้นั้นหมดสิทธิที่จะขอสมัครเป็นสมาชิกประเภทนั้นอีกต่อไป
การพิจารณารับสมัครสมาชิกนอกจากหลักเกณฑ์ที่กล่าวข้างต้นแล้ว ผู้สมัครต้องแจ้งกรณีเคยถูกลงโทษทางวินัย เคยต้องคำพิพากษาคดีแพ่ง คดีอาญา หรือคดีล้มละลาย เพื่อประกอบการพิจารณาของคณะกรรมการด้วย
เมื่อคณะกรรมการได้รับบุคคลใดเป็นสมาชิกแล้ว สามัญสมาชิก สมาชิกวิสามัญ และสมาชิกกิตติมศักดิ์ มีสิทธิสวมเสื้อครุยเนติบัณฑิตตามกฎหมายว่าเสื้อครุยเนติบัณฑิต ทั้งการเป็นสามัญสมาชิกเป็นคุณสมบัติข้อหนึ่งที่จะมีสิทธิสมัครสอบเป็นผู้ช่วยผู้พิพากษา และอัยการผู้ช่วย อีกทั้งการประกอบวิชาชีพทนายความจะต้องเป็นสมาชิกวิสามัญด้วย นอกจากนี้ คณะกรรมการมีอำนาจในการถอนชื่อหรือลบชื่อสมาชิกออกจากทะเบียนก็ได้ ในกรณีดังต่อไปนี้
1.กระทำความผิดอาญาต้องรับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่ความผิดที่เป็นลหุโทษหรือความผิดที่มีกำหนดชั้นลหุโทษ หรือความผิดที่ได้กระทำโดยประมาท
2.ต้องคำพิพากษาให้ล้มละลาย หรือ
3.ประพฤติตนในทางที่อาจนำความเสื่อมเสียมาสู่เนติบัณฑิตยสภา
ถ้าคณะกรรมการเห็นว่าการกระทำของสมาชิกผู้นั้นยังไม่ร้ายแรงถึงควรลบชื่อ จะภาคทัณฑ์หรือเพียงแต่ว่ากล่าวตักเตือนก็ได้
ดังนั้น การพิจารณาของคณะกรรมการเนติบัณฑิตยสภาจะรับบุคคลใดเป็นสมาชิกหรือไม่ต้องดำเนินการตามพระราชบัญญัติเนติบัณฑิตยสภา พ.ศ.2507 และข้อบังคับเนติบัณฑิตยสภา พ.ศ.2507 โดยคำนึงถึงความประพฤติของผู้สมัครและคุณลักษณะที่จะดำรงเกียรติในการเป็นสมาชิกแห่งเนติบัณฑิตยสภาเป็นสำคัญ