xs
xsm
sm
md
lg

DSI สรุปสำนวนสั่งฟ้อง มาร์ค-เทือก คดี 89 ศพ จ่อนำตัวส่งอัยการ 26 มิ.ย.นี้

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

 (แฟ้มภาพ)นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ)
ดีเอสไอสรุปสำนวนสั่งฟ้อง มาร์ค-เทือก คดีร่วมกันก่อให้ผู้อื่นฆ่าคนตายโดยเจตนาเล็งเห็นผล นัดนำตัวส่งอัยการ 26 มิ.ย.

ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เมื่อเวลา 16.00 น. วันที่ 14 มิ.ย.นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ในฐานะหัวหน้าพนักงานสอบสวนคดีการเสียชีวิต 89 ศพ ในช่วงเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมือง เมื่อ เม.ย.-พ.ค.2553 โดยมี พ.ต.ท.วรรณพงษ์ คชรักษ์ รองอธิบดีดีเอสไอ พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านคดีพิเศษ (ระดับ 9 ) พร้อมด้วยพนักงานสอบสวนจากกองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) และพนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษ สำนักงานอัยการสูงสุด ร่วมพิจารณาพยานหลักฐานเพื่อลงมติสรุปสำนวนสั่งฟ้องคดีต่ออัยการในส่วนของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายความมั่นคง อดีต ผอ.ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ซึ่งใช้เวลา 45 นาที ในการประชุม

นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีดีเอสไอแถลงว่า ที่ประชุมคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ ลงมติ 3 ประการคือ 1.เห็นพ้องว่าการสอบสวนคดีเสร็จสิ้นแล้ว 2.เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏแล้วว่า การตายของนายพัน คำกอง ด.ช.คุณากร ศรีสุวรรณ และการบาดเจ็บของนายสมร ไหมทอง เกิดจากการกระทำของเจ้าพนักงานทหาร ภายใต้คำสั่งของ ศอฉ.ซึ่งมีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้ต้องหาที่ 1 และนายสุเทพ เทือกสุวรรณ ผู้ต้องหาที่ 2 เป็นผู้กำหนดนโยบาย และตัดสินใจในการออกคำสั่ง พฤติการณ์ของผู้ต้องหาเป็นการก่อให้เจ้าพนักงานทหารภายใต้การบังคับบัญชาของตนไปปฏิบัติหน้าที่ในลักษณะที่ผู้ต้องหาและบุคคลทั่วไปย่อมคาดหมาย หรือเล็งเห็นได้อยู่แม้ว่าจะเกิดการเสียชีวิต และบาดเจ็บของผู้ชุมนุม เมื่อมีการตายเกิดขึ้น การกระทำของผู้ต้องหาที่ 1 และที่ 2 จึงเป็นความผิดอาญาฐานร่วมกันก่อให้ผู้อื่นฆ่า และพยายามฆ่าคนตายโดยเจตนาเล็งเห็นผล ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 59, 80, 83, 84 และมาตรา 288

อธิบดีดีเอสไอกล่าวอีกว่า พยานหลักฐานที่ได้รวบรวมมามีพอฟ้อง เห็นควรสั่งฟ้องผู้ต้องหาที่ 1 และที่ 2 ตามข้อกล่าวหา และตัวบทกฎหมายดังกล่าวข้างต้น และ 3.ส่วนเจ้าพนักงานทหารผู้ลงมือกระทำแม้ข้อเท็จจริงจะมีว่าสาเหตุการตายเกิดจากทหารขณะปฏิบัติหน้าที่ แต่การสอบสวนขณะนี้ยังไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่ามีการกระทำของเจ้าพนักงานทหารรายใด ด้วยเหตุที่สภาพพื้นที่ และข้อจำกัดขณะเกิดเหตุเกิดความไม่เรียบร้อยของบ้านเมืองในขณะประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน มีความร้ายแรง ทหารกำหนดพื้นที่ห้ามเข้า พนักงานสอบสวน ตำรวจไม่อาจเข้าไปเก็บหลักฐาน ยึดอาวุธปืนของกลาง ตรวจพยานวัตถุ หรือที่เกิดเหตุในการพิสูจน์ข้อเท็จจริงได้เหมือนกรณีทั่วไป ทั้งพฤติการณ์ของเจ้าพนักงานทหารเป็นการปฏิบัติตามคำสั่งของ ศอฉ. อาจเข้าลักษณะเป็นการปฏิบัติตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชาที่สั่งการโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งตนเชื่อโดยสุจริตว่า เป็นคำสั่งโดยชอบ และตนมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตาม ซึ่งจะได้รับการยกเว้นโทษตามมาตรา 70 ประกอบมาตรา 62 ประมวลกฎหมายอาญา

ในชั้นนี้จึงไม่เห็นควรดำเนินคดีในส่วนของเจ้าพนักงานทหาร พนักงานสอบสวนคดีพิเศษ ได้กำหนดวันเรียกผู้ต้องหามาพบพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ ที่สำนักงานคดีพิเศษ สำนักงานอัยการสูงสุด เพื่อส่งตัวพร้อมสำนวนแก่พนักงานอัยการ ในวันพุธที่ 26 มิ.ย. เวลา 10.00 น.
กำลังโหลดความคิดเห็น