สืบสวน บช.น.แถลงข่าวจับกุมหัวหน้าแก๊งอดีตพนักงานขายบัตรเครดิตปลอมแปลงบัตรเครดิตสถาบันการเงินกว่า 10 สถาบันรูดมือเติบสร้างความเสียหายกว่า 3 ล้านบาท
วันนี้ (24 ม.ค.) เวลา 10.00 น. ที่ บก.สส.บช.น. พ.ต.อ.ธัมรงค์ วงศ์แป้น รอง ผบก.สส.บช.น. พ.ต.อ.พันธุ์เทพ ธรรมจารี รอง ผบก.สส.บช.น. พ.ต.อ.ชูตระกูล ยศมาดี ผกก.วิเคราะห์ข่าวฯ พ.ต.ต.สรรเพชร สุวรรณไตร สว.กก.วิเคราะห์ข่าวฯ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.วิเคราะห์ข่าวและเครื่องมือพิเศษ บก.สส.บช.น. แถลงจับกุมหัวหน้าแก๊งอดีตพนักงานขายบัตรเครดิต นายธีรศาสตร์ นกอำพล อายุ 57 ปี อยู่บ้านเลขที่ 818 ถ.มาเจริญ แขวงและเขตหนองแขม กรุงเทพฯ ตามหมายจับศาลจังหวัดสมุทรปราการ ที่ 685/2552 ข้อหา ฉ้อโกงโดยแสดงตนเป็นบุคคลอื่น, ใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ของผู้อื่นฯ และตามหมายจับศาลจังหวัดนครปฐม ที่ จ.614/2552 ข้อหาปลอมและใช้เอกสารปลอม, ใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ของผู้อื่นโดยมิชอบ พร้อมของกลางบัตรเครดิตธนาคารนครหลวงไทย 1 ใบ, บัตรเครดิตธนาคารธนชาต 1 ใบ และบัตรเครดิตธนาคารซีไอเอ็มบี 2 ใบ สามารถจับกุมตัวได้ที่ตู้เอทีเอ็มหน้าธนาคารกรุงเทพ สาขาสมุทรปราการ ต.ปากน้ำ อ.เมือง จ.สมุทรปราการ
พ.ต.อ.ธัมรงค์เปิดเผยว่า เนื่องจากทางเจ้าหน้าที่ได้รับการประสานจากธนาคารกรุงศรีอยุธยาว่า มีกลุ่มมิจฉาชีพทำการคัดลอกสำเนาเอกสารและปลอมลายมือชื่อลูกค้า สวมรอยนำไปสมัครบัตรเครดิตธนาคารต่างๆ โดยที่ลูกค้าไม่ทราบเรื่อง เมื่อทางธนาคารหลงเชื่ออนุมัติบัตรเครดิตให้และจัดส่งบัตรเครดิตไปยังอพาร์ตเมนต์ที่คนร้ายเช่าหลอกไว้แล้วเปลี่ยนที่อยู่ไปเรื่อยๆ หากผู้ต้องหาติดขัดเรื่องรับบัตรเครดิตกับทางไปรษณีย์ก็จะมีผู้ร่วมขบวนการเป็นหญิงทำทีไปรับแทน โดยนายธีรศาสตร์จะเซ็นมอบอำนาจให้ไปรับแทน จากนั้นเมื่อคนร้ายได้บัตรเครดิตแล้วจะติดต่อไปยังธนาคารเพื่อขอใช้งาน หลังจากนั้นจะนำบัตรเครดิตไปตระเวนกดและรูดเงินสดใช้จนเต็มวงเงินบ่อยครั้งจนเป็นที่ผิดสังเกต ซึ่งทำกับสถาบันการเงินมากว่า 10 แห่ง ต่อเนื่องกันตั้งแต่ปี 2552 ถึงปัจจุบัน โดยไม่เคยถูกจับกุมมาก่อน
ต่อมาเจ้าหน้าที่ประสานข้อมูลกับทางธนาคารจนกระทั่งทราบว่าคนร้ายคือนายธีรศาสตร์ จึงขยายผลสืบสวน กระทั่งเมื่อวันที่ 23 ม.ค. 56 เวลาประมาณ 15.00 น. พบผู้ต้องหากำลังจะกดเงินจากตู้เอทีเอ็มบริเวณหน้าธนาคารกรุงเทพ สาขาสมุทรปราการ จึงนำกำลังเข้าจับกุมผู้ต้องหาพร้อมด้วยของกลางบัตรเครดิตจำนวน 4 ใบ ควบคุมตัวมาสอบสวน นอกจากนี้ ตรวจสอบพบว่า สถาบันการเงินที่ได้รับความเสียหายมากที่สุดเป็นธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำนวนกว่า 16 ใบ จำนวน 1.2 ล้านบาท และสถาบันการเงินต่างๆ รวมมูลค่าความเสียหายกว่า 3 ล้านบาท และเชื่อว่ามีผู้เสียหายอีกกว่า 80 ราย
จากการสอบสวนนายธีรศาสตร์ให้การรับสารภาพว่า ได้ก่อเหตุดังกล่าวจริงโดยอดีตเคยเป็นพนักงานขายสินเชื่อของบัตรเครดิตรซิตี้แบงก์ แต่ลาออกเมื่อปี 2549 โดยอาศัยความรู้จากการเป็นพนักงานขายบัตรเครดิตมาก่อน และเห็นช่องทางในการทุจริตจึงนำสำเนาเอกสารของลูกค้ามาปลอมลายมือชื่อเพื่อสวมรอยนำไปใช้บัตรเครดิตต่างๆ เมื่อเจ้าของธนาคารอนุมัติบัตรเครดิตให้จะนำไปกดเงินสดแล้วนำไปรูดซื้อสินค้าและทองคำ หลังจากนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจจะติดตามผู้ร่วมขบวนการที่เหลือมาดำเนินคดี รวมถึงเตือนประชาชน ในกรณีการมอบเอกสารหลักฐานส่วนบุคคลต้องมีการตรวจสอบอย่างรอบคอบ รวมถึงเตือนธนาคารที่ปล่อยสินเชื่อบัตรเครดิตควรมีระบบที่ให้ลูกค้าตรวจสอบเจ้าหน้าที่ขายสินเชื่อ เพื่อป้องกันมิจฉาชีพและเพื่อป้องกันความเสียหาย