xs
xsm
sm
md
lg

"เหลิม" เรียกถกประเมินการข่าวสางปัญหาไฟใต้

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี
"เหลิม"ประชุมกำชับนโยบายการข่าวสะสางปัญหาสามจังหวัดชายแดนาภาคใต้ ชี้โจรใต้ขอมอบตัวต้องหารือฝ่ายปกครอง ย้ำ "ฆ่าเจ้าหน้าที่ตายแล้วขอมอบตัวต้องพิจารณาเป็นรายบุคคล" ยันไม่มีการปรับลดกำลังพลในพื้นที่

วันนี้(10 ส.ค.)เมื่อเวลา 12.30 น. ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายความมั่นคง เป็นประธานการประชุมเรื่องการบูรณาการด้านการข่าว ไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยมี พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ตัวแทนเหล่าทัพ เข้าประชุม โดยใช้เวลาในการประชุมกว่า 2 ชม.

ร.ต.อ.เฉลิม กล่าวก่อนประชุม ว่าตนตั้งใจจะหารือกับนายตำรวจระดับ รองผบช. ผบก. ผกก. จนถึง รองผกก เพื่ออธิบายรายละเอียด เพราะมีข้อมูลข่าวสารจากหน่วยการข่าวแจ้งเข้ามา จึงต้องการจะแจ้งให้เจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานอยู่ในพื้นที่รับทราบ เพื่อการบูรณาการทำงานร่วมกันกับหลายหน่วยงาน แต่มีผู้วิจารณ์ ไม่วิจารณ์ตามความเป็นจริง ศูนย์ปฏิบัติการ ศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศปก.ศชต.) ตั้งขึ้นมาเป็นสถานที่ตั้ง โครงสร้างศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาค ใต้ (ศอ.บต.) เหมือนเดิม กองทัพภาคที่ 4 กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ภาค 4 ยังเหมือนเดิม ซึ่งนายกรัฐมนตรีเห็นว่าบางครั้ง ทหารไม่สามารถสั่งการมายังฝ่ายปกครองได้ ส่วนทหารตำรวจทำงานไปด้วยกันได้ และเมื่อก่อนตำรวจขึ้นอยู่กับมหาดไทย ขณะนี้ไม่ใช่ เราจึงเอาพล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา รมว.กระทรวงกลาโหม ดูแลด้านการทหารเหมือนเดิม และให้นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.กระทรวงมหาดไทยดูแลฝ่ายปกครอง ตนจึงมาดูแลตำรวจ โดยโครงสร้างทั้งหมดขึ้นอยู่กับนายกรัฐมนตรี ในฐานะเป็นผู้บังคับบัญชา ศอ.บต. และผอ.กอ.รมน.



เมื่อถามถึงการข่าวที่ว่าจะแจ้งให้พื้นที่รับทราบก่อนที่จะมีการก่อเหตุนั้น ร.ต.อ.เฉลิม กล่าวว่า บอกไม่ได้ เป็นความลับบอกได้แค่ว่าต้องเตรียมความพร้อมเอาไว้ โดยมาตรการที่จะกำชับให้ดูแล ส่วนใหญ่เป็นเพียงการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ต้องถามคนในพื้นที่ แล้วลักษณะงานแบบนี้ต้องเก็บเป็นความลับ อย่างมีผู้ต้องหาเข้ามาติดต่อมอบตัว 40 คน ตนเองคงคิดไม่ได้ ซึ่งต้องถามฝ่ายปกครองว่ารับได้หรือไม่ ไม่ใช่ว่าเป็นผู้ต้องหาฆ่าเจ้าหน้าที่ตาย แล้วอยู่ๆ จับมอบตัวประกันตัวกันง่ายๆ ตรงนี้ต้องดูเป็นรายบุคคลไป ถ้าใครไม่มีหมายจับ และกลัวเรื่องความปลอดภัย และจะรับดูแลให้

ต่อข้อถามกรณีรถหายเป็นประจำนั้น ร.ต.อ.เฉลิม กล่าวว่า ที่ผ่านมามีรถหายทั้งรถยนต์ รถกระบะ รถจักรยานยนต์ จะดูแลแค่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้คงไม่ได้ ต้องดูภาพรวมทั้งประเทศ มีข้อมูลของรถที่ถูกจับกุมที่อื่นบ้างหรือไม่ ยังคงพูดยาก เพราะตนเพิ่งจับงานใหม่ แต่กำลังทำอยู่ ส่วนรู้มาตลอดว่ามีรถหายและเตรียมจะก่อเหตุ ก็ยังเกิดเหตุขึ้นอยู่แบบนั้น เท่าที่ศึกษามาเบื้องต้น หากว่าดูเฉพาะเพียงสิทธิขั้นพื้นฐานเสรีภาพให้เจ้าหน้าที่ปรับเปลี่ยนบ้างคงแก้ไขยากแน่ๆ กลางคืนวางระเบิด เช้ากดระเบิด กลางคืนเราจะกำกับพื้นที่บางจุด บริเวณตรงที่ประชาชนไม่เดือดร้อนในเส้นทางต่างๆ ตามที่ยกตัวอย่างมา ถ้าเอ๊ะอะโวยวายกันไปแล้ว แต่ถ้าไม่ปรับเลยก็ลำบาก

เมื่อถามถึงพื้นที่ไหนที่จะมีการสั่งเคอร์ฟิลนั้น ร.ต.อ.เฉลิม กล่าวว่า ต้องถามฝ่ายทหาร และช่วยกันคิด เพราะหน้าที่หลักของทหารด้านยุทธการ บางคนก็บอกว่า การตั้งศูนย์ปฏิบัติการภาคใต้เป็นการใช้วิธีแบบเอาทหารนำการเมือง มันไม่ใช่ ถ้าทหารนำการเมืองก็ไม่เอามหาดไทยเข้ามา ไม่เอาตำรวจเข้ามา ทหารก็สั่งใครไม่ได้ นั่นก็คือการเมืองนำการทหาร พวกไม่รู้ก็พูดไป

"ส่วนเรื่องเคอร์ฟิวที่มองว่าจะไปกระทบสิทธิของประชาชน กลางค่ำกลางคืน คนดีเขาไม่ไปไหนกันอยู่แล้ว ในเส้นทางที่มันเกิดเหตุบ่อยๆ จึงหยิบข้อมูลดังกล่าวมาคิดและพัฒนา ที่ผ่านมาเหตุการณ์มันลดลง ครู พระ พี่น้องประชาชน ตายน้อย แต่ไปหนักที่ทหารและตำรวจ ผมจึงเสนอท่านนายกฯ เอาทหารพื้นที่ 3 จังหวัด มาเป็นตำรวจสัก 4,000 มันต้องคิด เพราะปล่อยไปอย่างนี้ไม่ได้"รองนายกฯ ระบุ

ผู้สื่อข่าวถามว่าจะลดกำลังทหารในพื้นที่ลงหรือไม่ ร.ต.อ.เฉลิม กล่าวว่า ยังไม่มี ลดไม่ได้ ส่วนการเอาทหารเป็นตำรวจ หมายถึง ที่เกษียณแล้วที่ปลอดประจำการ เสนอความคิดให้ พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี เลขาสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ไปพิจารณาแล้ว ซึ่งเรื่องเกี่ยวกับทหารเกณฑ์ รัฐบาลวางแนวทางเพื่อสร้างความเข้าใจ ศอ.บต. ก็ทำงานด้านการพัฒนา กอ.รมน. ทำงานด้านยุทธการ ต้องมีการพูดคุยกัน
กำลังโหลดความคิดเห็น