กองปราบร่วมกับ รองโฆษก ปชป.เปิดโครงการตำรวจผู้รับใช้ชุมชนวัดสวัสดิ์วารีฯ เพื่อแก้ไขปัญหาอาชญากรรม และยาเสพติด ในชุมชน
วันนี้ (19 ก.ค.) เมื่อเวลา 09.30 น. พ.ต.อ.อธิป แท่นนิล ผกก.ปพ.บก.ป.พร้อมกำลังเจ้าหน้าที่ ร่วมกับ น.ส.จิตภัสร์ ภิรมย์ภักดี รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ลงพื้นที่ชุมชนที่วัดสวัสดิ์วารีสีมาราม แขวงถนนนครไชยศรี เขตดุสิต กทม.เพื่อเปิดที่ทำการ ตามโครงการ “ตำรวจผู้รับใช้ชุมชน” โดยมี นางนัยนา หรือ หน่อย ยลจอหอ อายุ 53 ปี ประธานชุมชนวัดสวัสดิ์วารีสีมาราม รวมทั้งกรรมการชุมชนทั้ง 7 คน และประชาชนในชุมชนดังกล่าว ให้การต้อนรับ โดยวัตถุประสงค์ในการดำเนินโครงการนี้ เพื่อให้ตำรวจได้ลงพื้นที่เข้าไปคลุกคลีกับชาวชุมชน เพื่อรับทราบปัญหาและความต้องการ ลดความหวาดระแวง ซึ่งเป็นไปตามนโยบาย Community Policing ของ พล.ต.ท.พงศ์พัฒน์ ฉายาพันธุ์ ผบช.ก.ซึ่งกำหนดยุทธศาสตร์ในการแก้ปัญหาอาชญากรรม ปัญหายาเสพติด และปัญหาอื่นๆ ในระดับชุมชน
พ.ต.อ.อธิป กล่าวว่า การดำเนินโครงการดังกล่าวเป็นไปตามแนวคิด ผบช.ก.และยังเป็นการสนองนโยบายของ พล.ต.ต.สุพิศาล ภักดีนฤนาถ ผบก.ป.ในการลงพื้นที่ชุมชน 1 วันต่อสัปดาห์ โดยไม่ต้องเข้าที่ทำงาน (Office Out) เป็นการลดการใช้พลังงานอีกด้วย สำหรับโครงการตำรวจผู้รับใช้ชุมชน ทาง กก.ปพ.บก.ป.ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่ปี 2553 จนถึงขณะนี้ก็มีจำนวนกว่า 100 ชุมชนแล้ว โดยทาง ผบช.ก.ได้กำชับเจ้าหน้าที่ทุกนาย ในสังกัด บช.ก.ในการดำเนินการตามโครงการดังกล่าว ซึ่งจะมีการแบ่งพื้นที่และขอบเขตความรับผิดชอบ ที่ผ่านมาก็ถือว่าได้รับการตอบรับอย่างดีจากชาวบ้านในชุมชนต่างๆ
ด้าน นางนัยนา กล่าวว่า ชุมชนแห่งนี้ก่อตั้งมากว่า 10 ปีแล้ว แต่เริ่มมีการเลือกตั้งคณะกรรมการชุมชนขึ้นมาเมื่อประมาณปี 2535 โดยได้รับความช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่ฝ่ายพัฒนาชุมชน สำนักงานเขตดุสิต สำหรับพื้นที่ชุมชนมีขนาดประมาณ 2 ไร่ มีที่พักอาศัย 127 หลังคาเรือน จำนวนประชากรประมาณ 600 คน ที่ผ่านมาการทำกิจกรรมต่างๆ ก็จะได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน มาโดยตลอด แต่สิ่งที่เป็นปัญหาใหญ่ ซึ่งยังต้องแก้ไขกันอย่างต่อเนื่องต่อไป คือ ปัญหายาเสพติด และปัญหาสภาพแวดล้อมโดยรอบชุมชน โดยหลังจากมีโครงการนี้ และมีตำรวจ บก.ป.2 นาย เข้ามาทำงานร่วมกับชาวบ้านในชุมชน ก็ทำให้ปัญหาต่างๆ คลี่คลายลงไปได้มาก เมื่อชุมชนมีกิจกรรมใดต้องประสานขอการสนับสนุน ทั้งกำลังเจ้าหน้าที่และงบประมาณ ก็ได้รับความร่วมมืออย่างดี ถือว่าทางตำรวจได้เข้ามาช่วยพัฒนาชุมชนอย่างมาก ก็อยากให้มีต่อไปเรื่อยๆ
“ครั้งแรกฉันคิดว่า โครงการดังกล่าวน่าจะเข้ามาทำแค่เพียงปีสองปี ก็คงยกเลิกไป แต่ก็เห็นความตั้งใจของตำรวจที่เข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาต่างๆ และผ่านมากว่า 3 ปี ก็ยังมีตำรวจเข้ามาดำเนินการอยู่จึงรู้สึกอุ่นใจ จริงๆ แล้วปัญหาเรื่องยาเสพติดนั้น ในส่วนของชาวชุมชนดูแลกันได้ เราไม่ยอมให้เด็กและเยาวชนซึ่งเป็นลูกหลานของเราติดยา แต่ขณะนี้มีคนนอกที่เข้ามาอาศัยพื้นที่ชุมชนเราเป็นแหล่งมั่วสุม จุดนี้ก็คงต้องแก้ปัญหากันต่อไป” นางนัยนา กล่าว