“สุเทพ” เบิกความฟ้องหมิ่น “ธาริต เพ็งดิษฐ์” อธิบดีดีเอสไอ กล่าวหาทุจริตก่อสร้างโรงพัก 396 แห่ง ยันเซ็นอนุมัติตามมติ สตช.อย่างถูกต้อง-ไม่ได้แทรกแซงการประมูล
ที่ห้องพิจารณา 908 ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก เมื่อเวลา 09.30 น.วันนี้ (5 ส.ค.) ศาลนัดไต่สวนมูลฟ้องคดีหมายเลขดำ อ.495/2556 ที่นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ส.ส.สุราษฎร์ธานี พรรคประชาธิปัตย์ และอดีตรองนายกรัฐมนตรี เป็นโจทก์ฟ้องนายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เป็นจำเลยในความผิดฐานหมิ่นประมาทผู้อื่นด้วยการโฆษณา
กรณีเมื่อระหว่างวันที่ 21 ม.ค. - 4 ก.พ. 2556 นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษได้แถลงข่าวกล่าวหานายสุเทพทำนองว่า เป็นผู้มีคำสั่งไม่ให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ทำสัญญาจัดซื้อจัดจ้างก่อสร้างอาคารที่ทำการสถานีตำรวจ 396 แห่งตามที่ สตช.เสนอ แต่กลับให้รวมสัญญาการจัดซื้อ จัดจ้างเพียงรายเดียว ทำให้บริษัท พีซีซี ดิเวลลอปเม้นท์ แอนด์คอนสตรัคชั่น จำกัด เป็นผู้ชนะการประมูล จนเกิดปัญหาที่ไม่สามารถแก้ไขได้
โดยในวันนี้ นายสุเทพเบิกความต่อศาลว่า เมื่อระหว่างวันที่ 21 ม.ค. - 4 ก.พ. 2556 จำเลยได้ใส่ความโจทก์โดยแถลงข่าวและให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนว่าโจทก์เป็นข้าราชการฝ่ายการเมืองแทรกแซงการประมูลการจัดซื้อจัดจ้างสร้างสถานีตำรวจ 396 แห่งของ สตช. โดยรวมสัญญาประมูลจากรายภาคเป็นสัญญาเดียว เอื้อให้บริษัท พีซีซีฯ ได้รับการประมูลไปเพียงบริษัทเดียว และโจทก์เป็นผู้สั่งการทำให้เกิดความเสียหายต่อรัฐ
การแถลงข่าวของจำเลยทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย และประชาชนที่รับฟังเข้าใจผิดว่าโจทก์ทุจริตใช้อำนาจโดยมิชอบ เพื่อแทรกแซงเอื้อประโยชน์ให้กับผู้รับเหมาเพียงรายเดียว ทั้งที่การแถลงข่าวดังกล่าวจำเลยซึ่งเป็นหัวหน้าพนักงานสอบสวน ยังไม่ได้ทำการสอบสวนจนถึงที่สุดและยังไม่ได้สืบสวนให้ได้ข้อเท็จจริงที่ครบถ้วน แต่กลับมาแถลงข่าวเป็นการชี้นำพนักงานสอบสวนในฐานะอธิบดีดีเอสไอ นอกจากนี้ จำเลยยังกล่าวหาว่าโจทก์กระทำผิดตาม พ.ร.บ.ฮั้วประมูล ซึ่งขณะเกิดเหตุโจทก์เป็นรองนายกฯ หากกระทำผิดต่อหน้าที่ต้องส่งเรื่องให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ทำการสอบสวน ซึ่งจำเลยไม่มีหน้าที่สอบสวนเอง
ต่อมาเมื่อปี 2552 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.)โดย พล.ต.อ.ปทีป ตันประเสริฐ อดีตรักษาการ ผบ.ตร.ได้เสนอวิธีการจัดประกวดราคาสร้างสถานีตำรวจ 396 แห่ง เป็นสัญญาเดียว และได้เสนอเรื่องให้โจทก์เซ็นชื่ออนุมัติโครงการ ซึ่งวิธีดังกล่าวผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการจัดซื้อจัดจ้างฯ เป็นการดำเนินการตามขั้นตอนที่ถูกต้องตามกฎหมาย และเป็นการประหยัดงบประมาณ โดยสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) สามารถดูแลสัญญาได้อย่างมีประสิทธิภาพ โจทก์จึงเห็นชอบและได้กำชับไม่ให้รื้อถอน ทุบทิ้งอาคารก่อสร้างเดิม โดยการอนุมัติโครงการโจทก์ได้ทำตามมติของ สตช. ซึ่งไม่ได้เข้าไปแทรกแซงก้าวก่ายตามที่จำเลยกล่าวหา ส่วนการก่อสร้างจะสำเร็จหรือไม่นั้นเป็นเรื่องการบริหารงานของสำนักงานตำรวจแห่งชาติเอง
ต่อมาเมื่อเปลี่ยนตำแหน่ง ผบ.ตร.เป็น พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี ก็ได้มีการจัดประมูลตามระเบียบ เมื่อได้ทำการประกวดราคาได้ผู้รับเหมาแล้ว จึงได้เสนอให้โจทก์เซ็นอนุมัติจัดจ้างบริษัทพีซีซีฯ เป็นผู้รับเหมา โดยในหนังสือที่เสนอมานั้นได้แจ้งว่าสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ดำเนินการถูกต้องตามกฎหมาย บริษัทที่ซื้อซองประมูลมีคุณสมบัติครบถ้วน และไม่มีความเกี่ยวข้องกัน โจทก์จึงเห็นชอบตามนั้น กระทั่งจำเลยได้กล่าวหาโจทก์ว่ามีความผิดตาม พ.ร.บ.ฮั้วประมูล ต่อมาโจทก์จึงได้ศึกษาข้อเท็จจริงในการจัดซื้อจัดจ้าง พบว่าในการเสนอราคา การจัดซื้อจัดจ้างด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Auction) ได้มีการเคาะราคากันถึง 73 ครั้ง จึงไม่มีลักษณะการฮั้วประมูล นอกจากนี้จำเลยได้เชิญ พล.ต.อ.ปทีปมาสอบถามกรณีโครงการสร้างสถานีตำรวจ 396 แห่ง ซึ่งภายหลัง พล.ต.อ.ปทีปได้ให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนว่าสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ดำเนินการจัดจ้างอย่างถูกต้องทุกประการ
ภายหลังนายสุเทพเบิกความเสร็จแล้ว ทนายความจำเลยได้แถลงขอเลื่อนการซักค้านออกไปก่อน เนื่องจากขอตรวจสอบเอกสารหลักฐานอีกครั้ง ศาลพิเคราะห์แล้วอนุญาตให้เลื่อนการไต่สวนมูลฟ้องโจทก์ไปเป็นวันที่ 16 ก.ย.นี้ เวลา 09.00 น.