xs
xsm
sm
md
lg

บช.ก.ผุดไอเดีย “ชมรมยุวชนตำรวจ”

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

พล.ต.ท.พงศ์พัฒน์ ฉายาพันธุ์ ผบช.ก. เดินทางมามอบนโยบายโครงการ “ชมรมยุวชนตำรวจ” (Juvenile Cop Association) แก่ตำรวจชั้นประทวนสังกัด บก.ป.และ บก.ปปป.โดยมี พล.ต.ต.สุพิศาล ภักดีนฤนาถ ผบก.ป. พล.ต.ต.ศุภธัช คำดี ผบก.ปปป. พ.ต.อ.อธิป แท่นนิล ผกก.ปพ.บก.ป.และ ผกก.1-6 บก.ป.เข้าร่วมด้วย
ผบช.ก.ผุดไอเดีย “ชมรมยุวชนตำรวจ” ส่งชั้นประทวนเข้าไปตามโรงเรียน ปลูกฝั่ง นร.สร้างสิ่งดี ป้องกันปัญหาอาชญากรรม

วันนี้ (15 ส.ค.) ที่กองปราบปราม เมื่อเวลา 08.30 น. พล.ต.ท.พงศ์พัฒน์ ฉายาพันธุ์ ผบช.ก. เดินทางมามอบนโยบายโครงการ “ชมรมยุวชนตำรวจ” (Juvenile Cop Association) แก่ตำรวจชั้นประทวนสังกัด บก.ป.และ บก.ปปป.โดยมี พล.ต.ต.สุพิศาล ภักดีนฤนาถ ผบก.ป. พล.ต.ต.ศุภธัช คำดี ผบก.ปปป. พ.ต.อ.อธิป แท่นนิล ผกก.ปพ.บก.ป.และ ผกก.1-6 บก.ป.เข้าร่วมด้วย

พล.ต.ท.พงศ์พัฒน์กล่าวถึงที่มาของโครงการนี้ว่า ปัจจุบันประเทศไทยกำลังประสบปัญหาต่างๆ มากมาย เช่น สังคมมีความขัดแย้งในด้านต่างๆ อย่างรุนแรง สถิติคดีอาชญากรรมเพิ่มมากขึ้น ความปลอดภัยในชีวิต คุณภาพชีวิตของประชาชนต่ำลง เช่น จากสถิติพบว่าเกิดคดีฆาตกรรมด้วยอาวุธปืน ในประเทศไทยสูงเป็นอันดับหนึ่งของโลก หากสถานการณ์เหล่านี้ไม่ได้รับการแก้ไขด้วยวิธีที่ถูกต้อง ปัญหาก็จะยิ่งเลวร้ายไปมากกว่านี้ บช.ก. ในฐานะฝ่ายอำนวยการของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จึงมีหน้าที่เสนอแนะด้านยุทธศาสตร์ รวมทั้งคิดค้น หาแนวทางการทำงานแบบใหม่ที่เหมาะสมและแก้ไขสถานการณ์ให้ดีขึ้นได้

พล.ต.ท.พงศ์พัฒน์กล่าวว่า ที่ผ่านมา บช.ก.ได้ดำเนินการมาตลอด จนประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง เช่น การผลักดันเรื่องตำรวจผู้รับใช้ชุมชน (Community Policing) จนได้รับการบรรจุไว้ในยุทธศาสตร์ 10 ปี ของ ตร.นับตั้งแต่ปี 2554 เป็นต้นมา อย่างไรก็ตาม บช.ก.ยังต้องพัฒนา เสนอแนวทางการทำงานที่สอดคล้องกับสภาพปัญหาและอาชญากรรมที่กำลังทำร้ายสังคมและคนไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับเด็กและเยาวชน ที่กำลังได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงอย่างต่อเนื่อง” พล.ต.ท.พงศ์พัฒน์กล่าว

ผบช.ก.กล่าวต่อว่า จากการศึกษาข้อมูลทางวิชาการพบว่า ประมาณร้อยละ 33 ของเด็กและเยาวชนที่ถูกปล่อยปละละเลย เมื่อโตขึ้นจะเข้าไปเกี่ยวข้องกับอาชญากรรม ดังนั้น ตำรวจต้องเข้าไปปกป้องคุ้มครองอย่างจริงจัง ซึ่งถือเป็นความพยายามในการลดอาชญากรรมที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต อีกทั้งยังสามารถใช้เป็นทางเชื่อมไปสู่ผู้ใหญ่ โดยอนาคตหากแต่ละโรงเรียนมี “ลุงตำรวจใจดี อาตำรวจคนเก่ง พี่ตำรวจคนดี” อยู่ในใจของเด็กและเยาวชนได้ เราก็มีหวังที่จะเห็นสิ่งดีๆ เกิดขึ้นกับสังคม และต่อวงการตำรวจด้วย

พล.ต.ท.พงศพัฒน์กล่าวอีกว่า โครงการดังกล่าวเริ่มจากการให้ตำรวจชั้นประทวนในสังกัดทุกนาย จัดทำข้อมูลส่วนตัว เช่น ประวัติส่วนตัว การปฏิบัติหน้าที่ ความคิดเห็นต่อการทำงาน ฯลฯ และเลือกจับคู่กันตามความสมัครใจ ส่วนพื้นที่ตั้งแต่ จ.ประจวบคีรีขันธ์ ลงไปให้จับกลุ่มกันอย่างน้อย 3 คน แล้วคัดเลือกไปประจำยังโรงเรียนเป้าหมายที่สะดวกกับในแต่ละกลุ่ม จากนั้นให้เข้าไปปฏิบัติหน้าที่ยังโรงเรียนที่อยู่ใกล้ที่ทำงาน ใกล้ที่พัก โรงเรียนที่มีบุตรหลายกำลังศึกษาอยู่ หรือเป็นโรงเรียนที่มีความคุ้นเคย โดยเข้าไปประสานงานกับครู อาจารย์ ในลักษณะค่อยเป็นค่อยไป สร้างความคุ้นเคยไว้วางใจให้เกิดขึ้นกับครู อาจารย์ และนักเรียน

“โครงการดังกล่าวไม่ใช่การดำเนินการตามรูปแบบเดิม ที่มักจะให้ตำรวจเข้าไปพูดหน้าชั้นเรียน หรือเป็นวิทยากร ชี้นำนักเรียนให้ทำอย่างนั้นอย่างนี้ แต่ตำรวจจะเป็นผู้แนะนำ ถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ที่พบเห็น ชักนำ กระตุ้นให้เด็กและเยาวชนรวมพลัง ให้เริ่มคิด เริ่มทำกิจกรรมที่ดีๆ จากตัวเอง หรืออาจอ้างอิงหลักการบางส่วนของลูกเสือ มาผสมผสาน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เด็กนักเรียนทำสิ่งดีๆ ด้วยตนเอง” ผบช.ก.กล่าว

พล.ต.ท.พงศ์พัฒน์กล่าวด้วยว่า ตำรวจที่เข้าไปดำเนินโครงการจะทำหน้าที่คอยแนะนำ ประคับประคอง เช่น รักษาความสะอาดในโรงเรียน ลบรอยขีดเขียนบนผนังกำแพง ห้องน้ำ หรือซ่อมแซมสิ่งของต่างๆ ในโรงเรียนที่พังเสียหาย หรือทำกิจกรรม 5 ส. เป็นต้น โดยตำรวจที่เข้าไปในโรงเรียนจะต้องไม่แตะต้องตัวเด็ก และไม่นำการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องโดยเด็ดขาด สำหรับโครงการดังกล่าว ทุก บก.ในสังกัด บช.ก.จะเริ่มดำเนินการในทันที






กำลังโหลดความคิดเห็น