xs
xsm
sm
md
lg

เปิดคำสั่ง 1212 / 2537 สกัด สีกากีสารเลว

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

(แฟ้มภาพ) พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผบ.ตร
ตรงเป้า
ศรรามา

ตำรวจนครบาลขานรับคำสั่งของ พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ตั้งคณะกรรมการสอบสวนผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้น ของ ด.ต.มนัส เสือโพธิ์ อดีต ผบ.หมู่จราจร สน.ประชาชื่น เพื่อลงโทษทางวินัย กรณีปล่อยปละละเลยไม่สอดส่องดูแลผู้ใต้บังคับบัญชา ตามคำสั่งกรมตำรวจที่ 1212 / 2537 ลงวันที่ 1 ตุลาคม 2537 สมัย พล.ต.อ.พจน์ บุณยะจินดา เป็น อ.ตร.

สอบกราวรูดตั้งแต่รอง สว.จร. สว.จร. รอง ผกก.จร. และ ผกก.สน.ประชาชื่น ไม่มีใครรู้ว่า ด.ต.มนัสขับรถขนยาบ้ายาไอซ์จากภาคเหนือ เข้ากรุงเทพฯ มา 2 ปีแล้ว มีฐานะในระดับเศรษฐี จับรถเก๋งบีเอ็มดับบลิวไปทำงานบ้านช่องห้องหับอยู่ที่ไหนก็น่าจะรู้

แต่ พ.ต.ท.ณรงค์ชัย น้อยศรี รอง ผกก.จร.ประชาชื่น ออกมาบอกว่าบ้าน ด.ต.มนัสเขารวย มีญาติเป็นสมาชิกสภาจังหวัดอ่างทอง (ซะด้วย) และเมื่อ ด.ต.มนัสออกเวร ใครจะตามไปดูพฤติการณ์ ในเมื่อเป็นเรื่องส่วนตัว มันก็แปร่งหูพิกล เหมือนเป็นผู้บังคับบัญชากันในเวลาทำงาน เลิกงานแล้ว ต่างคนต่างไปต่างคนต่างอยู่

เมื่อคำสั่งที่ 1212 / 2537 เรื่องมาตรการควบคุมและเสริมสร้างความประพฤติและวินัยข้าราชการตำรวจ ยังมีผลบังคับใช้จนถึงปัจจุบัน พล.ต.อ.อดุลย์เห็นความสำคัญในการจัดระเบียบ ไม่ให้ตำรวจแตกแถวไปสร้างความเสื่อมเสียให้องค์กรพิทักษ์สันติราษฎร์ จึงงัดคำสั่งนี้ออกมาใช้

13 ปี มาแล้วแต่เนื้อหาสาระของคำสั่งยังทันสมัยอยู่ เริ่มต้นก็กระตุ้นต่อมความรับผิดชอบของตำรวจทุกนาย ให้รู้ตลอดเวลาว่าตัวเองเป็นใคร ไม่ต้องไปตะคอกถามประชาชนว่า “มึงไม่รู้หรือ กูเป็นใคร”

1212 / 2537 ระบุว่า ข้าราชการตำรวจมีอำนาจหน้าที่ รักษาความสงบเรียบร้อยภายในราชอาณาจักร เพื่อบำบัดทุกข์บำรุงสุขให้แก่ประชาชน รักษากฎหมายเกี่ยวกับการกระทำผิดในทางอาญา และดูแลรักษาผลประโยชน์ของสาธารณะ

ปัจจุบัน มีข้าราชการตำรวจบางคน ประพฤติตนหรือปฏิบัติหน้าที่ราชการ โดยไม่ยึดถือกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ คำสั่ง แบบแผนธรรมเนียม เป็นเหตุให้ถูกวิพากษ์วิจารณ์จากประชาชน เกิดความเสียหายต่อภาพลักษณ์ของกรมตำรวจ และข้าราชการตำรวจโดยส่วนรวม ประชาชนขาดความเลื่อมใสศรัทธา ซึ่งส่งผลกระทบต่อการบริหารงานของรัฐบาล กระทรวงมหาดไทย และกรมตำรวจ

ด้านมาตรการควบคุม ให้หัวหน้าหน่วยงานทำเป็นคำสั่งระบุให้ชัดเจน ผู้บังคับบัญชาคนใดรับผิดชอบต่อผู้ใต้บังคับบัญชาคนใดบ้าง ลดหลั่นกันลงไป เมื่อทราบหรือพบว่าผู้ใต้บังคับบัญชา กระทำผิดกฎหมายหรือวินัย หรือมีพฤติการณ์ที่ไม่เหมาะสมอาจก่อให้เกิดความเสียหาย ต้องรีบดำเนินการตามอำนาจหน้าที่โดยเฉียบขาดทันที และทันต่อเหตุการณ์

ผู้บังคับบัญชาที่ละเลย นอกจากจะต้องถูกพิจารณาความบกพร่อง ถูกงดการขอเลื่อนขั้นและอัตราเงินเดือนประจำปี หรือถูกงดบำเหน็จความชอบ และงดการเลื่อนตำแหน่งสูงขึ้นในรอบปีแล้ว ให้พิจารณาแต่งตั้งปรับเปลี่ยนตำแหน่งหน้าที่ หรือเปลี่ยนแปลงหน้าที่รับผิดชอบ เพื่อให้เกิดความเหมาะสมในโอกาสแรก ตามควรแก่กรณีอีกส่วนหนึ่งด้วย

การพิจารณาทัณฑ์แก่ผู้บังคับบัญชาที่ละเลย ให้ผู้บังคับบัญชาชั้นเหนือผู้บังคับบัญชาใกล้ชิด ดำเนินการพิจารณาข้อบกพร่อง และรายงานผลการดำเนินการในเบื้องต้น โดยใช้เครื่องมือสื่อสารที่รวดเร็วที่สุด ไปให้กรมตำรวจทราบภายใน 24 ชั่วโมง แล้วให้รายงานเป็นลายลักษณ์อักษรภายใน 3 วัน นับแต่วันพบข้อบกพร่อง

กรณีผู้ใต้บังคับบัญชาถูกกล่าวหาว่า กระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง จนถึงขั้นมีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนแล้ว หรือถูกฟ้อง หรือต้องหาว่ากระทำผิดอาญา ยกเว้นความผิดที่กระทำโดยประมาทหรือลหุโทษ หากปรากฏว่าผู้บังคับบัญชาพึงรู้ หรือมีเหตุอันควรรู้ และสามารถแก้ไขป้องกันได้ แต่ไม่ดำเนินการแก้ไขป้องกัน หรือปล่อยปละละเลยให้มีการกระทำผิดเกิดขึ้น ให้งดการขอเลื่อนขึ้นและอัตราเงินเดือนเป็นกรณีพิเศษเกิน 1 ขั้น และงดการเลื่อนตำแหน่งสูงขึ้นในรอบปีนั้น แก่ผู้บังคับบัญชาใกล้ชิด และผู้บังคับบัญชาผู้รับผิดชอบในการปกครอง

ให้จเรตำรวจ ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบ ตามประมวลระเบียบการตำรวจ ไม่เกี่ยวกับคดี เล่ม 2 ประเภทการบริหาร ลักษณะที่ 56 ข้อ 5 เป็นผู้ตรวจสอบติดตามผลการปฏิบ้ติ และรายงานผลการปฏิบัติต่อกรมตำรวจ

ให้สำนักงานจเรตำรวจ เป็นหน่วยงานรับผิดชอบ ในการตรวจสอบและรับรายงานการปฏิบัติจากหน่วยต่าง ๆ และทำการประเมินผล ทั้งที่จเรตำรวจออกตรวจสอบเอง และที่หน่วยต่าง ๆ รายงานมา เสนอกรมตำรวจทราบทุกระยะ 3 เดือน

เพื่อให้บรรลุถึงวัตถุประสงค์ตามมาตรการนี้ และให้บังเกิดผลในทางปฏิบัติอย่างจริงจัง ให้แต่งตั้งคณะกรรมการควบคุมความประพฤติและวินัยข้าราชการตำรวจ ทั้งในระดับกรมตำรวจ ภาค กองบัญชาการ และจังหวัด เพื่อให้ทำหน้าที่ในการตรวจสอบ ติดตามผล และพิจารณากลั่นกรองการดำเนินการของทุกหน่วย เสนอผู้บังคับบัญชาผู้มีอำนาจสั่งการตามหน้าที่อีกส่วนหนึ่ง

จะเห็นว่าเป็นมาตรการที่ดีเป็นผลดีแก่ประชาชน ถ้าผู้บังคับบัญชาหน่วยงานนำไปปฏิบัติอย่างจริงจัง จะช่วยลดจำนวนตำรวจโจรตำรวจสารเลวอย่างได้ผล เพราะระบุชัดแจ้งไว้ หากลูกน้องทำผิด เจ้านายตามลำดับชั้นจะต้องได้รับทัณฑ์ด้วย และเป็นทัณฑ์ที่แรงพอสมควร ทำให้ผู้บังคับบัญชาหน่วยงานไม่ให้ความสนใจ “สีกากีจัญไร” จึงเกิดขึ้นมากมาย ไม่เว้นว่าง

สมัย พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ เป็น ผบ.ตร. ก็นำคำสั่งนี้ออกมาปัดฝุ่น แต่ก็ไม่มีการยึดถือปฏิบัติตาม พล.ต.อ.เพรียวพันธ์สั่งแล้วก็เหมือนสั่งขี้มูก เพราะไม่ได้เข้าไปดูแลอย่างใกล้ชิด คำสั่ง 1212 / 2537 จึงกลายเป็นกระดาษไร้ค่ายิ่งกว่ากระดาษชำระที่ใช้แล้วในห้องส้วม

นครบาลยังไม่สรุปผลสอบสวนผู้บังคับบัญชาของ ด.ต.มนัส เสือโพธิ์ ก็อยากให้ พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ทบทวนคำสั่งนี้แล้วออกเป็นคำสั่งใหม่ ปรับปรุงมาตรการและการพิจารณาโทษทัณฑ์ ให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงของสังคมไทย ทั้งปัจจุบันและอนาคต

สังคมฝากความหวังไว้กับ พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ถ้าปัดกวาดบ้านตัวเองสะอาดแล้ว ศรัทธาจากประชาชนก็จะกลับมาอีกครั้ง......จะตีเหล็ก ก็ต้องตีตอนเหล็กร้อน มิฉะนั้นเหล็กจะดื้อไฟ.
กำลังโหลดความคิดเห็น