ตำรวจ บก.ปอท.แถลงผลงานติดตามจับกุมแก๊งผู้ต้องหาชาวต่างชาติปลอมแปลงบัตรเอทีเอ็มธนาคารต่างประเทศแถบยุโรป แล้วมาตระเวนกดเงินสดจากตู้เอทีเอ็มในประเทศไทย ตำรวจซุ่มจับได้ทันควันคาห้างดังย่านประตูน้ำ ชี้ความเสียหายกว่า 10 ล้าน!
เมื่อเวลา 10.00 น. วันนี้ (3 เม.ย.) ที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ พล.ต.ต.พิสิษฐ์ เปาอินทร์ ผบก.ปอท.พร้อมเจ้าหน้าที่ร่วมกันแถลงข่าวจับกุม นายเอส ซาซีลัน อายุ 43 ปี นายสุททรารัน นาดาราจาท อายุ 34 ปี ทั้งคู่สัญชาติศรีลังกา นอกจากนี้ยังมีผู้ต้องหาอีก 4 คนสัญชาติมาเลเซีย ชื่อ นายดาสิกุมาร์ แอนโทนี ซามี อายุ 32 ปี นายเอสวารัน กูมาร์รัน อายุ 20 ปี นายโจทรี ชานการ์ เอส ทรีกรู อายุ 19 ปี นายประวิน เอ็ม โดราซามี่ อายุ 19 ปี พร้อมของกลางบัตรอิเล็กทรอนิกส์ จำนวน 162 ใบ เงินสดเป็นธนบัตรไทยจำนวน 18,000 บาท โทรศัพท์มือถือ 12 เครื่อง
พล.ต.ต.พิสิษฐ์เปิดเผยว่า ทาง ปอท.รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ว่าธนาคารต่างประเทศให้ตรวจสอบว่ามีกลุ่มคนร้ายขโมยข้อมูลของธนาคาร จากประเทศอังกฤษ ประเทศแคนาดา และประเทศเยอรมนี โดยกลุ่มคนร้ายนำข้อมูลของธนาคารมากดเงินสดในประเทศไทย เจ้าหน้าที่ ปอท.จึงสืบสวนพบว่ามีการใช้บัตรเอทีเอ็มกดเงินสด บริเวณย่านศูนย์การค้าประตูน้ำ กล้องวงจรปิดจับภาพคนกดเงินไว้ได้ จึงส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ จนกระทั่งเมื่อวานนี้ จึงพบนายเอสและนายสุทรารันมากดเงินที่ตู้เอทีเอ็มชั้น 1 ศูนย์การค้าอินทราสแควร์ ซึ่งตรงกับรูปพรรณคนร้าย เจ้าหน้าที่เข้าจับกุม พบว่าทั้งสองไม่มีหนังสือเดินทาง และยังพบบัตรอิเล็กทรอนิคส์ปลอมอยู่กับตัวกว่า 10 ใบ จึงนำตัวทั้งคู่ไปค้นห้องพักโรงแรมแห่งหนึ่งย่านประตูน้ำ พบบัตรปลอมอีก 55 ใบ สอบสวนทั้งสองให้การว่ารับบัตรมาจากเพื่อนมาเลเซียอีกทอดหนึ่ง
พล.ต.ต.พิสิษฐ์กล่าวว่า ต่อมาเจ้าหน้าที่ขยายผลจับกุมผู้ต้องหาที่เหลือในห้องพักโรงแรมเดียวกัน พบบัตรปลอมอีก 77 ใบ สอบสวนทั้งหมดให้การซักทอดว่าซื้อบัตรปลอมจากประเทศมาเลเซียแล้วนำมาให้นายอโศก ชาวอินเดีย ซึ่งจะนำบัตรดังกล่าวใส่ข้อมูลที่ขโมยหรือแฮกมาจากต่างประเทศ โดยใส่ตรงแถบแม่เหล็ก ก่อนจะนำไปให้ผู้ต้องหาทั้งหมดกดเงิน โดยจะได้กันคนละ 6 ใบ แต่ละบัตรกดสูงสุด 60,000 บาท วันหนึ่งจะกดได้ถึง 360,000 บาท ตระเวนกดตามย่านประตูน้ำถึงสุขุมวิท และทุกเช้าจะต้องนำเงินดังกล่าวไปส่งให้นายอโศก ย่านประตูน้ำ โดยผู้ต้องหาทั้งหมดจะได้ส่วนแบ่งจากเงินที่กดมาร้อยละ 10 คือประมาณวันละ 30,000 บาท ทำมาแล้ว 1 เดือน มูลค่าความเสียหายถึง 10 ล้านบาท
พล.ต.ต.พิสิษฐ์กล่าวด้วยว่า สำหรับผู้ต้องหาทั้งหมดมีเชื้อชาติทมิฬ โดยสำหรับผู้ต้องหาชาวศรีลังกานั้น ทาง ปอท.ได้ประสานหน่วยงานความมั่นคงเพื่อตรวจสอบว่าเงินที่ได้มาถูกส่งไปให้กลุ่มกบฏหรือไม่ ทั้งนี้แม้ว่ากลุ่มกบฏในศรีลังกาจะมีการเจรจาสันติภาพกันแล้ว แต่โดยรวมก็ยังมีการเคลื่อนไหวอยู่ ซึ่งเจ้าหน้าที่จะตรวจสอบต่อไป ขณะที่นายอโศกนั้นเบื้องต้นเช็กฐานโทรศัพท์มือถือที่โทร.เข้ามาหาผู้ต้องหาเมื่อเย็นวานนี้ยังคงอยู่ในละแวกประตูน้ำ ซึ่งเจ้าหน้าที่จะขยายผลต่อไปเพื่อตรวจสอบว่าข้อมูลที่ได้มา มีผู้อยู่เบื้องหลังใหญ่กว่านายอโศกหรือไม่ และได้มาด้วยวิธีใด จะเป็นการแฮกจากยุโรป หรือแฮกกันเองในกลุ่มผู้ต้องหา
อย่างไรก็ตาม เบื้องต้นผู้ต้องหาทั้งหมดให้การรับสารภาพ เจ้าหน้าที่ได้แจ้งข้อหาร่วมกันเข้าถึงข้อมูลโดยมิชอบซึ่งระบบคอมพิวเตอร์ที่มีมาตรการป้องกันการเข้าถึงโดยเฉพาะและมาตรการนั้นมิได้มีไว้ใช้สำหรับตน, เข้าถึงข้อมูลโดยมิชอบซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่มีมาตรการป้องกันการเข้าถึงโดยเฉพาะมาตรการนั้นมิได้มีไว้สำหรับตน, ร่วมกันใช้และมีไว้เพื่อนำออกใช้ซึ่งบัตรอิเล็กทรอนิกส์โดยรู้ว่าเป็นของที่ทำปลอมหรือแปลงขึ้นโดยประการที่จะเกิดความเสียหายต่อผู้อื่นหรือประชาชน ส่วนผู้ต้องหาสัญชาติศรีลังกาทั้ง 2 คนโดนข้อหาเป็นบุคคลต่างด้าวเดินทางเข้ามาและอยู่ในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาตเพิ่มอีก 1 ข้อหา ควบคุมตัวดำเนินคดีตามกฎหมายและลงเป็นบัญชีดำเพื่อตรวจสอบโยงไปทั่วภูมิภาคต้องรับการเข้าเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนต่อไป