xs
xsm
sm
md
lg

ไทยเป็นเจ้าภาพจัดประชุมอัยการโลก

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

แฟ้มภาพ
ไทยเป็นเจ้าภาพจัดประชุมสมาคมอัยการโลก โดยมีสมาชิกเข้าร่วมจากประเทศต่างๆ กว่า 600 คนเพื่อส่งเสริมกระบวนการดำเนินคดีอาญาให้มีประสิทธิภาพ รวมถึงกระบวนการป้องกันหรือจัดการความผิดพลาดในหลักนิติธรรม ป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมข้ามชาติให้มีประสิทธิภาพ

วันนี้ (29 ต.ค.) ที่โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ แอท เซ็นทรัลเวิลด์ นายจุลสิงห์ วสันตสิงห์ อัยการสูงสุด เป็นประธานเปิดงานการประชุมสามัญประจำปี สมาคมอัยการระหว่างประเทศครั้งที่ 17 ( The 17th Internationnal Association of Prosecutor Annual Conference) อย่างเป็นทางการ ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ ณ ห้องเวิล์ดบอลรูม ชั้น 23 โรงแรมเซ็นทรา แกรนด์ แอท เซ็นทรัลเวิลด์ โดยมี มิสเตอร์ เจมส์ แฮมิลตัน ( Mr.James Hamilton) ประธานสมาคมอัยการระหว่างประเทศร่วมด้วย

โดยมีอัยการทั่วโลกเดินทางมาร่วมประชุมในครั้งนี้ ประมาณ 600 คน และภายในงานยังจะมีพิธีมอบรางวัลอัยการประจำปีด้วย 5 รางวัล ซึ่งการประชุมจัดขึ้นระหว่างวันที่ 28 ต.ค.- 2 พ.ย.นี้ เพื่อส่งเสริมกระบวนการดำเนินคดีอาญาให้มีประสิทธิภาพ เป็นกลาง รวมถึงกระบวนการป้องกันหรือจัดการความผิดพลาดในหลักนิติธรรม และเพื่อช่วยเหลืออย่างสากลให้กับพนักงานอัยการในการต่อสู้กับองค์กรอาชญากรรมหรืออาชญากรรมร้ายแรงอื่นๆ ในมุมของการดำเนินคดีอย่างเหมาะสม เป็นอิสระ รวดเร็วและมีประสิทธิภาพ อีกทั้งยังเป็นการสร้างความร่วมมือและสัมพันธ์อันดีระหว่างพนักงานอัยการ

นายจุลสิงห์ วสันตสิงห์ อัยการสูงสุด กล่าวว่า สมาคมอัยการระหว่างประเทศจัดตั้งขึ้นในปี 2538 ที่สำนักงานสหประชาชาติ ประเทศออสเตรีย โดยการร่วมแรงร่วมใจกันของอัยการประเทศต่างๆ เพื่อร่วมมือกันปราบปรามอาชญากรรมข้ามชาติ และการกระทำความผิดที่สลับซับซ้อนและมีข้อยุ่งยากในการปราบปรามและการดำเนินคดี รวมทั้งร่วมกันส่งเสริมมาตรฐานวิชาชีพ คุณธรรมและจรรโลงไว้ซึ่งศักดิ์ศรีของอัยการทั่วโลก ซึ่งในการประชุมจัดตั้งสมาคมอัยการระหว่างประเทศนั้น สำนักงานอัยการสูงสุดได้ส่งผู้แทนเข้าร่วมประชุมและได้มีส่วนร่วมในการกระตุ้นให้เกิด การจัดตั้งสมาคมอัยการระหว่างประเทศขึ้น และประเทศไทยได้รับเกียรติในฐานะประเทศผู้ร่วมจัดตั้งสมาคม รวมทั้งอัยการสูงสุดได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งกรรมการบริหารสมาคมติดต่อกันมาทุกสมัยจนถึงปัจจุบัน

นายจุลสิงห์ กล่าวต่อว่าประเทศไทยเคยได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมในระดับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ครั้งที่ 1 เมื่อปี 2546 ซึ่งสร้างความประทับใจให้กับผู้เข้าร่วมประชุม ด้วยเหตุนี้ ฝ่ายเลขาธิการสมาคมจึงได้ทาบทามสำนักงานอัยการสูงสุด ขอให้ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสามัญประจำปี ครั้งที่ 17 ซึ่งประเทศไทย ได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเป็นครั้งแรก แสดงให้เห็นถึงความพร้อมของประเทศไทยในฐานะเป็น ผู้มีบทบาทในการสนับสนุนการสร้างเครือข่ายร่วมกันระหว่างพนักงานอัยการเพื่ออำนวยความยุติธรรมระดับนานาชาติ โดยการประชุมจัดขึ้นระหว่างวันที่ 28 ตุลาคม - 2 พฤศจิกายนนี้ ที่บางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ กรุงเทพมหานคร โดยมีอัยการสูงสุด อัยการระดับสูง รัฐมนตรียุติธรรม จากประเทศสมาชิกของสมาคมอัยการระหว่างประเทศ รวมทั้งอัยการในสังกัดสำนักงานอัยการสูงสุดของไทย และผู้ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรมทั้งในและต่างประเทศ เข้าร่วมประชุมกว่า 600 คน ซึ่งหัวข้อหลักของการประชุมในครั้งนี้ คือ อาชญากรรมข้ามชาติ : การขยายตัวไปในพื้นที่ ที่มีความหลากหลายของความผิดทางอาญาและบทบาทของอัยการ

"สิ่งที่ทุกฝ่ายคาดหวังให้เกิดขึ้นในการประชุมในครั้งนี้ คือ ความร่วมมือในการประสานงานกันอย่างใกล้ชิดระหว่างสถาบันอัยการของไทยและนานาประเทศ กระตุ้นและผลักดันกระบวนการยุติธรรมทั่วโลกให้ตระหนักถึงความยุติธรรมที่ถูกต้อง เหมาะสม ได้มาตรฐานผ่านองค์กรอัยการเกิดการต่อยอดองค์ความรู้ร่วมกันระหว่างพนักงานอัยการ จากประเทศต่างๆ โดยเฉพาะในเรื่องที่เกี่ยวกับวิธีการกระทำความผิดต่างๆ ขององค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ การป้องกันและปราบปรามรวมทั้งเสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างหน่วยงานและสำนักงานอัยการสูงสุดของประเทศไทยและหน่วยงานและสถาบันอัยการและสมาคมอัยการของประเทศต่างๆ" นายจุลสิงห์ กล่าว

นายจุลสิงห์ กล่าวยังกล่าวต่ออีกว่า ประเทศไทยได้รับเกียรติเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเป็นครั้งแรก เพื่อส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศในการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมข้ามชาติให้มีประสิทธิภาพ เนื่องจากปัจจุบันปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น มีรูปแบบการกระทำความผิดซับซ้อนและความยุ่งยากในการดำเนินคดี การประชุมในครั้งนี้จึงเป็นการและเปลี่ยนประสบการณ์และความรู้ทางกฎหมาย โดยจะหารือเกี่ยวกับกฎหมายอาชญากรรมข้ามชาติ เช่น คดียาเสพติด การค้ามนุษย์ การลักพาแรงงานข้ามชาติ คดีฉ้อโกง และคดีฟอกเงิน เนื่องจากปัญหาดังกล่าวไม่ได้เกิดที่ประเทศใดประเทศเดียว แต่จะเกี่ยวโยงในหลายประเทศด้วย อีกทั้งปัจจุบันเทคโนโลยีมีความก้าวหน้ามากยิ่งขึ้น จึงทำให้การติดตามจับกุมคนร้ายทำได้ยากขึ้น เราจึงต้องพัฒนากฎหมายให้ก้าวหน้ามากกว่าอาชญากร พร้อมทั้งอาศัยความร่วมมือกันในการหามาตรการต่อสู้ เพื่อให้เกิดมุมมองและกระบวนการยุติธรรมใหม่ที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการบังคับใช้กฎหมายเพื่อความสงบสุขโดยรวมของประเทศ
นอกจากนี้ไทยได้ดำเนินการเกี่ยวกับกฎหมายองค์กรอาชญากรรม ซึ่งกฎหมายดังกล่าวจะกำหนดฐานความผิดของผู้กระทำและผู้สนับสนุน โดยกำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาของสภา ส่วนการติดตามพยานหลักฐานและการยึดทรัพย์จะอยู่ในกฎหมายความร่วมมือระหว่างประเทศทางคดีอาญา ซึ่งประเทศไทยมีกฎหมายฉบับนี้อยู่แล้วโดยอัยการสูงสุดเป็นผู้ประสานงานในเรื่องนี้ อย่างไรก็ตามหลังจากประชุมดังกล่าวจะมีการพิจารณาแก้ไขกฎหมายเพื่อให้พัฒนามากยิ่งขึ้น

เมื่อถามถึงเรื่องกรณีการไซฟ่อนเงินจะมีการบังคับใช้กฎหมายอย่างไร นายจุลสิงห์ กล่าวว่า การไซฟ่อนเงินหมายถึงคนที่กระทำความผิดในฐานความผิดต่างๆ 8-9 ฐานความผิด ซึ่งเงินที่ได้มาถ้าแปรรูปเป็นทรัพย์สินอย่างอื่นเราก็สามารถตามยึดทรัพย์ได้ อย่างเช่นเงินจากการค้ายาเสพติด หากนำไปซื้อบ้าน ซื้อรถ หรือแปรเป็นธุรกิจอื่นๆ ซึ่งหากเป็นความผิดเกิดขึ้นในประเทศไทยกฎหมายก็สามารถดำเนินการได้ทันที แต่หากเป็นความผิดเกิดขึ้นในต่างประเทศก็จะต้องอาศัยความร่วมมือกัน เช่น ทางอัยการสงสัยว่า นาย ก. มีทรัพย์สินอยู่ที่ไหนบ้าง ก็สามารถประสานงานกับอัยการต่างประเทศ เพื่อให้สืบหาทรัพย์สินทั้งหมดได้ หรือสืบหาว่านาย ก. ไปกระทำความผิดอะไรในต่างประเทศบ้าง
เมื่อถามว่า กรณีการไซฟ่อนที่ประเทศฮ่องกงทางอัยการมีข้อมูลว่านักการเมืองไทยเกี่ยวข้องด้วยหรือไม่ นายจุลสิงห์ กล่าวว่า ขณะนี้ยังตอบไม่ได้ แต่ปกติแล้วทุกประเทศมีการไซฟ่อนเงินทั้งนั้น โดยในเรื่องนี้สำนักงาน ป.ป.ง. เป็นเจ้าของเรื่อง ส่วนอัยการจะเป็นผู้ประสานดำเนินการให้อีกช่องทางหนึ่ง ทั้งนี้ในการประชุมจะหารือในเรื่องหลักการทฤษฎีมากกว่า

Mr.james Hamilton ประธานสมาคมอัยการระหว่างประเทศ กล่าวว่า การประชุมอัยการเป็นเรื่องที่ดีเพราะเป็นโอกาสในการเชื่อมความสัมพันธ์แลกเปลี่ยนประสบการณ์เกี่ยวกับงานในหน้าที่ระหว่างกัน อันจะนำมาเรื่องวัตถุประสงค์ร่วมกันของพนักงานอัยการทุกประเทศคือการปราบปรามอาชญากรรมเพื่อให้ประชาชนอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุขปลอดภัย
จะเห็นได้ว่าเราอยู่ในโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างฉับไว รูปแบบของอาชญากรรมมีแนวโน้มซับซ้อนมากขึ้น การกระทำความผิดมีลักษณะเป็นองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติมีธุรกรรมการเปลี่ยนแปลงรวดเร็วอยู่เสมอเกินกว่าที่กระบวนการยุติธรรมจะสามารถรับมือได้อย่างท่วงทีในทุกคดี การแผ่ขยายของอาชญากรรมข้ามชาติเป็นภัยอันตรายต่อประชาคมโลก เช่นการคมนาคมที่สะดวกกลับส่งผลให้ให้ผู้ด้อยทางสังคมตกเป็นเหยื่อยาเสพติดและกระบวนการค้ามนุษย์มากยิ่งขึ้น ทั้งการลักลอบค้ายาเสพย์ติดนำเข้าแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย ทั้งการค้าไม้และสัตว์ป่ารวมถึงการทำลายระบบการเงินโดยการฟอกเงิน

เราควรตะหนักว่าปัญหาไม่สามารถหมดไปในระยะเวลาสั้นๆ และความร่วมมือทางอาญานั้นไม่สามารถเกิดขึ้นได้โดยอาศัยเครื่องมือทางกฎหมายเพียงอย่างเดียวแต่จะมีประสิทธิภาพได้นั้นก็ต้องขึ้นอยู่กับบุคคลากรในกระบวนการยุติธรรมแต่ละประเทศที่ต้องปฏิบัติหน้าที่อย่างจริงจัง ในฐานะพนักงานอัยการควรตะหนักในหน้าที่ของเราคือ ร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อให้บรรลุเป้าหมายในการจัดองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ
กำลังโหลดความคิดเห็น