xs
xsm
sm
md
lg

บูรณาการ 5 จว.ชายแดนใต้ บริหารความยุติธรรมอย่างเสมอภาค

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

บรรยายรูป - นายชาญเชาวน์ ไชยานุกิจ รองปลัดกระทรวงยุติธรรม และน.ส.รื่นวดี สุวรรณมงคล อธิบดีกรมคุมประพฤติ พร้อมคณะผู้บริหาร อาสาสมัครคุมประพฤติ เครือข่ายยุติธรรมชุมชน กรรมการอิสลามประจำจังหวัดทั้ง 5 จังหวัดชายแดนใต้ จัดเวทีเสวนาบูรณการบริหารความยุติธรรมอย่างเสมอภาค
สถานการณ์ความรุนแรงและความไม่สงบในพื้นที่ปลายด้ามขวาน ตั้งแต่ปี 2547 จนถึงปัจจุบัน นอกจากจะยังไม่ได้ทุเลาลงแล้วนับวันสถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ทั้ง 5 จังหวัดยิ่งยืดเยื้อเรื้อรัง และยากต่อการแก้ไข

ทั้งนี้ ในรายงานสถานการณ์ความไม่สงบที่จัดทำโดยหน่วยงานในพื้นที่ ระบุว่า สถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ในช่วง 8 ปีที่ผ่านมา (ปี 2547-2555) ยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง และก่อให้เกิดผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของประชาชนและการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ของรัฐ ลักษณะเหตุการณ์ความรุนแรงยังคงเป็นรูปแบบการลอบทำร้าย ลอบยิง วางระเบิด และทำลายทรัพย์สินของประชาชนและสถานที่ราชการ

ในช่วงปี 2547-2555 (นับถึง 15 ก.ค. 2555) มีจำนวนเหตุการณ์ความไม่สงบเกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส และสงขลา รวม 13,085 เหตุการณ์ ส่งผลให้มีจำนวนผู้เสียชีวิตรวม 5,469 ราย และมีผู้บาดเจ็บจำนวน 9,653 ราย โดยประชาชนเป็นกลุ่มที่เสียชีวิตมากที่สุดคือ 4,104 ราย คิดเป็นร้อยละ 75.04 ของจำนวนผู้เสียชีวิตทั้งหมด

ที่น่าสนใจอยู่ตรงที่สถานการณ์ที่มีความรุนแรงได้พุ่งสูงขึ้นถึง 2,078 เหตุการณ์ในปี 2548 ซึ่งเป็นปีที่รัฐบาลได้ประกาศใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ) และเกิดสูงสุดในปี 2550 คือ 2,475 เหตุการณ์ หลังจากนั้นการเกิดเหตุรุนแรงมีแนวโน้มลดลงในปีปัจจุบัน คือปี 2555 เหตุรุนแรงมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง โดยรัฐบาลมีนโยบายใช้แนวทางสันติวิธี ให้ความสำคัญต่อการเปิดพื้นที่ให้ผู้มีความเห็นต่างได้ร่วมแก้ปัญหาความขัดแย้ง เปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนร่วมแก้ไขปัญหา เคารพให้เกียรติในพหุวัฒนธรรม ภาษาถิ่น อัตลักษณ์ วิถีชีวิตอิสลาม หลักศาสนา การศึกษา ใช้ความเป็นธรรมในการแก้ไขปัญหา และนำมาตรการเยียวยาฟื้นฟูผู้เสียหาย ผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างเสมอภาค เพื่อเป็นจุดเปลี่ยนผ่าน “จากความรุนแรงสู่สันติวิธี”

จากผลของการปรับเปลี่ยนนโยบายอย่างเป็นรูปธรรม ถึงแม้ยังไม่มีการประเมินผล แต่พบว่าค่าเฉลี่ยของการเกิดเหตุการณ์ลดลงจาก 2.97 เหตุการณ์ต่อวันในปี 2554 เหลือ 2.42 เหตุการณ์ต่อวันในปี 2555 หรือลดลงร้อยละ 18.51

เมื่อเปรียบเทียบสถิติเหตุการณ์รอบ 6 เดือน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณียิง ระเบิด และลอบวางเพลิงระหว่างเดือน ม.ค.ถึง ก.ค. 2554 กับ ม.ค.ถึง 21 ก.ค. 2555 ซึ่งเก็บข้อมูลโดยศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศชต.) พบว่า ในภาพรวมมีเหตุการณ์ลดลงจาก 406 ครั้ง เหลือ 172 ครั้ง กรณีระเบิดในช่วงเวลาเดียวกันลดลงจาก 147 ครั้งในปี 2554 เหลือ 92 ครั้งในปี 2555 หรือลดลงร้อยละ 37.41 เมื่อแยกเป็นสถิติเหตุการณ์ความไม่สงบ

ข้อมูลของศูนย์ประสานงานวิชาการให้ความช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศวชต.) มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี พบว่า สถิติจำนวนเหตุการณ์ในพื้นที่ จ.นราธิวาส ปัตตานี และยะลา ตั้งแต่เดือน ม.ค.ถึง มิ.ย.ปี 2554 เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2555 มีแนวโน้มลดลงทุกจังหวัด และในภาพรวมทั้งสามจังหวัดลดลงจาก 511 เหตุการณ์ เหลือเพียง 306 เหตุการณ์ หรือลดลง 205 เหตุการณ์ คิดเป็นร้อยละ 40.11จำนวนผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ จ.นราธิวาส ปัตตานี และยะลา ห้วงเดือน ม.ค.ถึง มิ.ย. 2554 เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2555 พบว่าผู้เสียชีวิตลดลงจาก 234 คน เหลือ 145 คน หรือลดลง 89 คน คิดเป็นร้อยละ 38.04

สถานการณ์ปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นในลักษณะของการสั่งสมสภาพความรู้สึกว่าไม่ได้รับความยุติธรรมนับตั้งแต่อดีตกาลจวบจนปัจจุบัน มีการเคลื่อนไหว เปลี่ยนแปลงของสถานการณ์และสภาพปัญหามาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งปัจจุบันได้มีการเชื่อมโยงของปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับปัจจัยอื่นๆ เช่น ปัญหาอาชญากรรม ยาเสพติด ของเถื่อน และอิทธิพลมากขึ้น จึงทำให้สถานการณ์ปัญหามีความซับซ้อน ยากต่อการเข้าถึงแก่นแท้ของปัญหา ส่งผลให้สถานการณ์ยังมีความรุนแรงอย่างต่อเนื่อง ทั้งการลอบยิง หรือวางระเบิด จนเกิดความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนคนบริสุทธิ์ในพื้นที่จำนวนมาก ไม่เว้นแม้แต่พระภิกษุ สามเณร ที่ยังตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงบนพื้นที่สีแดง

สำหรับสถานการณ์ปัญหาที่สำคัญอีกประการหนึ่ง นั่นก็คือ ปัญหาความไม่เข้าใจในวิถีชีวิตและอัตลักษณ์ของท้องถิ่นจังหวัดชายแดนใต้ ในลักษณะของมลายูอิสลาม ทั้งภาษา ศาสนา และวัฒนธรรม ความเป็นอยู่ ที่เจ้าหน้าที่ของรัฐส่วนใหญ่ยังขาดความเข้าใจ หรือแม้คนในพื้นที่ขาดความรู้ ความเข้าใจต่อกระบวนการทำงานในภาครัฐ จนทำให้เกิดความหวาดกลัว และหวาดระแวง

เมื่อวันที่ 27 ส.ค.ที่ผ่านมา กระทรวงยุติธรรมได้บูรณาการการทำงานและให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาที่เป็นรากเหง้าควบคู่ไปกับปัญหาที่เป็นปรากฏการณ์ โดยมุ่งขจัดเงื่อนไขของการใช้ความรุนแรงทุกระดับด้วยกระบวนการการมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย และสร้างสภาวะแวดล้อมที่พร้อมและเอื้อต่อการแสวงหาทางออกจากความขัดแย้งโดยการกระจายอำนาจหน้าที่ที่เหมาะสมต่อการอยู่รวมกันบนพื้นฐานของความหลากหลายในความเป็นพหุสังคมของพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ นำทีมโดยนายชาญเชาวน์ ไชยานุกิจ รองปลัดกระทรวงยุติธรรม และน.ส.รื่นวดี สุวรรณมงคล อธิบดีกรมคุมประพฤติ พร้อมคณะผู้บริหาร อาสาสมัครคุมประพฤติ เครือข่ายยุติธรรมชุมชน กรรมการอิสลามประจำจังหวัดทั้ง 5 จังหวัดชายแดนใต้ ตลอดจนผู้แทนจาก ศอ.บต. และป.ป.ส.ภาค 9 ได้จัดเวทีสรุปผลและถอดบทเรียนการทำงานยุติธรรมชุมชนในโครงการเสริมสร้างความยุติธรรม 5 จังหวัดภาคใต้ ซึ่งการประชุมและการทำเวิร์คช็อบในครั้งนี้มีภาคประชาชนเข้าร่วมประชุมกำหนดแผน กำหนดการใช้เงินงบประมาณ และประเมินผล

และจากการทำเวิร์กชอปในครั้งนี้ถือเป็นการทำงานมิติใหม่ ซึ่งกระทรวงยุติธรรมโดยกรมคุมประพฤติได้ให้ความสำคัญในการแก้ปัญหาความยุติธรรมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะการเข้าสู่กระบวนการสันติวิธี ซึ่งมุ่งเน้นไปที่เน้นการทำงานของอาสาสมัครคุมประพฤติและเครือข่ายยุติธรรมชุมชน ไม่ว่าจะเป็นการหาข้อมูลข้อเท็จจริงเกี่ยวกับผู้ที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิด กระทั่งต่อมาได้ถูกพิพากษาว่ากระทำความผิดแล้ว ซึ่งกรมคุมประพฤติจะทำหน้าที่ในการที่จะให้ชุมชนเข้ามาดูแลบุคคลที่ศาลให้โอกาสผู้ที่ทำความผิดกลับตัวเป็นคนดีและกลับคืนสู่สังคม

ทั้งนี้ การแก้ไขปัญหาความยุติธรรมในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ ณ ขณะนี้ยังคงเป็นเพียงนามธรรม ซึ่งความเป็นรูปธรรมนั้นคงต้องใช้เวลาและไม่สามารถระบุห้วงเวลาได้ว่าจะสำเร็จหรือสมบูรณ์เมื่อไหร่ เพราะวิถีชีวิตของคนในพื้นที่นั้นถือได้ว่ายากต่อการปรับเปลี่ยนทัศนคติ ทั้งด้านความเชื่อ หรือหลักศาสนา แม้แต่ความเชื่อมั่นที่ประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้มีต่อหน่วยงานภาครัฐ กระทรวงยุติธรรม ที่ประชาชนคนพื้นที่ยังไม่เข้าใจอย่างท่องแท้ เช่นความเชื่อมั่นในการบังคับใช้กฎหมาย ซึ่งบางทีทางภาครัฐไม่เคยอธิบายให้ประชาชนทราบถึงการบังคับใช้กฎหมายว่าทำไมพื้นที่ดังกล่าวถึงต้องใช้กฎหมายพิเศษ ไม่เหมือนกับคนที่อยู่นอกพื้นที่ โดยมี 3 กฎที่ประกาศใช้ในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้คือ 1. กฎอัยการศึก คือให้อำนาจภาครัฐสามารถควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยมาสอบข้อเท็จจริง หาข้อสงสัย หรือหาข้อมูลได้ 7 วัน 2. พ.ร.ก.สถานการณ์ฉุกเฉิน ให้อำนาจในการเชิญตัวมาให้ข้อเท็จจริงได้ 30 วัน และ 3. พ.ร.บ.ความมั่นคง เฉพาะในพื้นที่ 3 จังหวัด กับอีก 4 อำเภอ

ด้วยเหตุดังกล่าวกระบวนการยุติธรรมที่จะแก้ปัญหา โดยให้มีประชาชนในพื้นที่เข้ามามีส่วนร่วม ถือเป็นยุทธศาสตร์ใหม่ ที่จะบูรณาการ 2 ส่วน คือ ภาครัฐ และคนในท้องที่บริหารความยุติธรรมร่วมกัน แต่นั่นคงยังเป็นนามธรรม ซึ่งคงต้องใช้เวลากว่าจะปรับทัศนคติและเปลี่ยนแปลงความเชื่อของคนในพื้นที่ ให้ยอมรับกติกาแห่งความเสมอภาคร่วมกัน...
กำลังโหลดความคิดเห็น