เปิดคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ยกฟ้องคดี “ทักษิณ” ฟ้อง “สนธิ-สโรชา” ข้อหาหมิ่นประมาท ชี้พฤติการณ์และพยานแวดล้อมต่อเนื่องหลายกรรมหลายวาระ ชี้ชัด “ทักษิณ” จาบจ้วงเบื้องสูง ขณะที่ “สนธิ” ติชมโจทก์ด้วยความเป็นธรรม ในฐานะพสกนิกรที่จงรักภักดี ไม่เข้าข่ายหมิ่นประมาท
จากกรณีที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องคดีหมายเลขดำ อ.3323/2550 ที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่อยู่ระหว่างการหลบหนีคำพิพากษาของศาลในคดีที่ดินรัชดา มอบอำนาจให้นายสมบูรณ์ คุปติมนัส โดย นายสรรพวิชช์ คงคาน้อย ผู้รับมอบอำนาจช่วง เป็นโจทก์ฟ้อง นายสนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) นางสาวสโรชา พรอุดมศักดิ์ อดีตผู้ดำเนินรายการทางสถานีโทรทัศน์ ASTV นั้น
“ASTVผู้จัดการออนไลน์” พบว่า ในคำพิพากษาโดยละเอียดของศาลอุทธรณ์มีความน่าสนใจยิ่ง โดยเฉพาะพฤติการณ์ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ต่อข้อกล่าวหาจาบจ้วงเบื้องสูง
ทั้งนี้ คดีนี้เกิดขึ้นจาก พ.ต.ท.ทักษิณ ที่เห็นว่ารายการยามเฝ้าแผ่นดิน ที่ดำเนินรายการโดยนายสนธิ และ น.ส.สโรชา ซึ่งออกอากาศเมื่อวันที่ 24 ส.ค.2550 ซึ่งขณะนั้นนำเสนอเทปที่นายสนธิได้พูดถึงนายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย อดีตรองนายกรัฐมนตรี สมัยรัฐบาลของ พ.ต.ท.ทักษิณ บอกกับนายสนธิ ถึงสาเหตุที่ถอนตัวออกจากรัฐบาลทักษิณ เพราะรับไม่ได้ที่หลังการยึดอำนาจของคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) เมื่อวันที่ 19 ก.ย. 2549 ตลอดเวลา 8 ชั่วโมงที่อยู่ร่วมกับ พ.ต.ท.ทักษิณ อดีตนายกรัฐมนตรี ได้พูดจาจาบจ้วงสถาบันเบื้องสูงตลอดเวลา
5 ปีผ่านไป คดีนี้ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 17 พ.ค. 2555 พิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยทั้งสองคนละ 6 เดือน ปรับ 2 หมื่นบาท โทษจำคุกให้รอลงอาญา 2 ปี
ทว่า เมื่อ นายสนธิ และ น.ส.สโรชา ได้ยื่นอุทธรณ์ และต่อมาเช้าวันที่ 14 สิงหาคม 2556 ศาลอุทธรณ์จึงอ่านคำพิพากษา ประเด็นที่สำคัญคือ จำเลยคือ นายสนธิ และ น.ส.สโรชา หมิ่น นักโทษหนีคดี พ.ต.ท.ทักษิณ หรือไม่
จากการเบิกความตอบคำถามค้านทนายจำเลย ประกอบภาพถ่ายและเอกสารได้ความว่า “ในขณะที่โจทก์ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเมื่อระหว่างปี 2548 ถึง 2549 มีกรณีกล่าวหาว่าโจทก์พูดจาจาบจ้วงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ ฉบับวันอังคารที่ 27 ธันวาคม 2548 เอกสารหมายเลข ล.4 ในหน้าแรกพาดหัวข่าวว่า “ตอก แม้วจาบจ้วงพาดพิงถึงเบื้องสูงด้วยคำหยาบคาย แนะพบจิตแพทย์” และในฉบับเดียวกันบทความ เปลว สีเงิน หน้า 5 ได้กล่าวถึงโจทก์ว่า การที่โจทก์ใช้คำพูดว่า “เอะอะก็หาว่าผมไม่จงรักภักดี ปัดโธ่...ถ้านายกฯ ไม่จงรักภักดี แล้วผีที่ไหนจะจงรักภักดีวะ” นั้นเป็นการไม่บังควรและยังเป็นการเหยียบย่ำ ให้ความรู้สึกว่าหมิ่นแคลนมากกว่าการเทิดทูน ในหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ ฉบับวันอาทิตย์ที่ 5 กุมภาพันธ์ 2549 เอกสารหมายเลข ล.5 ในหน้าแรกพาดหัวข่าวว่า “ทักษิณเลยเถิดดึงเบื้องสูงยุ่งการเมืองรับสั่งคำเดียวกราบพระบาทลาออก แค่ในหลวงกระซิบ” รายละเอียดข่าวในหน้า 10 มีใจความตอนหนึ่งว่า “ในช่วงหนึ่งของรายการนายกฯ ทักษิณคุยกับประชาชน พ.ต.ท.ทักษิณได้อ้างถึงในหลวงอย่างไม่เหมาะสม และได้สร้างความไม่สบายใจให้กับหลายฝ่ายหลังจากเขากล่าวจบ “พี่น้องครับ วันนี้ผมรู้ว่าคนส่วนใหญ่ยังอยากให้ผมทำงาน เพราะฉะนั้นผมลาออกไม่ได้ ผมทรยศกับคนที่ต้องการให้ผมทำงานไม่ได้ ถ้าคนส่วนใหญ่ไม่เอาผมอีกเรื่องหนึ่ง คนที่จะให้ผมลาออกจากตำแหน่งนายกฯ ได้ ไม่ต้องหลายคนเลยครับ คนเดียวให้ออกได้เลยนั่นคือพระเจ้าอยู่หัว ถ้าพระเจ้าอยู่หัวกระซิบผมรับสั่งคำเดียว ทักษิณออกเถอะ รับรองกราบพระบาทออกแน่นอนครับ...” “...การอ้างให้ในหลวงมากระซิบลาออก จึงจะลาออกนั้นเป็นประเด็นที่สร้างความไม่พอใจให้กับสังคมในวงกว้าง มีการวิพากษ์วิจารณ์ พ.ต.ท.ทักษิณ ว่าไม่รู้ที่สูงที่ต่ำ เหมือนครั้งที่เคยกล่าวกับคนขับแท็กซี่ที่สนามกีฬาหัวหมากช่วงปีใหม่ว่า “นายกฯ ไม่จงรักภักดี แล้วผีที่ไหนจะจงรักภักดีวะ” ในหนังสือพิมพ์สยามรัฐ ฉบับวันศุกร์ที่ 30 มิถุนายน 2549 เอกสารหมายเลข ล.6 ในหน้าแรกพาดหัวข่าวว่า “ทักษิณแฉบุคคลมากบารมีจ้องล้มกระดาน ตั้งรัฐบาลชั่วคราวแก้ รธน.” และในหน้า 9 มีข้อความตอนหนึ่งว่า “ที่ทำเนียบรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร รักษาการนายกฯ กล่าวในการเป็นประธานการประชุมมอบนโยบายปฏิบัติราชการให้แก่หัวหน้าส่วนราชการในตอนหนึ่งว่า วันนี้ความวุ่นวายเกิดจากหลายอย่าง เมื่อใดองค์กรตามปกติถูกองค์กรที่อยู่นอกระบบครอบงำหรือมีอิทธิพลมากกว่า องค์กรปกตินั้นวุ่นวาย หรือถ้าจะแปลชัดๆ คือ บุคคลซึ่งดูเหมือนมีบารมีนอกรัฐธรรมนูญเข้ามาวุ่นวายองค์กรที่มีในระบบรัฐธรรมนูญมากไป ไม่เคารพกติกา หลายฝ่ายหลายองค์กรไม่ทำหน้าที่ของตัวเองตามหน้าที่ที่ต้องทำ นอกจากนี้ยังปรากฏภาพข่าวของหนังสือพิมพ์หมายเอกสารหมาย ล.7 รวม 5 แผ่น ว่า ในการพบประชาชนของโจทก์ในหลายโอกาส ประชาชนผู้มารอต้อนรับโจทก์ได้ถือธงไตรรงค์โดยในธงไตรรงค์บางส่วนมีคำว่า “ทรงพระเจริญ” อยู่ด้วย ซึ่งเป็นที่ทราบโดยทั่วไปว่าธงไตรรงค์ที่มีคำว่า “ทรงพระเจริญ” อยู่ด้วยนี้ จะใช้ในการเฝ้ารับเสด็จฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว หรือพระบรมวงศานุวงศ์เท่านั้น จะไม่ใช้กับสามัญชนดังเช่นโจทก์ ได้ความต่อมาว่า เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ได้ทำการยึดอำนาจการปกครองทำให้โจทก์พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี จากนั้นได้เกิดกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการ (นปก.) ซึ่งเรียกกันทั่วไปว่ากลุ่มคนเสื้อแดง รวมตัวกันเพื่อสนับสนุนโจทก์และเรียกร้องให้นำประชาธิปไตยกลับคืน ซึ่งนายสรรพวิชช์ ก็เบิกความตอบทนายจำเลยที่ 1 และที่้ 2 ถามค้านว่าโจทก์ได้โฟนอินเข้ามาให้กำลังใจกลุ่ม นปก.อยู่ตลอดเวลา และในการชุมนุมของกลุ่ม นปก.แต่ละครั้งจะมีภาพถ่ายของโจทก์อยู่เสมอ ตามตัวอย่างภาพถ่ายหมาย ล.29 และเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2550 กลุ่ม นปก.ได้รวมตัวกันบริเวณหน้าบ้านพักของ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี เพื่อแสดงความไม่พอใจต่อบทบาท และการทำหน้าที่ของพลเอกเปรมโดยในวันดังกล่าวมีเหตุการณ์ที่กลุ่ม นปก.ฝ่าด่านกั้นของเจ้าพนักงานตำรวจ และใช้กำลังต่อสู้ขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานตำรวจด้วย ตามภาพข่าวเอกสารหมาย ล.15 ซึ่งตามประเพณีการปกครองและตามรัฐธรรมนูญที่สืบต่อกันมาได้กำหนดให้พระมหากษัตริย์ทรงเลือกและแต่งตั้งประธานองคมนตรีและองคมนตรี ตลอดจนการให้ประธานองคมนตรีและองคมนตรีพ้นจากตำแหน่งตามพระราชอัธยาศัย ทั้งประธานองคมนตรีและองคมนตรีมีหน้าที่หลักเพียงถวายความเห็นต่อพระมหากษัตริย์ในพระราชกรณียกิจทั้งปวงที่พระมหากษัตริย์ทรงปรึกษาเท่านั้น การที่กลุ่ม นปก.รวมตัวกันแสดงความไม่พอใจต่อพลเอกเปรม ผู้ดำรงตำแหน่งประธานองคมนตรีในขณะนั้น ย่อมทำให้เห็นได้ว่าเป็นการกระทำที่กระทบกระเทือนต่อเบื้องพระยุคลบาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวผู้ทรงแต่งตั้งพลเอกเปรมด้วย เมื่อโจทก์เป็นผู้ให้การสนับสนุน นปก.อยู่ จึงอาจทำให้คนทั่วไปคาดคิดได้ว่าโจทก์มีส่วนรู้เห็นในการกระทำของกลุ่ม นปก.ดังกล่าว โดยภายหลังเกิดเหตุคดีนี้ปรากฏตามแผนผังโครงข่ายจาบจ้วงสถาบันเอกสารหมาย ล.34 ที่ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) นำออกเผยแพร่ว่าโจทก์มีส่วนเกี่ยวข้องกับกลุ่มบุคคลที่มีพฤติการณ์จาบจ้วงสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งสอดคล้องกับกรณีที่มีการกล่าวหาโจทก์ดังกล่าวมาแล้วทั้งหมดข้างต้น จากพฤติการณ์ของโจทก์ประกอบกับสภาพแวดล้อมและเหตุการณ์ต่างๆ ที่กล่าวมาย่อมมีเหตุผลเพียงพอที่จะทำให้พสกนิกรชาวไทย ซึ่งรวมถึงจำเลยที่ 1 ด้วย ที่มีจิตใจเลื่อมใสศรัทธาเคารพเทิดทูนและจงรักภักดีต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เห็นไปได้ว่าโจทก์กระทำการจาบจ้วงดูหมิ่นและต้องการโค่นล้มพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และโจทก์ทำตัวเหมือนพระเจ้าแผ่นดิน และทำตัวเหนือองคมนตรี การที่จำเลยที่ 1 กล่าวถ้อยคำต่อโจทก์ในลักษณะดังกล่าวข้างต้น จึงถือได้ว่าเป็นการแสดงความคิดเห็นหรือข้อความโดยสุจริตติชมด้วยความเป็นธรรม ซึ่งบุคคลหรือสิ่งใดอันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำ ไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 329(3) จำเลยที่ 2 ซึ่งนำวิดีโอเทปถ้อยคำของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวมาออกอากาศเผยแพร่ในรายการทางโทรทัศน์ จึงไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาทเช่นกัน ที่ศาลชั้นต้นพิพากษามานั้น ศาลอุทธรณ์ไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ข้อนี้ฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2”
“รู้สึกดีใจที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้อง ซึ่งคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ในวันนี้ได้ยืนยันสิ่งผมพูดและเข้าใจว่ามาจากพฤติการณ์และสิ่งแวดล้อมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งการมอบอำนาจให้ตัวแทนมายื่นฟ้องผมนั้น เห็นว่าเป็นสิทธิที่สามารถทำได้ แต่หากในขั้นตอนการสืบพยาน พ.ต.ท.ทักษิณ ซึ่งเป็นโจทก์ไม่ได้เดินทางมาตอบคำซักค้าน ก็จะทำให้ผมซึ่งถูกฟ้องเป็นจำเลยเสียสิทธิในการต่อสู้คดีในชั้นศาล จึงเห็นว่าหากเป็นเช่นนี้ศาลก็น่าจะมีคำพิพากษาให้ยกฟ้องได้” นายสนธิ กล่าวหลังจากฟังคำพิพากษา