xs
xsm
sm
md
lg

ก.ท่องเที่ยวฯ ถก 3 หน่วยงาน เร่งแก้ปัญหามาเฟียภูเก็ต

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


รมว.ท่องเที่ยวฯ นั่งหัวโต๊ะถก 3 หน่วยงาน หารือเร่งรัดแก้ปัญหามาเฟียที่ จ.ภูเก็ต พร้อมยื่นหนังสือเพื่อให้ดีเอสไอดำเนินการในเรื่องของการฟอกเงิน-หลบเลี่ยงภาษีอากร



เมื่อเวลา 13.30 น.วันที่ 4 ก.ย. ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) นายสมศักย์ ภูรีศรีศักดิ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและการกีฬา เป็นประธานในการประชุมร่วม 3 หน่วยงาน ได้แก่ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ดีเอสไอ และกองปราบปราม เพื่อหาแนวทางเร่งรัดในการดำเนินการต่อกลุ่มผู้มีอิทธิพลใน จ.ภูเก็ต พร้อมยื่นหนังสือต่อนายนายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีดีเอสไอ เพื่อรับเรื่องไปดำเนินการในเรื่องของการฟอกเงินและการหลบเลี่ยงภาษีอากร

นายสมศักย์กล่าวว่า การมาในครั้งนี้เพื่อเป็นการติดตามคดีสำคัญที่เกิดขึ้นที่ จ.ภูเก็ต และคดีที่อาจจะเกิดขึ้นในพื้นที่ที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวตามนโยบายของรัฐบาลในการสร้างรายได้ 2.2 ล้านล้านบาทภายในปี 2558

สืบเนื่องจากทางกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬาได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้ประกอบการในพื้นที่ จ.ภูเก็ต และอัครราชทูตในกลุ่มทวีปยุโรปกว่า 16 ประเทศ รวมทั้งสหรัฐอเมริกา อังกฤษ ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น จีน เกาหลี และอินเดีย ให้จัดการกับกลุ่มผู้มีอิทธิพลที่มีการคุกคาม ข่มขู่และทำร้ายนักท่องเที่ยวและผู้ประกอบการอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตามถ้าจะดำเนินการจัดการกับเรื่องดังกล่าวให้สำเร็จในเรื่องของนักท่องเที่ยวที่จะมาเที่ยวที่ จ.ภูเก็ตแล้วมีความมั่นใจในเรื่องความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์นั้นจะต้องทำงานร่วมกันและประสานกันทั้งดีเอสไอ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) กระทรวงคมนาคม และหน่วยงานอื่นๆ

นายธาริตกล่าวว่า ตนได้มอบหมายให้ สำนักคดีอาญาพิเศษ 3 ดำเนินการในเรื่องดังกล่าว และได้มีการตรวจสอบข้อเท็จจริงเบื้องต้นพบว่ามีมูลที่จะเข้าข่ายเป็นคดีพิเศษ จึงอนุมัติเป็นคดีสืบสวน ที่ 302/2556 ลงวันที่ 9 ส.ค. 2556 ต่อมาได้มีคำสั่งกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาที่ 778/2556 ลงวันที่ 31 ก.ค. 2556 เรื่องจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการร่วมเพื่อป้องกันและปราบปรามผู้ที่มีอิทธิพลที่เป็นภัยต่อการท่องเที่ยว (ศปอท.) โดยมอบหมายให้ดีเอสไอเป็นฝ่ายปฏิบัติการร่วมการแก้ไขปัญหารถยนต์รับจ้างป้ายดำ (TAXI) ซึ่งมีกลุ่มอิทธิพลในพื้นที่ให้การช่วยเหลือ สนับสนุน มีพฤติการณ์คุกคาม ข่มขู่และทำร้ายนักท่องเที่ยวและผู้ประกอบการอย่างต่อเนื่อง ส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์และสร้างความเสียหายให้แก่อุตสาหกรรมท่องเที่ยวของประเทศไทยอย่างรุนแรงนั้น เมื่อวิเคราะห์ถึงปัญหาพบว่า รถยนต์รับจ้างป้ายดำไม่มีหน่วยงานหรือองค์กรใดควบคุม เมื่อเกิดความผิดขึ้นจึงไม่สามารถติดตามหรือหารถคันที่กระทำความผิดได้ เมื่อไม่มีการควบคุมผู้ขับขี่รถยนต์รับจ้างป้ายดำก็ไม่เกิดความเกรงกลัวต่อการทำผิด เพราะนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติไม่สามารถจดจำ ตำหนิรูปพรรณ คนขับหรือรถยนต์ได้ ดีเอสไอจึงได้จัดทำแผนในการควบคุมรถยนต์รับจ้างป้ายดำ เพื่อควบคุมพฤติกรรมของผู้ขับขี่รถยนต์รับจ้างป้ายดำ โดยกำหนดแผนช่วงแรก คือตั้งแต่วันที่ 9-29 ส.ค. 2556 ได้ร่วมกับผู้ตรวจการขนส่ง กรมการขนส่งทางบก และ จ.ภูเก็ต ตรวจ-จับ รถยนต์รับจ้างป้ายดำได้จำนวน 494 ราย ในข้อหาใช้รถยนต์ผิดประเภทตาม พ.ร.บ.รถยนต์ หลังจากผู้ตรวจการขนส่งจับปรับแล้ว เจ้าหน้าที่ดีเอสไอได้ทำการบันทึกชื่อที่อยู่ คิวรถที่สังกัด หมายเลขโทรศัพท์ และหมายเลขทะเบียนรถยนต์ จากนั้นได้เชิญตัวมาสอบปากคำในภายหลัง เพื่อหาตัวผู้ที่มีอิทธิพลผู้ที่ให้การสนับสนุน ช่วยเหลือ คิวรถรับจ้าง

อธิบดีดีเอสไอกล่าวอีกว่า จากการเปิดศูนย์ ศปอท.นั้น ดีเอสไอได้รับเรื่องร้องเรียนจากประชาชนในพื้นที่ จ.ภูเก็ตจำนวน 6 เรื่อง ดังนี้ 1. ขอความช่วยเหลือแก้ไขปัญหาเดือดร้อนของผู้ประกอบการตุ๊กตุ๊กป้ายเหลืองจังหวัดภูเก็ต 2. ความเดือดร้อนจากลุ่มแท็กซี่ป้ายดำในสนามบินภูเก็ต 3. พฤติกรรมผู้มีอิทธิพลท้องถิ่นร่วมกับคนต่างชาติบุกรุกที่สาธารณะหาดสุรินทร์เปิดร้านอาหารเปิดบาร์ 4. ร้องเรียนให้ตรวจสอบโครงการก่อสร้างที่หาดราไวย์

5. กลุ่มรถยนต์รับจ้างร้องเรียนหัวหน้าควบคุมคิวรถเรียกเก็บเงินโดยผิดกฎหมาย
และ 6. กลุ่มผู้ประกอบการร้านค้าป่าตองร้องเรียนเจ้าหน้าที่รัฐเก็บส่วยเดือนละ 3 ล้านบาท

นายธาริตกล่าวว่า สำหรับในเดือนกันยายนนี้ดีเอสไอได้กำหนดจัดเวทีสาธารณะรับฟังปัญหาของรถยนต์รับจ้างสาธารณะป้ายเขียว ป้ายเหลือง ป้ายดำ และจักรยานยนต์รับจ้าง เพื่อหาแนวทางแก้ไขและจัดระเบียบระบบขนส่งสาธารณะ โดยมีกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา จ.ภูเก็ต และดีเอสไอ เป็นเจ้าภาพ นอกจากนี้ ดีเอสไอจะรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อให้มีการดำเนินคดีต่อผู้ควบคุมคิวและผู้มีอิทธิพลที่อยู่เบื้องหลังโดยใช้มาตรการทางด้านภาษีและกฎหมายฟอกเงิน เมื่อคิวรถรับจ้างไม่มีผู้คุมคิว คณะทำงานแก้ไขปัญหาระบบขนส่งสาธารณะและการประกอบกิจการขนส่งไม่ได้คุณภาพ ตามคำสั่งจังหวัดภูเก็ตที่ 1726/2555 ลงวันที่ 5 ก.ค. 2555 จะเข้าควบคุมและกำหนดมาตรการแก้ไขปัญหาระบบรถบริการสาธารณะแทน ส่วนช่องทางในการร้องเรียนกลุ่มผู้มีอิทธิพลกับดีเอสไอหมายเลขโทรศัพท์ 08-3025-0101
กำลังโหลดความคิดเห็น