xs
xsm
sm
md
lg

ผบช.ภ.1 เปิดอบรม “โครงการฝากลูกไว้กับตำรวจ” (ชมคลิป)

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

พล.ต.ท.นเรศ นันทโชติ ผบช.ภ.1 พร้อมขณะทำงาน ได้เป็นประธานเปิดการอบรมตำรวจตามโครงการฝากลูกไว้กับตำรวจ
ผบช.ภ.1 เปิดอบรม “โครงการฝากลูกไว้กับตำรวจ” ชี้เป็นโครงการเชิงรุก เพื่อป้องกันอาชญากรรมที่เกิดขึ้นกับเด็กและเยาวชน ระบุ จ.สมุทรปราการ เป็นพื้นที่นำร่อง เนื่องจากได้ใช้โครงการดังกล่าวเป็นแบบแผนในการแก้ปัญหาคดีนักเรียนอาชีวะฟันคู่อริจนนิ้วมือขาดที่ผ่านมา โดยมี ตร.เข้าร่วมโครงการ 138 นาย เท่ากับกลุ่มวัยรุ่นที่ผู้ปกครองนำมาร่วมโครงการ 138 รายเช่นกัน



จากกรณีปัญหาเด็กนักเรียนอาชีวะและกลุ่มวัยรุ่นที่ใช้ความรุนแรงก่อเกิดปัญหาอาชญากรรม ทั้งการทะเลาะวิวาท ทำร้ายร่างกายสร้างความเดือดร้อนให้สังคม จนหลายหน่วยงานต้องให้ความสำคัญหันมาขับเคลื่อนนโยบายเพื่อแก้ปัญหาเหล่านี้ อีกทั้งยังต้องมีการเฝ้าระวังการเกิดปัญหาซ้ำซ้อน

เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 18 เม.ย.56 ที่ห้องประชุมเพชรไพลิน ชั้น 4 อาคารเทศบาลตำบลสำโรงเหนือ อ.เมืองสมุทรปราการ จ.สมุทรปราการ พล.ต.ท.นเรศ นันทโชติ ผบช.ภ.1 พร้อมขณะทำงาน ได้เป็นประธานเปิดการอบรมตำรวจตามโครงการฝากลูกไว้กับตำรวจ โดยมี พล.ต.ต.ธัชชัย หงษ์ทอง ผบก.ภ.จว.สมุทรปราการ พ.ต.อ.สมชัย อินตาพวง รอง ผบก. ตลอดจนหัวหน้าสถานี ของโรงพักในสังกัด ภ.จว.สมุทรปราการ เข้าร่วมด้วย

พล.ต.ท.นเรศ นันทโชติ ผบช.ภ.1 กล่าวว่า โครงการนี้เป็นโครงการเชิงรุก เพื่อป้องกันอาชญากรรมที่เกิดขึ้นกับเด็กและเยาวชน ซึ่งมีรากฐานมาจากปัญหานักเรียนทะเลาะวิวาท กลุ่มเด็กแว้น หรือแม้แต่คดีปทุษร้ายต่อทรัพย์สิน ที่นับวันกลุ่มผู้ต้องหานั้นเริ่มทวีกลายเป็นกลุ่มวัยรุ่นอายุน้อยลงแทบทุกที ซึ่งที่ผ่านมานั้นตำรวจเน้นการจับกุมมาโดยตลอด แต่จากสถิติที่พบนั้นกลับกลายเป็นว่าเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ อีกทั้งผู้กระทำความผิดเมื่อมีอายุน้อยก็จะได้รับการควบคุมตัวต้องโทษในระยะเวลาอันสั้น ซึ่งหลังได้รับการปล่อยตัวอาจจะกลับมากระทำผิดได้อีก เพราะไม่ได้มีการฟื้นฟูจิตใจหรือสร้างมุมมองทัศวิสัยที่ดี

สำหรับโครงการนี้เป็นการมอบหมายให้เจ้าหน้าที่ตำรวจในสังกัด บช.ภ.1 เข้าไปคลุคลีกับวัยรุ่นที่มีปัญหา แล้วอยู่คอยดูแลในลักษณะพ่อแม่บุญธรรมกับวัยรุ่นคนดังกล่าว เพื่อรับทราบปัญหา หล่อหลอมสภาพจิตใจ หรืออาจดูแลไปถึงชีวิตความเป็นอยู่ในแต่ละวันไม่ว่าการเดินทางไป-กลับสถานศึกษา เพื่อรับทราบ และค้นหาปมปัญหาของชีวิตในแต่ละวันในวัยรุ่นคนดังกล่าว โดยจังหวัดสมุทรปราการถือว่าเป็นพื้นที่นำร่องของโครงการนี้ เนื่องจากได้ใช้โครงการดังกล่าวเป็นแบบแผนในการแก้ปัญหาจากคดีนักเรียนอาชีวะฟันคู่อริจนนิ้วมือขาดที่ผ่านมา โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าร่วมโครงการดังกล่าวจำนวน 138 นาย เท่ากับกลุ่มวัยรุ่นที่ผู้ปกครองนำมาร่วมโครงการ 138 รายเช่นกัน


กำลังโหลดความคิดเห็น