เลขาฯ ปปง.แถลงผลงานครบรอบ 14 ปี ยึด-อายัดทรัพย์กว่า 7,000 ล้าน ระบุหากนำมาตรการการป้องกันและปราบปรามฟอกเงินมาแก้ปัญหาการฟอกเงินและการก่อการร้ายมาใช้อย่างมีประสิทธิภาพจะทำให้เงินนอกระบบ 120,000 ล้านบาท กลับเข้าสู่ระบบได้ ลั่นบริหารความเสี่ยงโดยเน้นตรวจสอบบ่อน
เมื่อเวลา 11.00 น.วันนี้ (19 ส.ค.) ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดงานวันคล้ายวันสถาปนาครบรอบ 14 ปี สำนักงาน ปปง. โดยมีนายสุชน ชาลีเครือ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม นายปิติพงศ์ เต็มเจริญ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ร่วมเป็นเกียรติ พ.ต.อ.ดร.สีหนาท ประยูรรัตน์ เลขาธิการ ปปง. กล่าวถึงผลงานการดำเนินงานปราบปรามการฟอกเงินของ ปปง.ที่ผ่านมาว่า มีการยึดและอายัดทรัพย์สินจนถึงวันนี้มีมูลค่ามากกว่า 7,000 ล้านบาท จากเดิมที่มี 4,000 กว่าล้าน ซึ่ง ปปง.ดำเนินการยึดทรัพย์สินในช่วงปีที่ พ.ศ. 2554-2555 เป็นระยะเวลาประมาณปีเศษรวมมูลค่ากว่า 2,700 ล้านบาท โดยมีมาตรการนำกฏหมายใหม่ออกมาบังคับใช้ซึ่งได้มีการขยายมูลฐานความผิดออกไปถึง 25 มูลฐาน เช่น เรื่องคดีที่เกี่ยวกับทรัพย์ คดีประทุษร้ายชีวิต คดีทรัพย์สินทางปัญญา คดีทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้นอกจากกฏหมาย 2 ฉบับที่ออกมาแล้ว ยังมีกฎกระทรวงว่าด้วยการตรวจสอบเพื่อทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับลูกค้า ซึ่งเป็นมาตรการให้สถาบันการเงินและผู้มีหน้าที่รายงานธุรกรรมเข้ามาให้ความร่วมมือป้องกันการฟอกเงิน
พ.ต.อ.สีหนาทกล่าวต่อว่า จากข้อมูลผลการประเมินความเสี่ยงประเทศไทย สืบเนื่องจากเมื่อปี 2553-2554 ประเทศไทยได้เข้าร่วมในโครงการความร่วมทางวิชาการในเรื่องการป้องกันการฟอกเงินและการก่อร้ายกับกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือไอเอ็มเอฟ ซึ่งได้จัดทำโครงการประเมินความเสี่ยงประเทศไทยนั้น ในภาพรวมปรากฏว่าประเทศไทยพบว่าในช่วงปี 2554 ยังคงมีความเสี่ยงในการฟอกเงิน ซึ่งเกิดก่อน FATF จะประกาศปลดล๊อคประเทศไทย อย่างไรก็ตาม ผลการประเมินความเสี่ยงดังกล่าว ปปง.ได้นำการประเมินมาเป็นช่องทางในการแก้ไขการฟอกเงินและการก่อการร้ายในประเทศไทย
ทั้งนี้ จากสถิติในประเทศไทยเราเคยสงสัยและคาดการณ์ว่ามีเงินที่ฟอกอยู่ในระบบจำนวนเท่าไร ซึ่งจากการวิจัยของปปง. ในรูปของคณะกรรมการร่วมทั้งภาคเอกชนและภาครัฐทำงานด้วย หากประเทศไทยเทียบจากผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) ของปี 2554 มีจำนวน 960,000 ล้านบาท นั้น พบว่ามีปริมาณเงินที่ฟอกอยู่ในระบบ 12.16 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเป็นจำนวนเงินทั้งหมด 120,000 ล้านบาท ทั้งนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่าการฟอกเงินว่าความผิดมูลฐานที่ทำให้ได้มาซึ่งเงินมากกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ ได้มาโดยการกระทำความผิดเกี่ยวกับการพนัน ดังนั้นจึงเป็นที่มาการกำหนดนโยบายการแก้ไขปัญหาการฟอกเงินได้
อย่างไรก็ตาม หากสามารถนำมาตรการการป้องกันและปราบปรามฟอกเงินมาแก้ปัญหาการฟอกเงินและการก่อการร้ายมาใช้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลก็จะทำให้นำจำนวนเงินนอกระบบ 120,000 ล้านบาท กลับเข้าสู่ระบบได้ก็จะเป็นเงินงบประมาณแผ่นดินเพื่อใช้เป็นประโยชน์กับประเทศโดยรวมสำหรับประชาชนทุกคนและพัฒนาบ้านเมืองในเรื่องต่างๆต่อไป ไม่ใช่การสร้างประโยชน์หรือความร่ำรวยให้คนเฉพาะกลุ่มที่ทำผิดกฎหมาย
เลขาธิการ ปปง.กล่าวว่า จากการที่ได้รับทราบข้อมูลว่าการกระทำผิดเล่นพนันตามมูลฐานฟอกเงินเป็นมูลค่าเกินครึ่งของประเภทเงินกระทำผิดที่ถูกนำมาฟอกในระบบ เช่น บ่อนเตาปูน และอีกหลายบ่อน ดังนั้นต่อจากนี้จะบริหารความเสี่ยงโดยจะเน้นตรวจสอบบ่อน
ส่วนกรณีที่ปีนี้ ปปง.เน้นเรื่องปัญหาเหยื่อค้ามนุษย์นั้น เลขาธิการ ปปง.กล่าวว่า ปัญหาเรื่องการค้ามนุษย์ยังเป็นเรื่องที่ติดล็อกอยู่ ซึ่งเป็นปัญหาเฉพาะระหว่างประเทศไทยกับสหรัฐฯ เนื่องจากถูกสหรัฐอเมริกาจับตามอง