ผบ.ตร.เยี่ยมให้กำลังใจ ตำรวจที่ปักหลักคุม “ม็อบต้านนิรโทษกรรม-โค่นระบอบทักษิณ” อยู่หน้าทำเนียบรัฐบาล-รัฐสภา ระบุเชื่อมั่นผู้ใต้บังคับบัญชาสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างดี
วันนี้ (4 ส.ค.) เมื่อเวลา 15.00 น. ที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผบ.ตร. ในฐานะผู้อำนวยการณ์รักษาความสงบเรียบร้อย (ผอ.ศอ.รส.) พล.ต.อ.วรพงษ์ ชิวปรีชา รอง ผบ.ตร. ในฐานะรอง ผอ.ศอรส. พล.ต.อ.ปานศิริ ประภาวัต พล.ต.อ.เอก อังสนานนท์ รอง ผบ.ตร. เดินทางมาประชุมที่กองบัญชาการกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย (บช.กกล.รส.) ภายหลังประชุมติดตามสถานการณ์การชุมนุมของกลุ่มองค์การพิทักษ์สยามในนาม “กองทัพประชาชนโค่นระบอบทักษิณ” โดยได้ขึ้นไปบนชั้นดาดฟ้าของอาคาร บช.น.เพื่อเยี่ยมเยียนและให้กำลังใจตำรวจที่ปฏิบัติหน้าที่ดูแลม็อบ ที่ใช้พื้นที่ชั้นดาดฟ้าพักอาศัยอยู่จำนวน 162 นาย
พล.ต.อ.อดุลย์กล่าวว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจที่มาดูแลม็อบ มาจากกองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 3 (บช.ภ.3) รวม 497 นาย ซึ่งเป็นอดีตผู้ใต้บังคับบัญชาของตนเองและคุ้นเคยกันดี เชื่อว่าสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้เป็นอย่างดี อย่างไรก็ตาม การข่าวเชื่อได้ว่ากลุ่มผู้ชุมนุมที่สวนลุมพินีในขณะนี้ จะมียุทธิวิธีดาวกระจายไปยังจุดต่างๆ และจะมีการยั่วยุตำรวจให้เกิดการปะทะ ดังนั้น ขอให้ตำรวจที่ปฏิบัติหน้าที่ต้องอดทนอดกลั้น ทำงานอย่างรอบคอบ และหากใช้กำลังก็ให้เป็นไปตามขั้นตอนปฏิบัติ และต้องอยู่ภายใต้กรอบกฎหมาย เชื่อว่าหากตำรวจทำงานรอบคอบสถานการณ์ก็จะคลี่คลายได้ และกำชับให้ทำหน้าที่ให้ดีที่สุด
“ตำรวจจาก บช.ภ.3 เป็นตำรวจที่มีการฝึกอย่างต่อเนื่องอย่างดี มาเป็นลูกน้องนำหน่วยในพื้นที่ กทม. ดังนั้นผมไม่หนักใจกับการทำงานของตำรวจ มาเยี่ยมเพื่อให้กำลังใจลูกน้อง”
พร้อมกันนี้ พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ยังได้มอบเงินสนับสนุน และสิ่งของต่างๆ เพื่อไว้อำนวยความสะดวกให้กับตำรวจที่ปฏิบัติหน้าที่ด้วย
ต่อมาเมื่อเวลา 15.20 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผบ.ตร. ในฐานะผู้อำนวยการณ์รักษาความสงบเรียบร้อย (ผอ.ศอรส.) พล.ต.อ.วรพงษ์ ชิวปรีชา รอง ผบ.ตร. ในฐานะรองผอ.ศอรส. พล.ต.อ.ปานศิริ ประภาวัต พล.ต.อ.เอก อังสนานนท์ รอง ผบ.ตร. ได้เดินทางไปตรวจเยี่ยมกำลังตำรวจปฎิบัติหน้าที่ดูแลม็อบบริเวณรอบทำเนียบรัฐบาล โดยมีกำลังเจ้าหน้าที่ทั้งหมด 9 กองร้อย จำนวน 1,350 นาย
พล.ต.อ.อดุลย์กล่าวกับตำรวจผู้ใต้บังคับบัญชาว่า การชุมนุมเป็นสิ่งที่ประชาชนสามารถทำได้แต่ต้องอยู่ภายใต้กฎหมาย ในประเทศไทยแตกต่างจากที่อื่น ในการชุมนุมทางการเมืองจะมีแกนนำแบ่งแยก มีแนวร่วมที่ฮาร์ดคอร์ ประเด็นที่ต้องเข้าใจขอให้ปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มกำลังที่ฝึกมา ให้อดทนอดกลั้นต่อการยั่วยุ เน้นปฏิบัติหน้าที่ตามขั้นตอนกฎหมาย อยากให้มั่นใจกับสิ่งที่ได้รับการฝึกมา ขอให้เชื่อมั่นผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้นที่ปฏิบัติหน้าที่ร่วมกับกำลังพล และมั่นใจต่อการปฏิบัติหน้าที่ของตน ส่วนหลักการใช้กำลังให้ยึดตามขั้นตอน เมื่อมีเหตุการณ์เกิดขึ้นให้คำนึงถึง 3 ข้อหลัก 1. อำนาจการสั่งการ โดย ผบ.ตร.เป็นผู้สั่งการ 2. ปฏิบัติการทำงานจากเบาไปหาหนัก 3. ประชาชนต้องยอมรับในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ท่าทีต่อประชาชนต้องนึกถึงความเป็นธรรมไม่ใช้ความรุนแรง ซึ่งทำเนียบรัฐบาลเป็นจุดหัวใจของประเทศห้ามให้ผู้ชุมนุมกระทำการใดๆ ทั้งสิ้น ทั้งนี้ ตนมั่นใจในกำลังพล จากนั้นได้มอบเงินและสิ่งของเพื่ออำนวยความสะดวกด้วย
จากนั้นเมื่อเวลา 15.30 น. พล.ต.อ.อดุลย์เดินทางไปที่รัฐสภา เพื่อตรวจเยี่ยมกำลังพลจำนวนอีก11 กองร้อย จำนวน 1,650 นาย พร้อมกล่าวกับผู้ใต้บังคับบัญชาว่าการชุมนุมนั้นประชาชนต้องปลอดอาวุธและห้ามละเมิดสิทธิผู้อื่น จะมีประชาชนทยอยเดินทางมาเรื่อยๆ ให้ระวังมือที่ 3 อาจมีการยั่วยุ ขอให้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความอดกลั้น พร้อมกำชับห้ามใช้อาวุธกับผู้ชุมนุมเด็ดขาด หากมีมวลชนขับเคลื่อนมาต้องคำนึงถึงกฎ 3 ข้อ 1. ปฎิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด 2. ปฏิบัติการจากเบาไปหาหนัก 3. ประชาชนต้องยอมรับได้ เน้นย้ำให้ยึดถือตามกฎอย่างเคร่งครัด สุดท้ายขอให้มั่นใจในการทำภารกิจนี้และผู้บังคับบัญชาของท่าน พร้อมมอบเงินและสิ่งของต่างๆ เพื่ออำนวยความสะดวกในการปฏิบัติหน้าที่เช่นกัน
ตำรวจนครบาลจับตาใกล้ชิด หวั่นม็อบดาวกระจาย
ด้าน พล.ต.ต.อดุลย์ ณรงค์ศักดิ์ รอง ผบช.น. ในฐานะโฆษก บช.น. แถลงการติดตามการชุมนุมกลุ่มองค์การพิทักษ์สยามในวันนี้ว่า ขณะนี้สถานการณ์ยังคงปกติ ในส่วนการเจรจานั้นยังคงไม่เกิดขึ้น เพราะยังไม่มีมูลเหตุให้ต้องเข้าไปพูดคุย แต่ตำรวจก็จะติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด พร้อมทั้งเก็บข้อมูลของแกนนำและผู้ชุมนุมให้ได้มากที่สุด อย่างไรก็ตาม ในส่วนที่ว่าผู้ชุมนุมจะใช้ยุทธวิธีดาวกระจายนั้น ตำรวจกำลังตรวจสอบอยู่ แต่ยังไม่สามารถสรุปได้ว่าผู้ชุมนุมจะไปที่ใดหากมีการดาวกระจายเกิดขึ้น แต่ทั้งนี้ หากกลุ่มผู้ชุมนุมไปยังสถานที่ใด กองบังคับการตำรวจนครบาลแต่ละพื้นที่ก็ต้องเข้าไปรับผิดชอบดูแลผู้ชุมนุม
โฆษก บช.น.กล่าวว่า ในส่วนผู้ชุมนุมที่จะเข้ามาจากต่างจังหวัดนั้น ขณะนี้ตำรวจตั้งจุดสกัดไว้อยู่ เพราะไม่อยากให้เข้ามาเกรงว่าจะเกิดความวุ่นวาย อีกทั้งการทำงานของรัฐบาลก็เป็นไปตามขั้นตอน ตามระบอบประชาธิปไตยอยู่แล้ว การแก้ไขต่างๆ ที่เรียกร้องก็มีขั้นตอนอยู่ แต่เชื่อว่าจะมีการรวมตัวกันมากขึ้นโดยเฉพาะในวันที่ 6 ส.ค.ที่จะถึงนี้ เนื่องจากวันที่ 7 ส.ค. 2556 จะมีการประชุมรัฐสภาด้วย แต่ทั้งนี้ตำรวจก็วางแผนตั้งจุดสกัดไว้แล้ว เช่น รัฐสภา ทำเนียบรัฐบาล และพื้นที่หวงห้ามเด็ดขาดอื่นๆ จะไม่อนุญาตให้ใครเข้าไปเด็ดขาด หากผู้ชุมนุมเข้าไปจะถือว่าเป็นการฝ่าฝืนละเมิดกฎหมาย และตำรวจจะต้องดำเนินการตามกฎหมายทันที