“ยิ่งลักษณ์” เป็นประธานเปิดงานมอบนโยบาย ตร.ปี 56 “อดุลย์” เน้น 3 ภารกิจหลัก สั่งระดับผู้บัญชาการลงไปนั่งหัวโต๊ะประชุมคดีกับผู้ใต้บังคับบัญชา เพื่อขับเคลื่อนคดีใหญ่ๆ อย่างมีระบบ แจงงานระดับ ผช.ผบ.ตร.
วันที่ (3 ต.ค.) ที่สโมสรตำรวจ ถ.วิภาวดี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เดินทางมาเป็นประธานเปิดงานสัมมนามอบนโยบายการบริหารราชการตำรวจประจำปี 2556 โดยมี พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผบ.ตร.และ รอง ผบ.ตร.เข้าร่วมประชุม พร้อมมอบนโยบายในแต่ละด้าน และมีข้าราชการตำรวจตั้งแต่ระดับผู้บังคับการ (ผบก.) ขึ้นไปจำนวนกว่า 347 นาย เข้าร่วมสัมมนาครั้งนี้
โดย พล.ต.อ.อดุลย์ กล่าวมอบนโยบาย ว่า นโยบายที่จะเน้นในการทำงานมีอยู่ 3 ภารกิจหลักตามนโยบายของรัฐบาล ประกอบด้วย การแก้ไขปัญหาในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และเรื่องปัญหายาเสพติด รวมถึงการเตรียมตัวเข้าสู่การเป็นประชาคมอาเซียน หรือ เออีซี ขณะเดียวกัน ทางนายกรัฐมนตรี ได้เน้นย้ำเรื่องการใช้กฎหมายที่เคร่งครัด เพื่อเป็นที่พึ่งให้แก่ประชาชน นอกจากนี้ จากข้อมูลผลสำรวจของสวนดุสิตโพล ที่ฝากถึง ผบ.ตร.คนใหม่นั้น พบว่า ส่วนใหญ่ประชาชนต้องการให้มีการดูแลเรื่องความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน เรื่องความซื่อสัตย์ของเจ้าหน้าที่ และการเป็นที่พึ่งให้แก่ประชาชน
พล.ต.อ.อดุลย์ กล่าวว่า จะยึดเจตนารมณ์ 3 ข้อ คือ 1.ปกป้อง เทิดทูน และพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข 2.การทำงานด้วยหลักธรรมาภิบาล พร้อมการเตรียมตัวเข้าสู่การเป็นประชาอาเซียน 3.พัฒนาตำรวจให้เป็นอาชีพ ทำงานเป็นที่พึ่งให้แก่ประชาชน โดยปัญหาขณะนี้ที่ประสบพบเจอเป็นอาชญากรรมที่ส่งผลกระทบต่อสังคม อย่างอาชญากรรมเกี่ยวกับนักท่องเที่ยว หรือเรื่องการเปิดสถานบริการเกินเวลา ปัญหาการค้าประเวณีเด็ก ปัญหาการแข่งขันรถบนท้องถนนในตามชานเมือง รวมถึงเรื่องการชุมนุมประท้วงขนาดใหญ่ นอกจากนี้ ในส่วนด้านการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่เอง ก็มีปัญหาเรื่องระบบการรับแจ้งเหตุร้องเรียนที่ล่าช้า และในบางหน่วย หรือบางโรงพักขาดการบูรณาการ ซึ่งตรงนี้ต้องมีการทบทวนใหม่
“ต้องมีการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ โดยผมจะเคลื่อนด้วยตัวเอง เพราะผู้บังคับบัญชาเริ่มจากผมในการขับเคลื่อน ผู้บังคับบัญชาต้องเป็นแบบอย่างที่ดีให้ผู้ใต้บังคับบัญชา โดยผู้บังคับบัญชาต้องเป้นผู้รับผิดชอบต่อผลสำเร็จและความล้มเหลวในการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ใต้บังคับบัญชา ทุกอย่างมันจะเคลื่อนโดยผู้นำหน่วยตามลำดับ โดยต้องแก้ปัญหาให้ได้ท่ามกลางความขาดแคลน และต้องนำบริหารจัดการ ไม่ใช่หัวหน้าหน่วยทั้ง ผบช.หรือ ผบก.บอกว่า ไม่มีงบประมาณ และขาดอุปกรณ์นั้น ผมอยากจะเรียนว่าที่แต่งตั้งนั้น เขามอบหมายให้เข้าไปแก้ปัญหาเหล่านั้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ทั้งนี้ ถ้าการขับเคลื่อนแผนงานไม่ดีขึ้น ผมต้องรับผิดชอบคนแรก ถ้าการแก้ของตำรวจในพื้นที่ภาคใต้ไม่ดีขึ้น ผมก็ต้องรับผิดชอบ” ผบ.ตร.ระบุ
พล.ต.อ.อดุลย์ กล่าวด้วยว่า ขณะนี้ได้การตั้งระบบศูนย์ปฏิบัติการที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศปก.ตร.) ที่ชั้น 20 เพื่อเป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนเชื่อมโยงได้ทั่วประเทศ โดยมีประโยชน์ด้านความรวดเร็วและความคลอบคลุมของข้อมูล ฉะนั้นระบบมีความสำคัญ ทุกหน่วยจะต้องมีระบบดังกล่าว จะทำงานแบบเป็นตำรวจตัวคนเดียวสบายๆ ไม่ได้แล้ว ขณะเดียวกันต้องมีการพัฒนาบุคลากรให้เป็นมืออาชีพมีความรู้ความสามารถ ไม่ใช่ปล่อยให้ลูกน้องในหน่วยต้องไปเผชิญสถานการณ์คนเดียวไม่ได้ โดยผู้บังคับบัญชาต้องเป็นผู้นำ หรือเป็นเหมือนผู้บริหารและครูด้วย แม้แต่ในโรงพักต้องมีครูทำหน้าที่จ๊อบเทรนนิ่ง เช่น ฝึกการบริหารจราจร ฝึกยุทธวิธี ผบก.ต้องฝึกหัวหน้าสถานีให้สามารถบริหารจัดการโรงพักให้เป็น
“ที่สำคัญคือพัฒนาโรงพัก เพราะทุกวันนี้พบโรงพักหลายแห่งสกปรกรกรุงรัง และห้องประชุมบางครั้งก็ไม่เคยใช้ ฉะนั้น จะต้องมีการจัดดูส่วนนี้ด้วย การบริหารประชาชนในโรงพักต้องดี หัวหน้าโรงพักใช่ว่าตื่นมาเดินไปโรงพัก ส่วนตอนเย็นก็ไปตีกอล์ฟอย่างนี้ไม่เอา โรงพักจะเคลื่อนได้ ถ้ามีการรับแจ้งความที่ดี หรือมีการบริการ ณ จุดเดียว โดยผู้นำโรงพักต้องนำไป ทั้งนี้ ต่อไปโรงพักต้องมีห้องปฏิบัติการ มีการรวมแถว เป็นตัวอย่างการรวมคนการนำหน่วย การบริการประชาชนต้องเร็ว ภายใต้ความคิดที่ว่า จะต้องได้คะแนนบวก 1 เสมอในการปฏิบัติงาน เพื่อแย่งชิงมวลชน ไม่ใช่พอปฏิบัติงานกลับเป็นติดลบไปหมด” ผบ.ตร.ชี้แจงนโยบาย
พล.ต.อ.อดุลย์ กล่าวต่อว่า ส่วนด้านบริหารคดีนั้น ในคดีใหญ่ๆ ตนอยากจะให้ผู้บัญชาการลงไปนั่งหัวโต๊ะประชุมคดีกับผู้ใต้บังคับบัญชา เพื่อให้เคลื่อนไปอย่างมีระบบ แม้งานเป็นแท่งแต่มี ผบก.หรือมีหัวหน้าสถานีนั่งหัวโต๊ะ จะคุมทุกอย่างได้ และหากเกิดเหตุการณ์สำคัญให้รายงานทันที ตนจะใช้ความเร็วลงพื้นที่ นอกจากนี้ ในการควบคุมฝูงชนนั้น ต้องมีการฝึกเตรียมพร้อมทำการบ้านที่เหมือนกัน การเคลื่อนย้ายกำลังพล หรือการตั้งผู้บังคับบัญชาเหตุการณ์ ด้านสวัสดิการกำลังพลนั้น ตนให้ความสำคัญ เพราะต้องใส่ใจเรื่องขวัญกำลังใจแก่ลูกน้อง เพื่อให้ลูกน้องทำงานได้เบี้ยเลี้ยง ที่พัก และอาหาร ต้องมีวิธีคิดการบริหารให้ได้ โดยผู้บังคับบัญชาต้องลงไปดูแลทั้งหมด ไปเดินแฟลตดูเรือนแถวตำรวจบ้าง หรือไม่ดูชีวิตครอบครัวตำรวจ สร้างอาชีพให้ตำรวจเป็น และผู้บังคับบัญชาอย่าให้ลูกน้องสาปแช่งได้
“จากนี้ภายใน 3 เดือน ผู้บังคับบัญชามีโอกาสได้ทำแล้ว หากไม่ทำผมขอหิ้วตัวเลย ผมใช้อำนาจผมเอง ตอนนี้ต้องเปลี่ยนแปลง ผมสั่งไม่เคลื่อนไม่เชื่อ ต้องพลีชีพกันบ้างแล้วล่ะ ผมเป็น ผบ.ตร.ต้องทำเต็มที่ ผู้บังคับการ ผู้บัญชาการก็ต้องทำเต็มที่ เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่” พล.ต.อ.อดุลย์ กล่าวทิ้งท้าย
ด้าน พล.ต.อ.ปานศิริ ประภาวัติ รอง ผบ.ตร.ดูแลงานด้านการปราบปราม (ปป.) กล่าวว่า ในเรื่องด้านการปราบปรามนั้น ตนจะดูแลพื้นที่ บช.น., บช.ก.ด้วยตัวเอง และมี พล.ต.อ.เฉลิมเกียรติ ศรีวรขาน ที่ปรึกษา (สบ10) พล.ต.ท.จรัมพร สุระมณี พล.ต.ท.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้ช่วย ผบ.ตร.ผู้ช่วย ผบ.ตร.เป็นผู้ช่วยทำงาน ขณะที่พื้นที่ บช.ภ.1, 2, 7 นั้นให้ พล.ต.อ.เอก อังสนานนท์ รอง ผบ.ตร.ดูแล โดยมี พล.ต.ท.จรัมพร และ พล.ต.ท.ชนินทร์ ปรีชาหาญ ผู้ช่วย ผบ.ตร.เป็นผู้ช่วย พื้นที่ บช.ภ.5, 6 จะมี พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธ์ม่วง รอง ผบ.ตร.ดูแลโดยมี พล.ต.ท.เอกรัตน์ มีปรีชา ผู้ช่วย ผบ.ตร.เป็นผู้ช่วย พื้นที่ บช.ภ.3, 4 จะมี พล.ต.อ.เฉลิมเกียรติ ดูแล และมี พล.ต.ท.เอกรัตน์ และ พล.ต.ท.สันติ เพ็ญสูตร ผู้ช่วย ผบ.ตร.เป็นผู้ช่วย ขณะที่พื้นที่ บช.ภ.8, 9 มี พล.ต.อ.รชต เย็นทรวง ที่ปรึกษา (สบ10) ดูแล โดยมี พล.ต.ท.จักรทิพย์ เป็นผู้ช่วย นอกจากนี้ ยังมีอาชญากรรมพิเศษด้านต่างๆ ที่แบ่งงานให้ไปรับผิดชอบ
พล.ต.อ.ปานศิริ กล่าวต่อว่า ด้านการปราบปรามอาชญากรรม จะเน้นการใช้มาตรการทางภาษีและฟอกเงินมาใช้ ขณะที่เน้นการปราบปรามอาชญากรรมเชิงรุก ส่งเสริมให้ประชาชนรับรู้ข่าวสารของตำรวจอย่างต่อเนื่อง โดยดึงประชาชนเป็นศูนย์กลางและมาร่วม เมื่อเทียบปริมาณของตำรวจญี่ปุ่น กับตำรวจไทย พบว่า มีจำนวนเท่าๆ กัน แต่ญี่ปุ่นได้ดึงประชาชนเข้ามาร่วมเป็นตำรวจ แม้แต่เด็กคนหนึ่งก็สามารถเป็นหูเป็นตาให้ตำรวจได้
“เราไม่สามารถทำให้อาชญากรรมเป็น 0 ได้ แต่เราลดความหาดกลัวอาชญากรรมให้ได้ ทั้งนี้การวัดความพึงพอใจเป็นสิ่งสำคัญในการทำงานกับประชาชน ซึ่งในด้านการปราบปรามอาชญากรรมนั้น ต้องสร้างทีมงานวิเคราะห์อาชญากรรมทุกระดับ เน้นการจัดระเบียบสังคมเข้มงวดกวดขันในทุกพื้นที่อย่างจริงจัง โดยเฉพาะเรื่องที่กระทบกับเยาวชนของชาติ ผมขอฝากเรื่องนโยบายรัฐบาลเรื่องส่งเสริมการท่องเที่ยวให้เป็นไปตามเป้าหมาย ซึ่งตำรวจต้องทำให้ได้เน้นย้ำการทำเซฟตี้โซน เรื่องการปราบปรามอาชญากรรมต้องมองประชากรอาเซียน ไม่ใช่เพียงคนในประเทศเท่านั้น เพื่อรองรับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน อีกเรื่องที่เน้น คือ การค้ามนุษย์ เรื่องนี้ทาง ผบก.ภ.จว.ต่างๆ ต้องสอดส่องและกวดขันอย่าเข้มงวด” รอง ผบ.ตร.กล่าว
พล.ต.อ.ปานศิริ กล่าวอีกว่า การควบคุมลดความรุนแรงอาชญากรรม ต้องไปสร้างทีมงานวิเคราะห์อาชญากรรมทุกระดับ เมื่อได้ข้อมูลแล้ว ต้องไปออกมาตรการ โดยตำรวจต้องสร้างความเชื่อมั่นในการป้องกัน เช่น ตั้งด่าน ขณะที่ต้องทำให้ประชาชนมีส่วนร่วม อย่างโครงการคอมมิวนิติี้โพลิสซิ่งของ บช.ก.ซึ่งการทำโครงการต่างๆ ทาง ผบช.ต้องเข้าไปดู อย่าให้เกิดความหลากหลาย เพราะการบริการประชนต้องเท่าเทียม ขณะที่การทำงานต้องบูรณาการประสานงานกับส่วนงานต่างๆ นอกจากนี้ ต้องมีการนำระบบไอทีมาใช้ ทั้งซีซีทีวีควบคุมพื้นที่สาธารณะที่ประชาชนใช้ร่วมกัน ให้มีเซฟตี้โซนคุมไว้ ต้องมีระบบจีพีเอสเข้ามาช่วยในการทำงาน ขณะเดียวกันต้องพัฒนาความรู้ความสารถของตำรวจสายปราบปราบ
พล.ต.อ.เอก อังสนานนท์ รอง ผบ.ตร.ดูแลงานด้านกฎหมายและคดี (กม.) กล่าวว่า ขอบเขตงานของตนมีงานของสำนักงานพิสูจน์หลักฐานตำรวจ (สพฐ.ตร) นต., งานพิทักษ์เด็กและครอบครัว โดยตนอยากจะให้มีการดำเนินการอย่างการปรับตำแหน่งพนักงานสอบสวน การปรับเงินเพิ่มของพนักงานสอบสวน โดยกำหนดตำแหน่งให้พนักงานสอบสวนสามารถขึ้นถึงนายพลได้ ซึ่งแนวทางจะเน้นย้ำเข้มงวดกวดขันเรื่องการสอบสวนผู้บังคับบัญชา โดยต้องเอาใจใส่ สร้างความโปร่งใสในการสอบสวน ซึ่งจะโทษพนักงานสอบสวนไม่ได้ เพราะระดับ ผบก.ต้องลงไปดูแลเอง การนำเทคโนโลยีมาใช้ในการสอบสวน เน้นการทำงานด้านการสอบสวน อย่างสำนวนสอบสวนขยายผลในคดียาเสพติด อย่างการขยายผลยึดทรัพย์ต่อไป โดยพนักงานสอบสวนต้องมีการประสานงานกับสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ และกองพิสูจน์หลักฐาน รวมถึงการจัดตังศูนย์ควบคุมสั่งการ โดยต้องมีการบูรณาการฝ่ายสอบสวนและฝ่ายปราบปราม และต้องเคารพกฎหมายไม่ฝ่าฝืนกฎหมายเสียเอง เพราะต้องเป็นตำรวจมืออาชีพอย่างแท้จริง
พล.ต.อ.อัมรินทร์ อัครวงศ์ จเรตำรวจแห่งชาติ (จตช.) กล่าวว่า สำหรับงานด้านจเรตำรวจที่ตนรับผิดชอบนั้น ถือว่าเป็นงานที่สำคัญ การตรวจสอบตำรวจของจเรตำรวจนั้น จะดำเนินการไปตามเนื้อผ้า ไม่มีเรื่อง 2 มาตรฐาน และต้องยึดตามจริยธรรม จรรยาบรรณตำรวจ การตรวจสอบช่วงแรกจะโฟกัสไปยังหน่วยที่สัมผัสใกล้ชิดประชน เช่น โรงพัก ซึ่ง ผบ.ตร.ต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลง จเรตำรวจจะลงไปตรวจสอบ โดยวัดจากความรู้สึกของประชาชน โดยนับแต่บัดนี้เป็นต้นไป ประชาชนจะได้รับการดูแลอย่างดีจากสถานีตำรวจ โดยไม่ต้องมีใครฝากไป ทั้งนี้ตนเคยสอนตำรวจมามาก ช่วงแรกตำรวจก็จะเป็นสีขาวจบ พอจบออกไปก็เริ่มสีเท่า สักพักตำรวจบางนายก็เริ่มกลายเป็นสีดำ ฉะนั้น เป้าหมายต่อจากนี้ต้องทำอย่างไรให้ตำรวจส่วนใหญ่กลายเป็นสีขาวให้ได้
พล.ต.อ.วรพงษ์ ชิวปรีชา รอง ผบ.ตร.ดูแลงานด้านความมั่นคง (มค.) กล่าวว่า งานมั่นคงแบ่งเป็น 3 กลุ่ม โดยยึดตามนโยบาย ผบ.ตร.เพื่อตอกย้ำว่า ผู้นำคิดและทำเหมือนกัน โดยงานด้านการข่าวความมั่นคงนั้น ตนเน้นปัญหาก่อการร้ายข้ามชาติที่เราเลี่ยงไม่ได้ โลกเป็นสงครามก่อการร้าย มีการแบ่งพวกให้เลือกข้าง ทั้งที่เราอยากหลบเลี่ยง แต่ไม่สามารถหลบเลี่ยงได้ โดยหลายเหตุการณ์ที่ผ่านมาสะท้อนว่า เราเลี่ยงไม่ได้ ฉะนั้น ตำรวจจำนวน 2 แสนนาย ที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ จะเป็นหน่วยข่าวที่ดีที่สุด ที่อย่าละเลยข่าวชิ้นเล็กๆ ในพื้นที่ ซึ่งจะต้องมีการรายงานข่าวทุกชิ้นเข้าระบบอย่างต่อเนื่อง ที่จะช่วยให้การข่าวมีประสิทธิภาพ มีฐานข้อมูล โดยขณะนี้ทางกองบัญชาการตำรวจสันติบาล (บช.ส.) มีโปรแกรมฐานข้อมูลข่าวก่อการร้าย ซึ่งจะต้องปรับใช้สอดคล้องความมั่นคง โดยขอความร่วมมือกับ บช.แต่ละภาค ให้มีผู้รับผิดชอบด้านการข่าวอย่างน้อย 1 คน และจะมีการจัดการประชุมประชาคมข่าว เพื่อลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารกัน ทั้งนี้ สิ่งที่หายไปจากระบบข่าว คือ การสะกดรอยติดตาม ฉะนั้นขอให้แต่ละโรงพักไปสำรวจบุคคลกรที่ผ่านหลักสูตรนี้มา ให้ใช้หลักสูตรดังกล่าวร่วมกับเทคโนโลยีที่มีอยู่ เพื่อเสริมให้งานมีประสิทธิภาพมากขึ้น
พล.ต.อ.วรพงษ์ กล่าวต่อว่า สำหรับเรื่องการควบคุมฝูงชน ซึ่งตามแผนกรกฎ 52 จะต้องมีกองร้อยควบคุมฝูงชนจำนวน 3 กองร้อย แต่จากนี้จะขอให้แต่ละจังหวัดจัดตั้งกองร้อยควบคุมฝูงชนเพิ่มขึ้นมาอีก และจะมีการมอบรางวัลดีเด่นให้กับกองร้อยควบคุมฝูงชน โดยปี 54 ที่ผ่านมาทาง บช.ภ.5 ได้รับรางวัลดังกล่าว ซึ่งทั้งตน และ ผบ.ตร.จะเดินทางไปมอบรางวัลให้ พร้อมกับเชิญ ผบช.แต่ละภาค ไปดูการทำงาน เพื่อพัฒนากองร้อยควบคุมฝูงชนในแต่ละภาค และขอให้สำรวจในพื้นที่ของตนเอง ว่า ใครมีอายุน้อยที่สุด เพื่อนำบรรจุมาอยู่ในกองร้อยควบคุมฝูงชน นอกจากนี้ ตนจะเปิดรับนายสิบตำรวจ ก่อนจะบรรจุเข้ากองร้อยควบคุมฝูงชน โดยจะมีการฝึกฝนอย่างเข้มข้น และฟังความสั่งจากผู้บังคับบัญชาอย่างเดียว โดยไม่ต้องใช้ดุลพินิจในการปฏิบัติงาน ส่วนการพัฒนาเครื่องมือนั้น เมื่อวันที่ 2 ต.ค.ตนได้ทดสอบการใช้แก๊สน้ำตารุ่นใหม่ที่ผสมน้ำ พบว่า ผู้ที่ถูกแก๊สน้ำตาชนิดนี้ จะทำให้ลืมตาไม่ขึ้นเป็นเวลา 10 นาที ตรงนี้หากนำมาใช้ในการเปิดทางที่ทำเนียบรัฐบาลและรัฐสภา จะส่งผลดีกว่าการใช้แก๊สน้ำตารุ่นเก่าที่มีปัญหา แต่ข้อเสียของแก๊สน้ำตารุ่นใหม่นั้น อาจจะเกิดอันตรายกับประชาชนที่ต้องการออกจากพื้นที่ เพราะทำให้มองไม่เห็น เมื่อนำไปใช้ในที่โล่งแจ้ง หรือพื้นที่ที่ติดริมถนนและริมคลอง ด้วยส่วนนี้ตนจะนำไปคิดหาวิธีแก้ไข
“เชื่อว่า แก๊สน้ำตารุ่นใหม่จะช่วยปิดทางให้นายกฯ ได้ น่าจะเอาอยู่ โดยขอย้ำว่า เรื่องการควบคุมฝูงชนเป็นเรื่องสำคัญ และจะเป็นประเด็นที่ทาง ผบ.ตร.เน้น อาจจะส่งผลให้การหิ้วหรือไม่หิ้วตามมาได้” พล.ต.อ.วรพงษ์ กล่าวพร้อมระบุถึงการรักษาความปลอดภัยบุคคลสำคัญ อย่างการประชุมคณะรัฐมนตรีในต่างจังหวัด ทาง ผบก.ภ.จว.นั้น ต้องมีการเข้าพื้นที่ส่วนหน้าทันที อย่างปฏิบัติแบบประมาท
พล.ต.ท.เรืองศักดิ์ จริตเอก ผู้ช่วย ผบ.ตร.กล่าวมอบนโยบายด้านการศึกษาอบรม ว่า ตำรวจต้องเรียนรู้และอบรมอยู่เสมอ แต่หลายปีที่ผ่านมาตำรวจได้งบประมาณด้านศึกษาอบรมน้อยมากเพียง 0.7 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น แต่จากนี้จะได้เพิ่ม โดยนโยบายเน้น 1.เน้นยุทธวิธีให้มีความรู้เป็นสากล 2.พัฒนาศูนย์ฝึกของตำรวจให้เพียงพอใหม่และสะอาด 3.ปรับปรุงหลักสูตรให้ทันสมัย มีหลักสูตรเฉพาะทาง 4.เตรียมเครื่องมือเครื่องใช้การฝึกให้พร้อม 5.กระจายอำนาจหน่วยฝึกไปยังพื้นที่ให้สอดคล้องความต้องการจำเป็นของหน่วย 6.สร้างบุคคลกรครูฝึกให้มีประสิทธิภาพ 7.เตรียมตำรวจให้มีความรู้ตำรวจเรื่องประชาคมอาเซียน
พล.ต.อ.ชลธาร จิราณรงค์ หัวหน้านายตำรวจราชสำนักประจำ กล่าวว่า ในส่วนของตนจะยึดตามคู่มือเส้นทางเสด็จพระราชดำเนิน (ส่วนพระองค์) ตามที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชประสงค์