กลุ่มผู้เสียหายนับสิบรายพร้อมทนายความแจ้งความกองปราบฯ ถูกสองสามีภรรยานักธุรกิจอสังหาฯ หลอกเงินไปลงทุนทำแชร์ลูกโซ๋รวมลงทุนทำธุรกิจ มูลค่ากว่า 100 ล้าน ก่อนเชิดเงินหนีตามระเบียบ
วันนี้ (10 มิ.ย.) ที่กองปราบปราม เมื่อเวลา 13.30 น. นางณัฎฐ์รดา อมรสินสถิตย์ อายุ 35 ปี ที่ปรึกษาด้านการเงิน บริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง และกลุ่มผู้เสียหายซึ่งเป็นบรรดานักธุรกิจ รวม 14 ราย พร้อมด้วยทนายความ เดินทางเข้าพบ พล.ต.ต.สุพิศาล ภักดีนฤนาถ ผบก.ป.เพื่อแจ้งความดำเนินคดีต่อนายวชิระ พูลเพิ่ม อายุ 34 ปี นักธุรกิจด้านอสังหาริมทรัพย์ และนางพิมลพรรณ พูลเพิ่ม อายุ 32 ปี เจ้าของธุรกิจร้านหนังสือ สองสามีภรรยา หลังจากถูกทั้งสอง หลอกลวงให้นำเงินไปร่วมลงทุนทำธุรกิจหลายประเภท เช่น ร้านจำหน่ายแผ่นซีดี ธุรกิจคาร์แคร์ รวมทั้งธุรกิจด้านอสังหาริมทรัพย์ต่างๆ รวมมูลค่าความเสียหายกว่า 75 ล้านบาท
นางณัฎฐ์รดากล่าวว่า รู้จักกับนางพิมลพรรณมาเป็นเวลากว่า 10 ปี เนื่องจากเคยเรียนมาด้วยกัน กระทั่งเมื่อ 2-3 ปีที่ผ่านมานางพิมลพรรณได้ชักชวนให้ร่วมลงทุนทำธุรกิจร้านจำหน่ายแผ่นซีดี โดยวางโครงการต่างๆ ไว้เรียบร้อยแล้ว รวมทั้งด้านการบริหารงาน ซึ่งตนเพียงแต่นำเงินมาลงทุนด้วยเท่านั้นก็จะได้รับผลตอบแทน 10% จากเงินที่นำมาลงทุน โดยครั้งแรกเมื่อปี 2554 ตนได้นำเงินจำนวนหนึ่งมาลงทุนก็ได้รับเงินปันผลตอบแทนจริง จึงติดต่อกับลูกค้าบริษัทที่ตนทำงานอยู่ให้ร่วมนำเงินมาลงทุนธุรกิจดังกล่าว รวมเป็นเงิน 48 ล้านบาท ซึ่งระยะแรกก็ยังได้รับเงินตอบแทนเป็นรายเดือน แต่หลังจากนั้นก็เริ่มไม่ได้รับเงิน
นางณัฏฐ์รดากล่าวต่อว่า เมื่อเริ่มผิดสังเกตว่าไม่มีการจ่ายเงินปันผลตอบแทนมาให้ ตนจึงพยายามติดต่อกับนางพิมลพรรณ แต่ก็ไม่สามารถติดต่อได้ ทั้งที่ก่อนหน้านี้โทรศัพท์ไปก็จะรับสายตลอด รวมทั้งติดต่อผ่านทางแอปพลิเคชันสมาร์ทโฟนด้วย นอกจากนี้ ตนมาทราบภายหลังว่า นางพิมลพรรณกับสามียังหลอกลวงผู้เสียหายอีกหลายรายให้ร่วมลงทุนในธุรกิจคาร์แคร์ ซึ่งอ้างว่ามีโครงการที่ได้จัดซื้อที่ดินไว้แล้ว หรือจะเป็นโครงการเปิดร้านหนังสือ ร้านอาหาร ฯลฯ ซึ่งบางรายนางพิมลพรรณ เคยพาไปดูธุรกิจที่เปิดในห้างสรรพสินค้าชื่อดังย่านลาดพร้าว ทำให้ผู้เสียหายยิ่งหลงเชื่อว่าไม่น่าจะถูกหลอกลวง
“หลังจากตรวจสอบข้อมูลต่างๆ ก็พบว่านางพิมลพรรณกับสามีจะหลอกให้ผู้เสียหายโอนเงินเข้าไปยังบัญชีธนาคารกสิกรไทย สาขาสุขุมวิท 6 และมีการโอนเงินที่อ้างว่าเป็นปันผลผ่านบัญชีธนาคารของผู้เสียหายแต่ละราย โดยพบว่าน่าจะมีผู้เสียหายอีกหลายสิบรายที่ยังไม่ได้เข้าแจ้งความดำเนินคดี รวมมูลค่าความเสียหายกว่า 100 ล้านบาท” นางณัฏฐ์รดากล่าว
ด้าน พล.ต.ต.สุพิศาลกล่าวว่า กรณีที่เกิดขึ้นมีลักษณะคล้ายกับแชร์ลูกโซ่ ซึ่งมีการหลอกลวงให้ผู้เสียหายนำเงินมาร่วมลงทุนทำธุรกิจ และมีการบอกต่อๆ กัน มีการนำเงินจากผู้เสียหายรายหนึ่งไปจ่ายให้กับอีกราย สลับกันไปมา จนที่สุดอาจประสบปัญหาหมุนเงินไม่ทันจึงติดค้างการจ่ายเงินคืนให้ผู้เสียหาย เบื้องต้นได้มอบหมายให้ พ.ต.ท.ณัฐปกรณ์ ปัญญาดี พนักงานสอบสวนผู้ชำนาญการพิเศษ กก.1 บก.ป.สอบปากคำผู้เสียหายและรวบรวมพยานหลักฐานต่างๆ ก่อนจะพิจารณาออกหมายเรียกบุคคลทั้งสองเข้าให้ปากคำต่อพนักงานสอบสวนต่อไป
ผบก.ป.กล่าวต่อว่า การกระทำดังกล่าวเข้าข่ายความผิดฐาน ร่วมกันฉ้อโกงประชาชน ส่วนกรณีการตรวจสอบบัญชีธนาคารและเส้นทางการเงินก็จะประสานธนาคารเจ้าของบัญชีในการตรวจสอบ และหากมีการยักย้ายเงิน หรือการกระทำที่เข้าข่ายความผิดฐานฟอกเงินก็จะส่งเรื่องให้สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ดำเนินการต่อไป