xs
xsm
sm
md
lg

ศาลฎีกายกฟ้อง “อดีต พนง.แบงก์-ขรก.ก.ศึกษาฯ” คดีประวัติศาสตร์ทุจริตเครื่องราชฯ

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


ศาลฎีกาพิพากษากลับ ยกฟ้อง “อดีตพนักงานแบงก์-ข้าราช ก.ศึกษาฯ” จำเลยที่ 8-9 ในคดีทุจริตเครื่องราชฯ ชี้จำเลยไม่ได้ใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่ทุจริต และยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย

วันนี้ (13 มิ.ย.) ที่ห้องพิจารณาคดี 611 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ศาลอ่านคำพิพากษาศาลฎีกา คดีหมายเลขดำ ที่ ด.1597/2531 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 4 เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายผาสุก ขาวผ่อง หรือพระราชปัญญาโกศล หรือเจ้าคุณอุดม อดีตรองเจ้าอาวาสวัดเทพศิรินทร์ จำเลยที่ 1 (เสียชีวิตแล้ว), นายอำไพ แก้วพงษ์ ผู้ใกล้ชิดเจ้าคุณอุดม จำเลยที่ 2 (เสียชีวิตแล้ว), นายสันติ สวนแก้ว อดีตพนักงานธนาคารกรุงเทพ ลูกศิษย์ใกล้ชิดของเจ้าคุณอุดม จำเลยที่ 3 (เสียชีวิตแล้ว), นายอรุณ เพชรรัตน์ จำเลยที่ 4, นายมนตรี จำนง ครูโรงเรียนนวมินราชานุสรณ์ จ.นครนายก จำเลยที่ 5, น.ส.เฉลิมศรี อู่ทรัพย์ จำเลยที่ 6 (เสียชีวิตแล้ว), นายสมัย กาจู๊ด ลูกศิษย์ใกล้ชิด จำเลยที่ 7 (เสียชีวิตแล้ว), น.ส.พัทยา พิมพ์สอาด อดีตพนักงานธนาคารกรุงเทพฯ จำเลยที่ 8, นายอารี ศาสตรสาระ อดีตข้าราชการพลเรือน ช่วยงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ จำเลยที่ 9, นายพิภพ บุญดิเรก อดีตข้าราชการพลเรือน ช่วยงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ จำเลยที่ 10, นายเมธี บริสุทธิ์ อดีตข้าราชการพลเรือนประจำในสำนักงานเลขาธิการสำนักนายกรัฐมนตรี จำเลยที่ 11 (เสียชีวิตแล้วระหว่างอุทธรณ์คดี), นายสุรเดช เตชะคุปต์ จำเลยที่ 12 (เสียชีวิตแล้ว), นายไพบูลย์ ทองมิตร อดีตปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี จำเลยที่ 13 (เสียชีวิตแล้ว), นางชมัยภร แสงกระจ่าง อดีตข้าราชการพลเรือนประจำสำนักงานเลขาธิการสำนักนายกรัฐมนตรี จำเลยที่ 14, นายขุนทอง ภูผิวเดือน อดีต รมช.ศึกษาธิการ จำเลยที่ 15 (เสียชีวิตแล้ว) และนายวิโรจน์ ชาทอง อดีตศึกษานิเทศก์ 6 กรมสามัญศึกษา จำเลยที่ 16 ในความผิดฐาน ร่วมกันเป็นเจ้าพนักงานใช้อำนาจในตำแหน่งโดยมิชอบ จูงใจให้บุคคลมอบทรัพย์สิน, ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน มีหน้าที่ทำเอกสาร กระทำการกรอกข้อความอันเป็นเท็จ, ร่วมกันเป็นเจ้าพนักงานเรียก รับ หรือยอมจะรับ ทรัพย์สินเพื่อกระทำการในตำแหน่งโดยมิชอบ, ร่วมกันปลอมดวงตราของทบวงการเมือง องค์การสาธารณะ หรือของเจ้าพนักงาน และร่วมกันปลอมเอกสารราชการ และตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 148, 149, 162, 251 และ 265 จากกรณีระหว่างปี 2522-2529 จำเลยที่ 1 กับพวกร่วมกันปลอมแปลงเอกสารใบอนุโมทนาบัตร ที่รับเงินบริจาคจากประชาชนที่จำเลยได้จูงใจให้บริจาคทรัพย์สิน เพื่อยื่นเอกสารต่อกระทรวงศึกษาธิการขอพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์

โดยอัยการโจทก์ ยื่นฟ้องคดีเมื่อวันที่ 1 ส.ค. 2531 ซึ่งศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 27 เม.ย. 2548 ว่า จำเลยที่ 4, 5, 8, 9 มีความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานซึ่งใช้ตำแหน่งโดยมิชอบจูงใจให้ผู้อื่นมอบทรัพย์สิน เพื่อประโยชน์แก่ตนเองและผู้อื่น มาตรา 148 และกระทำการเป็นการช่วยเหลือให้ความสะดวกแก่ผู้กระทำผิด ตามมาตรา 86 ให้จำคุกจำเลยที่ 4 จำนวน 113 กระทงๆ ละ 10 ปี รวมจำคุก 1,130 ปี จำเลยที่ 5 จำนวน 117 กระทงๆ ละ 10 ปี รวมจำคุก 1,170 ปี จำเลยที่ 8 จำนวน 192 กระทงๆ ละ10 ปี รวมจำคุก 1,920 ปี จำคุกจำเลยที่ 9 กระทำผิดม.149จำนวน 98 กระทง ๆ 15 ปี และม.148 ประกอบม.86 อีก 1 กระทง เป็นเวลา 10 ปี รวมจำคุก 2,660 ปี และจำคุกจำเลยที่ 11 จำเลยที่ 11 กระทำความผิด ม.149 จำนวน 98 กระทงๆ ละ 15 ปี และม.148 ประกอบ ม.86 อีก 1 กระทงเป็น 10 ปี รวมจำคุก 1,480 ปี แต่เมื่อรวมโทษจำเลยที่ 4 , 5, 8 , 9 และ 11 ทุกกระทงความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 (3) แล้ว ให้จำคุกจำเลยไว้คนละ 50 ปี ส่วนจำเลยที่ 10, 14 และ 16 ไม่มีน้ำหนักเพียงพอว่ากระทำผิดตามฟ้อง ศาลจึงยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย พิพากษายกฟ้อง และให้ริบของกลางตามบัญชีทรัพย์ของกลาง

ส่วนจำเลยที่ 1, 2, 3, 6, 7, 12, 13 และ 15 ศาลมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบ เนื่องจากจำเลยเสียชีวิตแล้ว

ต่อมาโจทก์และจำเลยยื่นอุทธรณ์ ขณะที่จำเลยที่ 11 เสียชีวิตไปแล้วระหว่างอุทธรณ์เมื่อปี 2550 ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 18 พ.ย. 2553 พิพากษาแก้เพิ่มโทษจำคุกนายอรุณ จำเลยที่ 4 จากเดิมที่ศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุก 1,130 ปี เป็นเวลา 2,234 ปี และนายมนตรี ครูโรงเรียนนวมินราชานุสรณ์ จ.นครนายก จำเลยที่ 5 จาก 1,170 ปี เป็น 2,180 ปี ส่วนนายอารี อดีตข้าราชการพลเรือน ช่วยงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ จำเลยที่ 9 ให้ยกฟ้อง ม.148 แต่ให้จำคุก จำเลยที่ 9 ตาม ม.149 จำนวน 98 กระทงเป็นเวลา 1,470 ปี ขณะที่เมื่อรวมโทษจำเลยที่ 4, 5, 9 ทุกกระทงความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 (3) แล้ว ให้จำคุกจำเลยไว้คนละ 50 ปี

ส่วน น.ส.พัทยา อดีตพนักงานธนาคารกรุงเทพฯ จำเลยที่ 8 พิพากษายืนจำคุกเป็นเวลา 1,920 ปี เช่นเดียวกับนายเมธี อดีตข้าราชการพลเรือนประจำในสำนักงานเลขาธิการสำนักนายกรัฐมนตรี จำเลยที่ 11 พิพากษายืนจำคุกเป็นเวลา 1,480 ปี และพิพากษายืนยกฟ้องนายพิภพ อดีตข้าราชการพลเรือน ช่วยงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ จำเลยที่ 10, นางชมัยภร อดีตข้าราชการพลเรือนประจำสำนักงานเลขาธิการสำนักนายกรัฐมนตรี จำเลยที่ 14 และนายวิโรจน์ อดีตศึกษานิเทศก์ 6 กรมสามัญศึกษา จำเลยที่ 16

ต่อมาโจทก์และจำเลยที่ 8-9 ฎีกา ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาหารือกันแล้ว คดีมีประเด็นต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 8 ว่าได้ร่วมสนับสนุนจำเลยที่1ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานกระทำผิดตามมาตรา 148 ว่าผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยมิชอบ เพื่อให้บุคคลใดมอบให้ หรือหามาให้ ซึ่งทรัพย์สินหรือประโยชน์แก่ตนเองหรือไม่ เห็นว่ากรณีที่จะเป็นความผิดตามมาตรา 148 นั้นจะต้องได้ความว่าผู้นั้นเป็นเจ้าพนักงานมีอำนาจหน้าที่และใช้อำนาจหน้าที่ในตำแหน่งเพื่อประโยชน์ตนเองหรือผู้อื่น แต่หากผู้นั้นใช้อำนาจขณะที่ไม่ได้อยู่ในตำแหน่งก็ไม่อาจเป็นความผิด ซึ่งชั้นพิจารณาได้ความจากพระเถระชั้นผู้ใหญ่ว่า ขณะที่จำเลยที่ 1 เป็นรองเจ้าอาวาสได้มอบหมายหน้าที่ให้ดูแลในส่วนของเมรุและสุสานหลวงไม่ได้ดูแลในส่วนของการยื่นคำขอเครื่องราชฯจึงยังฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 8 ไปร่วมสนับสนุนไปร่วมกระทำผิดดังกล่าว

ส่วนจำเลยที่ 9 ได้ความว่า คดีนี้โจทก์ระบุพยานบุคคลไว้ 508 ปาก แต่สามารถนำพยานเข้าสืบได้เพียงบางส่วน ซึ่งกลุ่มพยานในนั้น 17 คน แม้จะให้การถึงจำเลยที่ 9 แต่ก็ไม่ยืนยันได้ว่าเห็นจำเลยเรียกรับเงิน ส่วนพยานสองปากที่โจทก์นำสืบอ้างว่ารู้เห็นจำเลยที่ 9 รับและส่งมอบเช็คเงินให้กับจำเลยที่1นั้นพยานดังกล่าวก็เป็นผู้ร่วมกระทำผิดที่เจ้าพนักงานได้ร่วมกันไว้เป็นพยานซึ่งมีน้ำหนักรับฟังได้น้อย พยานหลักฐานโจทก์ที่นำสืบยังมีความสงสัยตามสมควรว่าจำเลยที่ 9 กระทำผิดตามฟ้องหรือไม่จึงยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย

ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุกจำเลย 8-9 สูงสุดตามกฎหมายเป็นเวลา 50 ปีศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วยพิพากษายกฟ้อง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาญาติของจำเลยที่ 8-9 ซึ่งได้เข้าไปร่วมฟังจำนวนมากได้เข้าสวมกอดแสดงความยินดีกับจำเลยทั้งสอง

สำหรับคดีนี้ซึ่งยืดเยื้อมา 25 ปี ซึ่งระหว่างพิจารณาคดี ได้มีการเปลี่ยนพนักงานอัยการหลายคน โดยจำเลยในคดีนี้เสียชีวิตไปแล้ว 9 คน ผู้พิพากษาเสียชีวิต 1 คน และทนายความเสียชีวิต 4 คน โดยคดีนี้โจทก์นำสืบกว่า 100 ปากจากพยานที่อ้างไว้ 508 ปาก โดยนายอารีจำเลยที่ 9 ได้กล่าวขอบคุณศาลที่ให้ความเป็นธรรม




กำลังโหลดความคิดเห็น