โดยผู้กองตั้ง
กลายเป็นข่าวดังในชั่วข้ามคืน สำหรับ “พี ปรเมศวร์ สิงห์โพธิ์” ดาราช่อง 3 วัย 33 ปี หลังอ้างว่าได้ทำปืนลั่นใส่เพื่อนสนิท นายนพปฎล อธิบาย หรือเอ อายุ 44 ปี ซึ่งเป็นหุ้นส่วนร้านมิวส์ ทองหล่อ สถานบันเทิงชื่อดังในย่านทองหล่อเสียชีวิตเมื่อวันที่ 17 ม.ค.เวลาประมาณ 06.00 น.
สืบเนื่องมาจากนายนพปฎล หรือพี่เอปาน ที่เพื่อนๆ และน้องดาราในวงการบันเทิงเรียกขาน จะเข้าไปห้ามปราม “ปรเมศวร์” ซึ่งมีปากเสียงกับแฟนสาวไม่ให้ทะเลาะกัน ซึ่งมาทราบในภายหลังว่าแฟนสาวที่เพิ่งคบดูใจกันไม่นานนั้นคือ “น้องปุ๊ก สุธาศิณี งิ้วงาม” อายุ 26 ปี บุตรสาวของป๋อง สุพรรณ เซียนพระชื่อดัง
ที่สำคัญคือ หลังเกิดเหตุนายปรเมศวร์ได้ขับรถเบนซ์สีขาว รุ่น อี 250 ทะเบียน กน 111 กทม. ซึ่งจากการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่พบว่ารถคันดังกล่าวจดทะเบียนในนามของนายเสมอ งิ้วงาม หรือป๋อง สุพรรณ พนักงานสอบสวนจึงได้พ่อ-ลูกคู่นี้มาสอบปากคำในทันที โดยป๋องให้การว่ารถคันดังกล่าวได้ซื้อไว้ให้ลูกสาวใช้เมื่อ 2 ปีที่แล้ว ส่วนป๋องไม่รู้เห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ จึงขอแสดงความบริสุทธิ์ใจด้วยการให้ข้อมูลและข้อเท็จจริงต่อพนักงานสอบสวนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
ขณะที่ นายปรเมศวร์ ซึ่งตกเป็นผู้ต้องหาตัดสินใจนำอาวุธปืนกล็อก ขนาด 9 มม.เดินทางเข้ามอบตัวต่อพนักงานสอบสวน สน.ทองหล่อ พร้อมรับทราบข้อหาพยายามฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา โดยมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนไว้ในความครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต พกพาอาวุธปืนและยิงปืนในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุอันควร ก่อนใช้หลักทรัพย์เป็นเงินสดจำนวน 200,000 บาท ประกันตัวออกไป
คดีนี้กลายเป็นเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ในโลกโซเซียลมีเดียว่า เหตุใดเจ้าหน้าที่จึงปักใจเชื่อตามคำบอกเล่าของผู้ต้องหาว่าเป็นแค่เหตุบังเอิญทำปืนลั่น จึงได้แจ้งข้อพยายามฆ่าเท่านั้น ทั้งที่พยานบุคคลและกล้องวงจรปิดสามารถจับภาพในที่เกิดเหตุไว้ได้ในระยะ 5 เมตรเท่านั้น ...และเป็นที่ผิดสังเกตว่าเหตุใดตำรวจจึงประสานขอภาพจากกล้องวงจรปิดไม่ได้สักที เวลายิ่งล่วงเลยยาวนานเท่าใด คดีก็จะยิ่งดำมืดเข้าไปทุกที
หลังถูกกระแสสังคมกดดันอย่างหนัก นายตำรวจชั้นผู้ใหญ่ในนครบาลจึงต้องลงมากำชับคดีนี้ด้วยตนเอง โดยยืนยันว่าคดีนี้ไม่มีอะไรซับซ้อน และเจ้าหน้าที่จะต้องทำงานอย่างตรงไปตรงมาและให้ความเป็นธรรมต่อทุกฝ่าย พร้อมสั่งให้ สน.ทุ่งสองห้องทำการสอบปากคำ “ป๋อง สุพรรณ” เจ้าของพื้นที่ที่รถเบนซ์ต้องสงสัยจอดอยู่ภายในบ้านว่าในวันเกิดเหตุให้ใครยืมรถไปใช้หรือไม่
ขณะเดียวกัน พนักงานสอบสวนจึงได้ติดต่อให้นายปรเมศวร์เข้าพบเพื่อรับทราบข้อหาฆ่าคนตายโดยเจตนาเพิ่มในวันที่ 21 ม.ค.
โดยนายปรเมศวร์ได้ยกมือไหว้สื่อมวลชนที่มาทำข่าว พร้อมทั้งกล่าวเพียงสั้นๆ กับทางสื่อมวลชนที่เดินทามารอทำข่าวว่า “ขอกราบขอโทษในสิ่งที่ตนได้ทำลงไป ถ้าหากย้อนเวลากลับไปได้ ไม่ขอทำแบบนี้เด็ดขาด หรือไม่อย่างนั้นผมก็จะขอเป็นคนที่ตายแทนเอง”
พร้อมแจกใบแถลงการณ์ สรุปเนื้อหาได้ว่า “ณ วันนี้ผมได้มารับทราบข้อกล่าวหาเพิ่มเติมและข้าพเจ้าทราบว่าสื่อมวลชนทั้งหลายจะต้องมารอทำข่าวในเรื่องที่เกิดขึ้น ที่ข้าพเจ้าเองก็เกิดความเสียใจอย่างสุดซึ้ง อย่างจริงใจ ในเหตุการณ์ของการสูญเสียบุคคลที่มีคุณค่าต่อสังคมและเพื่อนพ้องน้องพี่ ที่ต้องเกิดเหตุอันไม่น่าจะมีเหตุต้องเกิดขึ้น แต่ก็ได้เกิดขึ้นไปแล้ว ข้าพเจ้าขอให้วิญญาณอันศักดิ์สิทธิ์ของนายนพปฎล อธิบาย โปรดเมตตา กรุณา อโหสิกรรมเรื่องที่เกิดขึ้นที่เราจะไม่จองเวรจองกรรมในภพนี้และในชาตินี้และชาติต่อๆ ไป ในส่วนที่ท่านจะต้องละสังขารนั้นไป และในส่วนของข้าพเจ้าก็จะมีทุกข์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต อันเกี่ยวกับการต้องเผชิญการถูกกล่าวหาและแก้ข้อกล่าวหาไปจนถึงที่สุดแห่งกระบวนการยุติธรรม
“ซึ่ง ณ เวลานี้ ข้าพเจ้าเป็นจำเลยของสังคม ซึ่งถือเป็นความทุกข์ยิ่งกว่าเป็นจำเลยในกระบวนการยุติธรรม ด้วยเหตุนี้ข้าพเจ้าจึงไม่ขอให้ข่าวด้วยวาจาใดๆ ต่อสื่อมวลชน ด้วยเหตุผลและหลักการตามที่จะแจ้งต่อสื่อมวลชนที่มีความมุ่งหวังดี ที่จะให้มีข่าวเพื่อเป็นอุทาหรณ์ให้กับสังคม แต่ข้าพเจ้าก็ยังต้องยอมรับกระบวนการยุติธรรมเป็นประการสำคัญ
“ดังนั้นข้าพเจ้าขอให้เหตุผลต่อสื่อมวลชนดังนี้การจะให้ข่าวใดๆ เป็นข้อเท็จจริงทางคดี บุคคลที่ไม่ควรพูดต่อสาธารณชน คือ เจ้าพนักงานตำรวจ ผู้ต้องหา ส่วนผู้เสียหาย เขาเสียหายคือถึงแก่ความตาย เป็นสิทธิที่ญาติหรือสังคมจะมีสิทธิในการพูดให้ข่าว เป็นสิทธิของเขา แต่การวินิจฉัยถูกหรือผิดในคดีว่าจะเป็นพยายามฆ่า ฆ่าคนตายโดยเจตนา ประมาทป้องกันตัว ไม่เจตนาฆ่า หรือบันดาลโทสะ ศาลเป็นผู้วินิจฉัย ไม่ใช่สังคมเป็นผู้วินิจฉัยการที่สังคมเรียกตำรวจไปให้ข้อเท็จจริงทางคดีต่อสาธารณชนและมีผู้ถาม และวินิจฉัยและให้เหตุผลทางคดีเสมือนเช่นอยู่ในขบวนการพิจารณาของศาล และชี้ขาดให้เหตุผลถูกหรือผิดทางคดี
ตรงนี้สังคมควรพิจารณาอย่างลึกซึ้งว่าสิทธิเสรีภาพในการแสดงเช่นนั้นกับสิทธิและอำนาจหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรมนั้นสื่อควรจะมีขอบเขตอย่างไร จึงเรียนแถลงข่าวเป็นหนังสือแทนวาจาต่อสื่อมวลชนเพียงเท่านี้ ขอขอบพระคุณ ลงชื่อ ปรเมศวร์ สิงห์โพธิ์”
ด้านดาราเพื่อนของผู้เสียชีวิต อาทิ “นาตาลี เดวิส”, “บอย-ปกรณ์ ฉัตรบริรักษ์”, “เปิ้ล ภารดี อยู่ผาสุก”, “เบนซ์ พรชิตา ณ สงขลา” ดาหน้าออกมาจวก “พี ปรเมศวร์ สิงห์โพธิ์” ดารานักแสดงช่อง 3 ที่ใช้ปืนยิงนายนพปฎล กระสุนฝังในศีรษะและเสียชีวิตอย่างเหี้ยมโหด พร้อมวิงวอนให้ตำรวจนำตัวคนผิดมาลงโทษ เพราะต่างก็เชื่อว่าไม่ใช่ปืนลั่นอย่างที่มีข่าวออกมา
ขณะที่ ป้อง ณวัฒน์ กุลรัตนรักษ์, เต๋า อดิศร อรรถกฤษณ์ หรือ “เต๋า ดราก้อนไฟว์”, โบ เบญจวรรณ อาร์ตเนอร์, จ๋า ยศสินี ณ นคร ฯลฯ พร้อมเปิดใจเป็นเสียงเดียวกันว่าไม่เชื่อว่าปืนลั่น ยืนยันผู้ตายเป็นคนดีมาก และเป็นที่รักของครอบครัวและเพื่อนฝูง ก่อนประกาศจะไม่ยอมให้เรื่องเงียบ ไม่ว่าจะใหญ่มาจากไหน คนผิดต้องได้รับโทษ
พร้อมตั้งสังเกตว่า การเสียชีวิตของนายนพปฎล คดีนี้น่าจะมีเงื่อนงำ เพราะผู้ตายเสียชีวิตตั้งแต่ช่วงเช้ามืดของเมื่อวานนี้ (18 ม.ค.) แต่เพิ่งมาเป็นข่าวเมื่อช่วงค่ำ เพราะน้องๆ ซึ่งเป็นดาราดัง อาทิ มากี้ ราศรี, เคน ภูภูมิ หรือผู้จัดละครคนดัง อย่างจ๋า ยศสินี ช่วยกันโพสต์เรื่องราวดังกล่าวจนสื่อมวลชนให้ความสนใจ ท่ามกลางกระแสข่าวลือว่ามีการสั่งปิดข่าว ขณะที่กล้องวงจรปิดก็ไม่สามารถบันทึกภาพเหตุการณ์ได้ ทั้งๆ ที่สถานที่เกิดเหตุเป็นตึกหรูมีระดับย่านทองหล่อ และมีซูเปอร์มาร์เกตเปิดตลอด 24 ชั่วโมง
ขณะที่การแจ้งข้อหาของพนักงานสอบสวนในเบื้องต้นแค่พยายามฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา ก็ขัดต่อหลักการวินิจฉัยจากแนวพิพากษาฎีกา ซึ่งผู้ที่ถือกฎหมายและทำหน้าที่พิทักษ์สันติราษฎร์น่าจะทราบดีหากไม่ปิดตาข้างหนึ่งเอาไว้ โดยหลักการวินิจฉัยจากแนวพิพากษาฎีกามีดังนี้
1. ดูจากความร้ายแรงของอาวุธ
2. ดูจากอวัยวะที่ถูกกระทำ
3. ดูจากลักษณะบาดแผลที่ได้รับ
4. ดูจากพฤติการณ์อื่นๆประกอบ
ทั้งนี้หากผู้ต้องหาใช้อาวุธ และเป็นอาวุธปืน ปกติศาลฎีกาถือว่ามีเจตนาฆ่า
อาทิ-ฎีกาที่ 1006/2501 หากจำเลยเล็งอาวุธปืนไปที่หน้าอกผู้เสียหายแล้ว เผอิญมีคนมาปัดปืน กระสุนไปถูกผู้อื่นที่เท้า เช่นนี้ ถือว่าจำเลยมีเจตนาฆ่า
หรือ( ฎีกาที่ 870/2526 )
-หรือกรณีที่ผู้เสียหายหลบได้ทัน เพราะได้ระวังตัวอยู่ก่อน กระสุนจึงพลาดไปถูกขา เช่นนี้ แสดงว่าจำเลยมีเจตนาฆ่า
ซึ่งพฤติการณ์ของนายปรเมศวร์และจากบาดแผลของผู้เสียชีวิตในวันเกิดเหตุจะปฏิเสธไม่ได้ว่าผู้ต้องหาฆ่าผู้อื่นโดยเจตนาอย่างแน่นอน คดีนี้จึงเป็นละครชีวิตที่เพื่อนและญาติของผู้เสียชีวิต ยังกังขาต่อการการทำหน้าที่ของพนักงานสอบสวนในเบื้องต้น ที่ขัดแย้งต่อหลักฐานทั้งพยานบุคคลและพยานแวดล้อม
คดีนี้จึงเป็นบทพิสูจน์การทำหน้าที่ของกระบวนการยุติธรรมชั้นต้นอีกหนึ่งคดีว่า จะสามารถสร้างความเป็นธรรมให้กับทางญาติของผู้เสียชีวิตได้มากน้อยแต่ไหนหรือจะตกอยู่ภายใต้อำนาจและอิทธิพลที่หนุนหลังอยู่บางประการ