ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนจำคุก “เปมิกา” 4 ปี 6 เดือน คดีร่วมกันฉ้อโกง “หมอประกิตเผ่า” ส่วนจำเลยที่ 2-4 ให้จำคุกฐานสนับสนุนให้ฉ้อโกง 7 กระทงๆ ละ 4 เดือน ปรับกระทงละ 3,000 บาท ฐานสนับสนุนให้ผู้อื่นพยายามฉ้อโกง 3 กระทงๆ ละ 2 เดือน 20 วัน ปรับกระทงละ 2,000 บาท รวมจำคุกจำเลยที่ 2-4 เป็นเวลาคนละ 34 เดือน 60 วัน ปรับคนละ 27,000 บาท และจำเลยที่ 2-4 มีการศึกษา อาชีพการงานมั่งคง โดยโทษจำคุกให้รอลงอาญาแต่ให้ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายคืนผู้เสียหาย หากไม่มีให้ขังแทนค่าปรับ
วันนี้ (25 ก.ย.) ที่ห้องพิจารณาคดี 708 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ศาลออกนั่งบัลลังก์อ่านคำพิพากษาในคดีดำที่ อ.4543/2550 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 8 และ รศ.เพลินจิต ทมทิตชงค์ มารดาของ นพ.ประกิตเผ่า ทมทิตชงค์ ผู้เสียหายที่ 1 เจ้าของสถาบันกวดวิชาแอพพลายด์ ฟิสิกส์ เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง น.ส.เปมิกา หรือศิวพร หรือสิริรัษสิริ หรืออุ๋ย วีรชัชรักษิต หรือเหลืองเรณูกุล อายุ 31 ปี อดีตเพื่อนสาวคนสนิทนายแพทย์ประกิตเผ่า, น.ส.ฤทัย หรือแนน รุ่งสิริเมธากุล อายุ 29 ปี, นายณัฐพล หรือภาสยภูริณฐ์ หรือตั้ม พรมประไพ อายุ 34 ปี, นายวทัญญู หรือปุ้ย ตันธีระพงศ์ อายุ 33 ปี ซึ่งเป็นเพื่อนนักศึกษา น.ส.เปมิกา ร่วมกันเป็นจำเลยที่ 1-4 ในความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงโดยอาศัยความอ่อนแอแห่งจิตของผู้ถูกหลอกลวง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341, 342, 83, 81
โดยฟ้องโจทก์เมื่อวันที่ 20 ส.ค. 2550 ระบุความผิดสรุปว่า เมื่อเดือน ต.ค. 2549 - ก.พ. 2550 นพ.ประกิตเผ่า ทมทิตชงค์ ผู้เสียหายที่ 1 ซึ่งมีความอ่อนแอแห่งจิต มีความผิดปกติทางด้านภาวะจิตใจ เป็นโรคจิตอารมณ์แปรปรวน มีความหลงผิดแยกไม่ได้ว่าข้อมูลใดเป็นจริงข้อมูลใดเป็นเท็จ ขาดความยับยั้งชั่งใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีผู้อื่นชักจูง ได้หลงเชื่อตามคำหลอกลวง และการสร้างสถานการณ์ของจำเลยทั้งสี่ โดยเข้าใจว่าตนเองสามารถนั่งสมาธิจนสำเร็จฌานขั้นสูง สามารถระลึกชาติ ถอดจิตได้ มีอำนาจจิตที่บุคคลธรรมดาไม่สามารถจะทำได้ และยังเชื่อว่า จำเลยที่ 1 มีความสามารถนั่งสมาธิจนสามารถเข้าสู่ฌาน และสามารถระลึกชาติได้เช่นกัน โดยพวกจำเลยได้ร่วมกันสร้างสถานการณ์หลอกลวงผู้เสียหายให้เข้าใจว่า จำเลยที่ 1 และผู้เสียหายที่ 1 เคยเป็นสามีภรรยากันมาก่อน 99 ภพชาติที่ผ่านมา มีหนี้กรรมต้องชดใช้ในชาตินี้ จึงขอให้ผู้เสียหายซื้อรถยนต์โตโยต้าคัมรี่ สีดำ มูลค่า 1,569,000 บาท ให้จำเลยที่ 1 และมอบเงินจำนวน 980,000 บาท เพื่อซื้อแผ่นป้ายทะเบียน สห-9999 รวมทั้งซื้อนาฬิกาโรเล็กซ์ และทรัพย์สินอื่นรวม 10 รายการ มูลค่า 9,658,000 บาท เหตุเกิดที่แขวงปทุมวัน เขตปทุมวัน, แขวงพญาไท เขตพญาไท กรุงเทพมหานคร, ตำบลงามวงศ์วาน อำเภอเมือง จังหวัดนนทบุรี, ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม เกี่ยวพันกัน โดยจำเลยทั้งหมดให้การปฏิเสธ
คดีนี้ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 26 ต.ค.2553 ให้จำคุก น.ส.เปมิกา จำเลยที่ 1 ฐานฉ้อโกงทรัพย์ 7 กระทงๆ ละ 6 เดือน รวม 42 เดือน และฐานพยายามฉ้อโกง 3 กระทงๆ ละ 4 เดือน รวม 12 เดือน โดยจำคุกจำเลยที่ 1 ทั้งสิ้น เป็นเวลา 54 เดือน คิดเป็น 4 ปี 6 เดือน
ขณะที่จำคุกจำเลยที่ 2-4 ฐานสนับสนุนให้ฉ้อโกง 7 กระทงๆ ละ 4 เดือน รวม 28 เดือน และ ปรับ 7 กระทงๆ ละ 3,000 บาท รวม 21,000 บาท และฐานสนับสนุนให้ผู้อื่นพยายามฉ้อโกง จำคุก 3 กระทงๆ ละ 2 เดือน 20 วันรวม 6 เดือน 60 วัน ปรับ 3 กระทงๆ ละ 2,000 บาท 6,000 บาท โดยจำคุกจำเลยที่ 2-4 ทั้งสิ้นคนละ 34 เดือน 60 วัน คิดเป็น 3 ปี และปรับคนละ 27,000 บาท แต่จำเลยที่ 2-4 ประกอบอาชีพการงานมั่นคงและไม่เคยต้องโทษอาญามาก่อน พฤติการณ์เป็นเพียงผู้สนับสนุน โทษจำคุกจึงให้รอลงอาญาไว้กระทงละ 2 ปี และให้จำเลยที่ 1-4 ร่วมกันคืนทรัพย์สินจำนวน 8,035,387 บาท คืนให้กับโจทก์ร่วมและผู้เสียหาย
ต่อมาโจทก์ และโจทก์ร่วมยื่นอุทธรณ์ขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 สถานหนักและไม่รอลงอาญา จำเลยที่ 2-4 ขณะที่ได้จำเลยยื่นอุทธรณ์ขอให้ศาลพิพากษายกฟ้อง
ศาลอุทธรณ์ตรวจสำนวนประชุมปรึกษาหารือแล้ว มีประเด็นต้องวินิจฉัยว่าจำเลยกระทำผิดตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่าจำเลยที่ 1 ได้รู้จักกับผู้เสียหาย โดยอ้างว่าตนเองสามารถถอดจิต ระลึกชาติได้ และเคยเป็นสามีภรรยากันมา 99 ภพชาติ ผู้เสียหายมีหนี้กรรมที่จะต้องชดใช้ การกระทำของจำเลยที่ 1 ไม่ใช่ลักษณะของการกระทำต่อผู้เสียหายมีจิตอ่อน แต่ได้อาศัยความเชื่อถือศรัทธา ว่าจะต้องชดใช้กรรม จำเลยที่ 1 กระทั่งผู้เสียหายยอมมอบเงินให้ ซึ่งหากไม่ถูกหลอกลวงว่ามีหนี้กรรมที่จะต้องชดใช้ ผู้เสียหายก็คงจะไม่มอบทรัพย์สินดังกล่าวให้ ขณะที่กระทำของจำเลยที่ 2-4 เป็นการช่วยเหลือจำเลยที่ 1 ก่อนที่ผู้เสียหายจะมอบทรัพย์สินให้กับจำเลยที่ 1 จึงถือเป็นเพียงผู้สนับสนุนไม่ใช่ลักษณะตัวการร่วม ส่วนที่โจทก์และโจทก์ร่วมขอให้ลงโทษจำเลยสถานหนักนั้น เห็นว่าการลงโทษในคดีอาญาไม่ได้มุ่งหมายในการแก้แค้นแต่เพื่อให้ผู้กระทำผิดได้รับโทษและรู้สึกหลาบจำ และให้คิดดีทำดีเพื่อจะได้กลับคืนสู่สังคม อีกทั้งจำเลยมีการศึกษา อาชีพการงานมั่งคง ดังนั้นที่ศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุกจำเลย ที่ 1 รวม 7 กระทงๆละ 6 เดือน ฐานฉ้อโกง และฐานพยายามฉ้อโกงอีก 3 กระทงๆ ละ 4 เดือน แ ละให้รอลงอาญาจำเลยที่ 2-4 ศาลอุทธรณ์เห็นว่าเหมาะสมแล้ว
แต่ที่ศาลชั้นต้นไม่กำหนดว่า หากจำเลยที่ 2-4 ไม่ชำระค่าปรับจะดำเนินการอย่างไรนั้น เห็นควรแก้เป็นว่า หากจำเลยที่ 2-4 ไม่ชำระค่าปรับคนละ 27,000 บาท ให้กักขังแทน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 และ 30 และให้จำเลยทั้ง 4 ร่วมกันชดใช้เงินคืนให้กัแก่ผู้เสียหายที่ 1 จำนวน 8,395,387 บาท
ภายหลัง น.ส.เปมิกาให้สัมภาษณ์ว่า ขณะนี้ตัวเองอยู่บ้านไม่ได้ประกอบอาชีพอะไร และมีบุตรที่จะต้องเลี้ยงดูจำนวน 3 คน อีกทั้งวันนี้มารดาของตนเองได้เตรียมหลักทรัพย์ไว้เพื่อจะยื่นประกัน จำนวน 1 ล้านบาท
ต่อมาญาติของ น.ส.เปมิกา ได้ยื่นคำร้องพร้อมหลักทรัพย์ เป็นโฉนดที่ดิน ย่านบางซื่อ เนื้อที่ 59 ตารางวา ราคาประเมิน 3,245,000 บาท พร้อมคำร้องประกอบการพิจารณาระบุว่า จำเลย ยังมีภาระต้องเลี้ยงดูบุตรเล็ก ๆ อีก 3 คน โดยจำเลยเป็นผู้เลี้ยงดูเอง หากจำเลยต้องถูกคุมขัง เกรงว่า จะทำให้ลูกทั้งสามได้รับความเดือดร้อน จึงขอความเมตตาขอให้ศาลมีคำสั่งอนุญาตปล่อยชั่วคราวจำเลยระหว่างฎีกาด้วย
อย่างไรก็ตาม ศาลอาญา พิเคราะห์แล้วเห็นควร ส่งเรื่องให้ศาลฎีกาเป็นผู้พิจารณาเพื่อมีคำสั่งต่อไป
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างที่ น.ส.เปมิกา ถูกเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์นำตัวจากห้องพิจารณา ลงมาที่ห้องควบคุมบริเวณใต้ถุนศาล มีท่าทางเซื่องซึม ใบหน้าเศร้าสร้อย ก่อนที่จะถูกเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์นำตัวไปควบคุมยังทัณฑสถานหญิงกลาง บางเขน ระหว่างรอศาลฎีกาพิจารณาว่าจะมีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว น.ส.เปมิกา ระหว่างยื่นฎีกาหรือไม่ คาดว่าใช้เวลาประมาณ 3 -5 วัน