xs
xsm
sm
md
lg

สตช.แถลงสถิติปราบปรามคดีอาชญากรรม 10 เดือน คดีวิ่งราวทรัพย์พุ่งพรวด

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


รองโฆษก สตช.แถลงภาพรวมสถิติการปราบปรามจับกุมคดีอาชญากรรมในรอบ 10 เดือน คดีวิ่งราวทรัพย์พุ่งพรวด ชี้ ผบ.ตร.สั่งเพิ่มกำลังตรวจเข้มจุดเสี่ยงเกิดเหตุ

วันนี้ (13 ส.ค.) ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) พ.ต.อ.อนุชา รมยะนันท์ และ พ.ต.อ.หญิง วิชญ์ชยากร ณิชาบวร รองโฆษก ตร.แถลงภาพรวมสถิติคดีอาชญากรรม 5 กลุ่ม ในช่วง 10 เดือนที่ผ่านมา ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.2555 - 31 ก.ค.2556 โดยระบุว่า ภาพรวมสถิติคดีอาชญากรรม กลุ่มที่ 1 คดีประเภทอุกฉกรรจ์สะเทือนขวัญ รับแจ้งทั้งหมด 4,033 คดี จับกุมได้ 2,558 คดี คิดเป็นร้อยละ 63.81 กลุ่มที่ 2 คดีประเภทประทุษร้ายต่อชีวิตร่างกายและเพศ รับแจ้งทั้งหมด 20,092 คดี จับกุมได้ 2,632 คดี คิดเป็นร้อยละ 60.1 กลุ่มที่ 3 คดีประทุษร้ายต่อทรัพย์สิน รับแจ้งทั้งหมด 40,051 คดี จับกุม 19,045 คดี คิดเป็นร้อย 45.14 กลุ่มที่ 4 คดีโจรกรรมรถและคดีลักทรัพย์ รับแจ้งทั้งหมด 25,710 คดี จับได้ 7,229 คดี คิดได้ร้อยละ 28 และ กลุ่มคดีที่ 5 คดีที่รัฐเป็นผู้เสียหาย จับกุมได้ทั้งสิ้น 460,547 คดี ผู้ต้องหา 547,310 คน

พ.ต.อ.อนุชา กล่าวว่า เมื่อเปรียบเทียบกับจำนวนประชากร พบว่าคดีที่เกี่ยวกับชีวิต ร่างกาย และเพศ คิดเป็นสัดส่วนต่อประชากร 100,000 คน เมื่อเปรียบเทียบกับ 3 ปีย้อนหลัง ซึ่งมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 22.29 พบว่ามีการลดลง ในขณะที่มีความผิดเกี่ยวกับทรัพย์มีอัตราการรับแจ้ง 61.18 คดี เมื่อเปรียบเทียบกับทั้งปีอยู่ที่ 80.51 คดี ถือว่าอยู่ในเกณฑ์เป้าหมาย และเมื่อดูถึงสถิติการป้องกันอาชญากรรม กลุ่มที่ 1 ถือว่ารับแจ้งลดลงร้อยละ 2.84 ส่วนกลุ่มที่ 2 รับแจ้งลดลงร้อยละ 4.24 คดีที่รับแจ้งมากที่สุด คือ คดีฆ่ากันตายร้อยละ 12 กลุ่มที่ 3 มีคดีรับแจ้งเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.63 เปอร์เซ็นต์ ส่วนคดีที่ทำให้ตัวเลขเพิ่มขึ้นคือ คดีวิ่งราวทรัพย์ที่เพิ่มขึ้นสูงแบบก้าวกระโดดถึงร้อยละ 25 ขณะที่คดีชิงทรัพย์เพิ่มขึ้นร้อยละ 19 คดีปล้นทรัพย์เพิ่มขึ้นร้อยละ 4 ทั้งนี้ สำหรับคดีวิ่งราวทรัพย์ถือว่ามีการพุ่งสูงมากขึ้นกว่าปกติ ทำให้ตัวเลขคดีกลุ่มนี้มีตัวเลขที่สูงขึ้นไปด้วย ซึ่งเหตุผลหนึ่งอาจเกิดมาจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติกำชับการดูแลความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ ทำให้พนักงานสอบสวนต้องรับคดีอย่างเต็มจำนวนตามความเป็นจริง กลุ่มที่ 4 มีการรับแจ้งที่ลดลงโดยเฉพาะคดีโจรกรรมรถจักรยานยนต์ลดลงร้อยละ 14 คดีโจรกรรมรถยนต์ลดลงร้อยละ 8 และกลุ่มที่ 5 พบว่ามีการจับกุมเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.91 คือคดีอาวุธปืนและยาเสพติด

รองโฆษก ตร.กล่าวว่า เมื่องมองในมิติด้านการปราบปรามพบว่า กลุ่มที่ 1 พบว่าผ่านตามเกณฑ์ กลุ่มที่ 2 พบว่าผลการจับกุมไม่ผ่านเกณฑ์ ซึ่ง พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผบ.ตร.ได้มีการสั่งกำชับกับผบช.ที่ร่วมประชุมให้เน้นมาตรการป้องกันปราบปรามและเพิ่มการกวดขันในจุดเสี่ยงและล่อแหลมโดยเฉพาะร้านสะดวกซื้อ ที่พบว่ามีปัญหาเพิ่มมากขึ้น และให้ทุกหน่วยที่ยังไม่ผ่านเกณฑ์เร่งรัดเร่งระดมการกวาดล้างจับกุมคดีค้างเก่าให้มากขึ้น และได้กล่าวชื่นชมต่อการควบคุมฝูงชนจากเหตุการณ์การชุมนุมที่ผ่านมาผลเป็นที่น่าพอใจ แต่ก็ยังมีจุดต่างๆ ที่ต้องปรับปรุง ซึ่ง ผบ.ตร.จะได้มีการประชุมเพื่อทบทวนแก้ไขข้อบกพร่องดังกล่าว นอกจากนี้ ผบ.ตร.ยังได้เน้นย้ำการป้องกันอาชญากรรมในสถานที่ท่องเที่ยวโดยได้มอบหมายให้ พล.ต.อ.วุฒิ ลิปตพัลลภ ที่ปรึกษา (สบ10) เป็นเจ้าภาพบูรณาการในเมืองท่องเที่ยวที่สำคัญ ได้แก่ ภูเก็ต พัทยา เชียงใหม่ เน้นย้ำเรื่องยาเสพติดและอาชญากรรมข้ามชาติ นอกจากนี้ระหว่างวันที่ 14-16 ส.ค.นี้ ได้มีการจัดสัมมนาหัวหน้าสถานีตำรวจทั้งประเทศโดยแบ่งเป็น 4 กลุ่ม โดยครั้งแรกจัดขึ้นที่ บช.ภ.8 จ.ภูเก็ต ขณะที่สัปดาห์นี้จัดขึ้นที่เมืองพัทยา โดยมีหัวหน้าสถานีในสังกัด บช.ภ.1, 2, 7 และ บช.น.เข้าร่วมสัมมนา ขณะที่ครั้งต่อไปจะจัดที่ จ.อุดรธานี และครั้งที่ 4 จัดที่ จ.เชียงใหม่ ทั้งนี้ ในการจัดสัมมนาดังกล่าวเพื่อให้หัวหน้าสถานีตำรวจเหล่านี้ให้ความสำคัญกับการฝึกอบรม สรางแนวทางในการให้บริการประชาชน ฝึกอบรมตำรวจในสังกัดให้ความรู้ด้านยุทธวิธี รวมทั้งปรับปรุงภาพลักษณ์ของตำรวจให้ดีขึ้นในสายตาของประชาชน
กำลังโหลดความคิดเห็น