"เสงี่ยม สำราญรัตน์"แกนนำเสื้อแดงที่ได้กินตำแหน่งประจำสำนักเลขาธิการนายกฯ ยื่นหนังสือ ป.ป.ช.ขอทราบความคืบหน้าคดีอาญา “วสันต์ สร้อยพิสุทธิ์”และตุลาการ รธน.ปฏิบัติหน้าที่มิชอบ กรณีรับวินิจฉัยการแก้รัฐธรรมนูญจากผู้ร้องโดยตรงโดยไม่ผ่านอัยการสูงสุด เมื่อปี 55
ชมคลิป...
วันนี้ (23 เม.ย.) ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) พ.ต.ต.เสงี่ยม สำราญรัตน์ แกนนำคนเสื้อแดง ในฐานะประจำสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี พร้อมคณะ ได้เดินทางมาเพื่อยื่นหนังสือติดตามขอทราบความคืบหน้าในการดำเนินคดีอาญากรณีกล่าวหาเจ้าหน้าที่รัฐกระทำผิดต่อหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรม
สืบเนื่องจาก เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2555 พ.ต.ต.เสงี่ยม ได้ร้องทุกข์กล่าวโทษพนักงานสอบสวน สน.ทุ่งสองห้อง ให้ดำเนินคดีอาญาต่อ นายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ ประธานตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157
ต่อมาพนักงานสอบสวน สน.ทุ่งสองห้อง ได้ส่งคำร้องทุกข์กล่าวโทษดังกล่าวมายังคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เนื่องจากเป็นกรณีกล่าวหาเจ้าหน้าที่รัฐกระทำผิดต่อหน้าที่ในการยุติธรรม ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 89 และคณะกรรมการการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ได้รับเรื่องดังกล่าวไว้พิจารณาแล้วตั้งแต่วันที่ 7 มิ.ย.2555 เลขรับที่ 11175
ดังนั้น วันนี้ พ.ต.ต.เสงี่ยม ในฐานะผู้ร้อง จึงได้เดินทางมาขอทราบความคืบหน้าในคดีอาญาดังกล่าวหลังจากผ่านมา 9 เดือน ว่าดำเนินคดีไปถึงขั้นตอนไหนแล้ว เพื่อที่ตนจะได้พิจารณาความเหมาะสมและตามขั้นตอนกฎหมายต่อไป ทั้งนี้ผู้ร้องได้นำเรื่องดังกล่าวร้องเรียนต่อ คณะกรรมการปราบปรามคอร์รัปชันคณะใหญ่ องค์การสหประชาชาติ และคณะกรรมการควบคุมประมวลจริยธรรม องค์กรตรวจสอบการทำหน้าที่องค์กรอิสระแห่งสหประชาชาติ (JIG, Judical Integrity Group) เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมในเวทีโลกด้วย
อนึ่ง เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2555 พ.ต.ต.เสงี่ยม พร้อมด้วยนายพิชา วิจิตรศิลป์ ทนายความ เดินทางเข้าพบพนักงานสอบสวน สน.ทุ่งสองห้อง เพื่อแจ้งความดำเนินคดีกับนายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ กับพวก ซึ่งเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ในข้อหาปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 จากกรณีเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2555 คณะตุลาการรัฐธรรมนูญได้ทำหนังสือไปยังเลขาธิการรัฐสภา ว่า ให้แจ้งแก่ประธานสภาผู้แทนราษฎร ยุติการทำหน้าที่การประชุมเพื่อพิจารณารับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่จะต้องแปรญัตติในวาระที่ 3 ซึ่งการกระทำของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เป็นการใช้อำนาจโดยมิชอบ เนื่องจากรับวินิจฉัยร่าง พ.ร.บ.แก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยไม่เป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมาย คือไม่รับเรื่องร้องเรียนจากอัยการสูงสุด แต่เป็นการรับวินิจฉัยผ่านผู้ร้อง จึงเห็นว่าการกระทำของคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้ง 7 คน เป็นการกระทำที่มิชอบ ขอให้พนักงานสอบสวนดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมาย