พนักงานสอบสวน สน.มีนบุรี ชี้ “แพนเค้ก” แถลงหรือให้ข่าวไม่เอาความไม่เป็นผลทางคดี ต้องยุติคดีความโดยเข้าพบพนักงานสอบสวนเท่านั้น โดยต้องชี้แจงเหตุผลที่มาที่ไปของเหตุทรัพย์สินล่องหน เตรียมสอบปากคำ “พัตเตอร์” น้องชายดาราสาวหลังมีลายนิ้วมือปรากฏที่เกิดเหตุ หากพบเป็นคนเอาทรัพย์สินไป ชี้กฎหมายเปิดช่องคนในครอบครัวสามารถยอมความได้
วันนี้ (4 ก.พ.) เวลา 13.30 น. พ.ต.ท.เทพทัต เมตตพันธุ์ พนักงานสอบสวน ผู้ชำนาญการพิเศษ สน.มีนบุรี เปิดเผยความคืบหน้ากรณี แพนเค้ก-เขมนิจ จามิกรณ์ นางเอกช่อง 7 เข้าแจ้งความว่า มีคนร้ายเข้าไปลักทรัพย์ในบ้านพักเลขที่ 295/1-3 หมู่บ้านริมสวน ซอยรามอินทรา 119/1 แขวงและเขตมีนบุรี ท้องที่ สน.มีนบุรี ได้ทรัพย์สินไปประกอบด้วย นาฬิกาโรเล็กซ์ 1 เรือน แหวนทองล้อมเพชร 1 วง และตุ้มหูเพชร 1 คู่ รวมมูลค่า 215,000 บาท ที่วางไว้บนอ่างล้างหน้าภายในห้องน้ำของห้องนอน แต่ต่อมาภายหลัง แพนเค้ก-เขมนิจ พร้อมนางนวลนง จามิกรณ์ มารดา กลับออกมาแถลงว่าทรัพย์สินได้คืนมาแล้ว ไม่มีใครขโมยไป แค่วางไว้ผิดที่เท่านั้น เป็นเรื่องเข้าใจผิดในครอบครัว และปฏิเสธว่านายภัทรนันท์ หรือพัตเตอร์ จามิกรณ์ น้องชายแพนเค้กไม่ได้เป็นคนนำทรัพย์สินไป พร้อมกับเตรียมเข้าพบพนักงานสอบสวนเพื่อขอถอนแจ้งความในคดีลักทรัพย์เร็วๆ นี้ตามที่เป็นข่าวไปแล้วนั้นว่า ขณะนี้ยังไม่ได้ติดต่อไปยังครอบครัวของแพนเค้ก คาดว่าจะติดต่อในวันนี้หรือพรุ่งนี้ เพื่อมาให้ปากคำเพิ่มเติม
พ.ต.ท.เทพทัตกล่าวอีกว่า โดยจะต้องเรียกทั้งแพนเค้ก นางนวลนง และนายภัทรนันท์มาให้ปากคำเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นว่าเรื่องราวเป็นอย่างไร ทั้งนี้จากผลการตรวจลายนิ้วมือในที่เกิดเหตุจากกองพิสูจน์หลักฐานระบุว่าเป็นลายนิ้วมือของนายภัทรนันท์ ดังนั้นจะต้องสอบปากคำอย่างละเอียดว่าเป็นอย่างไร เกี่ยวข้องกับเรื่องดังกล่าวหรือไม่ ซึ่งเบื้องต้นจะใช้วิธีโทรศัพท์ให้มาให้ปากคำก่อน แต่หากยังไม่มีใครมาก็จะต้องมีการออกหมายเรียกต่อไป ส่วนจะเป็นการแจ้งความเท็จหรือไม่ ต้องสอบปากคำเพิ่มเติมว่าผู้เสียหายมีเจตนาแจ้งความเท็จหรือไม่ ซึ่งหากรู้ว่าของไม่ได้ถูกขโมยไปตั้งแต่แรกแล้วมาแจ้งความก็จะเข้าข่ายความผิดแจ้งความเท็จ แต่หากเชื่อว่าถูกคนร้ายลักทรัพย์ตั้งแต่แรกโดยสุจริตใจ แล้วมารู้ทีหลังว่าไม่ได้ถูกขโมยไปแล้วรีบมาแจ้งความว่าได้ของคืนแล้วนั้นก็ไม่เข้าข่ายแจ้งความเท็จ ไม่มีความผิด ส่วนกรณีที่พบลายนิ้วมือของนายภัทรนันท์ในที่เกิดเหตุจนเป็นที่ตั้งข้อสังเกตว่าจะเป็นคนลักทรัพย์หรือไม่นั้น ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ต้องตรวจสอบตามคำให้การเพื่อหาข้อเท็จจริง
พ.ต.ท.เทพทัตกล่าวต่อว่า หากสอบปากคำแล้วนายภัทรนันท์ยอมรับว่าเป็นคนขโมยไปจริงก็จะเข้าข่ายความผิด แต่เรื่องนี้ในทางกฎหมายสามารถให้ยอมความกันได้ เพราะถือว่าผู้ลักทรัพย์ไปเป็นคนในครอบครัวเดียวกัน แต่ก็ต้องมาให้ปากคำแล้วถอนแจ้งความ โดยต้องเอาของกลางมาสำแดงให้ตนเห็นด้วยว่ามีอะไรบ้างที่ได้คืนมาครบหรือไม่ ทางตนก็จะได้ทำเรื่องตรวจยึดเป็นบัญชีของกลาง แล้วทำเป็นบัญชีทรัพย์สินถูกประทุษร้ายได้คืน ก่อนจะคืนให้กลับเจ้าของตามเดิม แต่หากไม่มีใครลักทรัพย์ไป เป็นเพียงเรื่องเข้าใจผิดก็ต้องนำของทั้งหมดมาแสดงกับตนด้วยเช่นเดียวกัน หากไม่มีก็ต้องชี้แจงให้ได้ว่าทำไมทรัพย์สินถึงอยู่ไม่ครบ เรื่องนี้ไม่ว่าใครจะพูดอะไรหรือจะแถลงข่าวอะไรก็ยังไม่ถือว่าเป็นผลต่อคดี คดีจะมีผลก็ต่อเมื่อผู้เสียหายเข้าให้ปากคำต่อพนักงานสอบสวนเท่านั้น จึงสามารถสรุปสำนวนคดีได้
“หากจะถอนแจ้งความก็สามารถกระทำได้ แต่ต้องดูว่าเข้าข่ายความผิดหรือไม่ ซึ่งหากเป็นความผิดในครอบครัว หรือการลักทรัพย์ในครอบครัว สามารถยอมความและถอนแจ้งได้ แต่ในสำนวนขณะนี้ในทางคดียังถือว่าเรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องของการถูกลักทรัพย์อยู่ แม้ว่าผู้เสียหายจะแถลงข่าวไปแล้วว่าเป็นเรื่องเข้าใจผิดในครอบครัวก็ตาม จะต้องเดินทางมาให้ปากคำเพื่อลงบันทึกประจำวันเพิ่มเติมก่อนจึงจะมีผลในทางคดี” พ.ต.ท.เทพทัตกล่าว