ตร.ลงพื้นที่ตรวจสอบระบบการรักษาความปลอดภัยห้างโลตัส สาขาหลักสี่ หลังเกิดเหตุจี้ชิงรถ นศ.ศรีปทุมฯ พบมีจุดบกพร่อง ประสานสำนักงานใหญ่เพิ่ม รปภ. เล็งงัด พ.ร.บ.คุ้มครองบริโภค บังคับใช้
วันนี้ (24 มิ.ย.) พล.ต.ต.มานิต วงศ์สมบูรณ์ รอง ผบช.น. พร้อมด้วย พ.ต.อ.ชยุต มารยาทตร์ ผกก.สน.บางเขน พ.ต.ท.อำนาจ อินทรศวร รอง ผกก.ป. ได้เดินทางไปตรวจสอบบริเวณจุดเกิดเหตุ กรณี น.ส.ชมพูนุช ทรัพย์สิน อายุ 23 ปี นักศึกษาชั้นปีที่ 3 คณะศิลปกรรม มหาวิทยาลัยศรีปทุม ถูกคนร้ายใช้อาวุธมีดจี้ชิงรถเก๋งโตโยต้า ยาริส สีขาวคาดแดง ทะเบียน ญพ 3368 กรุงเทพมหานคร ที่ลานจอดรถของห้างเทสโก้โลตัส สาขาหลักสี่ เมื่อวันที่ 20 มิ.ย.ที่ผ่านมา เพื่อตรวจสอบจุดติดตั้งกล้องวงจรปิด และหาจุดอ่อนของสถานที่ เพื่อวางแนวทางการป้องกันเหตุอาชญากรรมที่อาจเกิดขึ้นกับประชาชนที่เดินทางมาจับจ่ายซื้อของได้อีก โดยมีนายวศิน โภคาปกรณ์ ผู้จัดการฝ่ายรักษาผลประโยชน์ของห้างฯ เป็นผู้ชี้แจงถึงจุดติดตั้งกล้องวงจรปิดทั้งหมดภายในห้าง
พล.ต.ต.มานิตกล่าวว่า ทาง บช.น.มีความห่วงใยความปลอดภัยของประชาชนผู้ที่มาใช้บริการ วันนี้จึงมาตรวจสอบว่ายังมีอะไรบ้างที่เป็นจุดอ่อนที่ต้องแก้ไข ทั้งนี้ เมื่อสัปดาห์ก่อนทาง บช.น. ได้เชิญผู้แทนของห้างสรรพสินค้าต่างๆ เช่น เดอะมอลล์กรุ๊ป บิ๊กซี เทสโก้ โลตัส และอีกหลายห้างมาพูดคุยกัน ซึ่งทางตำรวจได้ขอร้องให้ทางห้างสรรพสินค้าจัดจำนวน รปภ.ให้มากขึ้น โดยทางห้างเดอะมอลล์แต่ละสาขามีจำนวน รปภ.เกือบทุกชั้นอยู่แล้ว แต่บางจุดบางชั้นซึ่งมีพื้นที่เราก็ขอให้เพิ่ม ซึ่งทางเดอะมอลล์กรุ๊ปก็รับไปดำเนินการ ในส่วนของห้างโลตัส และบิ๊กซีหลายแห่งที่ยังจัด รปภ.ไม่พอก็ขอให้รับไปดำเนินการ
พล.ต.ต.มานิตกล่าวต่อว่า ในส่วนของห้างเทสโก้โลตัสที่เกิดเหตุล่าสุด พบจุดอ่อนตรงทางเข้า-ออกห้าง แม้จะมีกล้องวงจรปิดแต่ไม่มี รปภ.ประจำอยู่ โดยในวันเกิดเหตุการบันทึกภาพใช้ได้แต่ไม่ดีพอ แต่ขณะนี้ทางห้างได้บอกว่าซ่อมแซมแล้ว ทั้งนี้ เมื่อเข้าไปดูลานจอดรถด้านนอกพบว่ายังมีกล้องวงจรปิดจำนวนน้อย ส่วนด้านในมีทั้งหมด 6 จุด และลานจอดรถก็ค่อนข้างใหญ่ กล้องวงจรปิดพอจะเก็บภาพได้ แต่จุดอ่อนสำคัญอีกประการ คือ ทางห้างโลตัสจัด รปภ.ไว้สำหรับดูแลลูกค้าที่บริเวณลานจอดรถ แต่ผลัดตอนเช้าถึงกลางวันมีแค่ 6 คน โดยคนที่มาดูแลลานจอดรถมีแค่คนเดียว
อย่างไรก็ตาม ทาง บช.น.จะร้องขอไปยังสำนักงานใหญ่ของห้างโลตัส ให้พิจารณาจัด รปภ.เพิ่ม เพื่อทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ในการดูแลประชาชน ส่วนทางตำรวจก็จะเพิ่มความถี่ในการเข้ามาตรวจมากขึ้น
“ในหลักการการป้องกันอาชญากรรมสมัยใหม่ เราต้องขอร้องให้ทางเจ้าของสถานที่ที่ให้บริการลูกค้าได้จัดพนักงานรักษาความปลอดภัย เพื่อที่จะให้เป็นส่วนหนึ่งในการให้บริการลูกค้า ด้านความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินด้วย นอกจากด้านอื่นๆ โดย บช.น.ได้ศึกษาข้อกฎหมาย และพบว่า พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 มีหลายมาตราที่เขียนไว้ แล้วยังไม่ได้กำหนดรายละเอียดด้านนี้ ทาง บช.น.จะทำหนังสือถึงสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ขอให้ทางสำนักงานฯ เข้ามาดูแลห้างสรรพสินค้า ในเรื่องของการดูแลเรื่องความปลอดภัยของชีวิตและทรัพย์สินของผู้บริโภคด้วย” รอง ผบช.น.กล่าว
ขณะที่นายวศินกล่าวว่า จะรับเรื่องจากรอง ผบช.น.ไปนำเสนอทางสำนักงานใหญ่ และคงต้องประสานงานกับทางเจ้าหน้าทีตำรวจมากยิ่งขึ้นในการดูแลลูกค้า ในส่วนของกล้องวงจรปิดก็จะช่วยได้เรื่องรถเข้าออก ซึ่งปกติจะบันทึกไว้อย่างน้อย 15 วัน