รมว.ยุติธรรม นำร่องใช้กำไลอิเล็กทรอนิกส์คุมเด็กแว้น พ.ย.นี้ เช่าเครื่องส่งตรงจากแดนโสม ล็อตแรก 200 เครื่อง อธิบดีราชทัณฑ์เผยหลังใช้ 6 เดือน จ่อขยายผลใช้กำไล 4 กลุ่มนักโทษ หวังลดจำนวนผู้ต้องขังล้นคุก
เมื่อเวลา 09.30 น.วันนี้ (21 ส.ค.) ที่กระทรวงยุติธรรม นายชัยเกษม นิติสิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม พร้อมด้วย นายสุชน ชาลีเครือ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม นายปิติพงศ์ เต็มเจริญ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม นายกิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ปลัดกระทรวงยุติธรรม พ.ต.อ.สุชาติ วงศ์อนันต์ชัย อธิบดีกรมราชทัณฑ์ และคณะผู้บริหารกระทรวงยุติธรรม แถลงความคืบหน้าในการนำเครื่องมือควบคุมด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์มาใช้กับเด็กและเยาวชนในระบบงานคุมประพฤติว่า เบื้องต้นจะเช่าใช้อุปกรณ์จำนวน 200 ชุด จากประเทศเกาหลี หรือ Korean GPS Tracking System ซึ่งอุปกรณ์ดังกล่าวมีคุณสมบัติน้ำหนักไม่เกิน 300 กรัม สามารถส่งข้อมูลแบบ GPRS หรือ GSM และสามารถใช้งานบนเทคโนโลยี GPS ได้กรณีที่อับสัญญาณ มีระบบการแจ้งเตือนแบบเรียลไทม์เมื่อเกิดเหตุกับอุปกรณ์ เช่น แบตเตอรี่เหลือน้อย หรือใกล้หมดเมื่อออกจากพื้นที่ที่กำหนด พื้นที่ควบคุม พื้นที่ห้ามเข้าหรือห้ามออก หรือถูกถอดออกโดยไม่ใช้เครื่อง โดยกลางเดือนพฤศจิกายนนี้ กรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจะนำมาทดลองใช้กับกลุ่มเด็กที่มีความเสี่ยงสูงจำนวน 200 ราย ที่มีความผิดใน พ.ร.บ.จราจร หรือในกลุ่มเด็กแว้น เพื่อให้เด็กสามารถใช้ชีวิตอยู่กับครอบครัวและสังคมได้ตามปกติ
พ.ต.อ.สุชาติ กล่าวถึงการนำเครื่องมือควบคุมด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ มาใช้กับผู้ต้องขังว่า ปัจจุบันจำนวนผู้ต้องขังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนทำให้เกิดปัญหานักโทษล้นคุก โดยกรมราชทัณฑ์มีข้าราชการประมาณ 11,000 คน ในขณะที่มีจำนวนนักโทษถึง 270,000 บาท เท่ากับผู้คุม 1 คนต้องดูแลนักโทษ 50 คน ทั้งที่ตามมาตรฐานสากลสัดส่วนการดูแลนักโทษจะอยู่ที่ 1:5 เท่านั้น ดังนั้นการใช้เครื่องมือควบคุมด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ (EM) มาใช้จึงเป็นทางเลือกหนึ่ง
พ.ต.อ.สุชาติ กล่าวต่อว่า หลังจากกรมคุมประพฤติและกรมพินิจฯ ได้ทำการทดลองใช้กับเด็กและเยาวชนเป็นเวลา 6 เดือนแล้ว กรมราชทัณฑ์จะขยายผลเพื่อนำมาใช้กับผู้ต้องขัง 4 กลุ่ม ประกอบด้วย 1.ผู้ต้องขังจำคุกที่จะถึงอันตรายแก่ชีวิตถ้าจะต้องจำคุก กรณีผู้ป่วยเอดส์ระยะสุดท้าย ไตวายเรื้อรัง มะเร็งระยะสุดท้าย 2.ผู้ต้องขังจำคุกจำเป็นต้องเลี้ยงบิดามารดา สามี ภรรยา บุตร ที่พึ่งพาตัวเองไม่ได้ และขาดผู้อุปการะ 3.ผู้ต้องขังเจ็บป่วยเรื้อรัง ที่ต้องได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่อง และต้องออกไปรับการรักษาภายนอก เช่น ฟอกไต หรือฉายรังสีทุกสัปดาห์ และ 4.ผู้ต้องขังจำคุกที่มีเหตุอันควรได้รับการทุเลาการบังคับ เช่น วิกลจริต เพิ่งคลอดบุตร หรือตั้งครรภ์
พ.ต.อ.สุชาติ กล่าวอีกว่า แม้ทางกรมราชทัณฑ์จะมีโรงพยาบาลเพื่อรักษานักโทษ โดยเฉพาะทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ ซึ่งสามารถเปิดรับรักษานักโทษได้ถึง 500 เตียง และเปิดใช้งานจริงได้เพียง 250 เตียง และมีแพทย์ประจำเพียง 20 คน จากความต้องการแพทย์ประจำทั้งหมด 50 คน จึงทำให้การดูแลนักโทษที่เจ็บป่วยไม่ทั่วถึง สำหรับเรือนจำจังหวัดทั่วประเทศนั้นก็สามารถส่งนักโทษผู้ต้องขังเข้าไปรักษาที่โรงพยาบาลจังหวัด และโรงพยาบาลอำเภอได้ แต่เนื่องจากโรงพยาบาลดังกล่าวไม่มีห้องพักพิเศษที่ควบคุมนักโทษเฉพาะ จึงเกรงจะมีปัญหาเรื่องนักโทษหลบหนีออกไป
อธิบดีกรมราชทัณฑ์กล่าวว่า กรณีที่นักโทษป่วยและต้องแอดมิด ตามปกติเรือนจำต้องส่งผู้คุม 2 คนไปดูแลผู้ต้องขังป่วย 2 คน จึงทำให้กำลังเจ้าหน้าที่ที่มีอยู่ไม่พอ จึงประสานไปยัง นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ขอให้มีการสร้างห้องพิเศษสำหรับควบคุมนักโทษที่ป่วยในโรงพยาบาลจังหวัดและอำเภอ ซึ่งทางสาธารณสุขไม่มีปัญหา และขณะนี้หลายแห่งได้ตอบรับมาแล้ว