อัยการตัดสินใจยื่นฟ้อง “ทักษิณ ชินวัตร” กับพวกรวม 27 ราย ทุจริตปล่อยกู้ ธ.กรุงไทยหลายพันล้านบาท หลังใช้เวลาดูสำนวนนานกว่า 4 ปี โดยศาลฎีกาฯ นักการเมือง นัดฟังคำสั่ง 25 ก.ค.นี้
วันนี้ (13 มิ.ย.) เมื่อเวลา 13.00 น. ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง สนามหลวง นายจุลสิงห์ วสันตสิงห์ อัยการสูงสุด มอบหมายให้พนักงานอัยการนำสำนวนพยานหลักฐานจากการไต่สวนของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ที่ชี้มูลความผิดปล่อยกู้ของธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) จำนวน 150 แฟ้ม 17 ลัง ยื่นฟ้อง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ 1, กับพวกรวม 27 ราย เป็นจำเลยในความผิดฐานเป็นเจ้าหน้าที่ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ และโดยทุจริตตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และความผิด พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์กรหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 โดยศาลได้รับคำร้องไว้เป็นหมายเลขดำที่ อม.3/2555 และนัดฟังคำสั่งว่าจะประทับรับฟ้องคดีไว้พิจารณาเพื่อมีคำพิพากษาหรือไม่ในวันที่ 25 ก.ค.นี้ เวลา 10.00 น.
นายวินัย ดำรงค์มงคลกุล โฆษกอัยการสูงสุด เปิดเผยว่า ในการยื่นฟ้องคดีนี้เป็นไปตามความเห็นที่มติร่วมกันระหว่างคณะทำงานร่วมอัยการ และ ป.ป.ช. ซึ่งเห็นว่าพฤติการณ์ของ พ.ต.ท.ทักษิณ กับพวกรวม 27 คน เป็นความผิดตามกฎหมาย ขณะที่คดีนี้ไม่มีการยื่นฟ้องบุคคลอื่นในครอบครัวชินวัตร รวมทั้งนายพานทองแท้ บุตรชายของ พ.ต.ท.ทักษิณ แต่อย่างใด
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากนี้ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาจะมีการเรียกประชุมคณะผู้พิพากษาเพื่อลงมติเลือกผู้พิพากษา 9 คนในศาลฎีกาเป็นองค์คณะรับผิดชอบคดีนี้
สำหรับพฤติการณ์คดีนี้ มีการเริ่มทำสำนวนตั้งแต่ คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) และเมื่อคตส.หมดวาระก็ได้โอนเรื่องส่งให้ ป.ป.ช.พิจารณาต่อ และได้ส่งสำนวนให้อัยการเมื่อวันที่ 16 มิ.ย. 51 ซึ่งคดีนี้ตามสำนวนได้มีการกล่าวหา พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร กับพวกร่วมกันกระทำความผิด กรณีธนาคารกรุงไทยฯ อนุมัติสินเชื่อจำนวนมากโดยไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ และก่อให้เกิดความเสียหายแก่ระบบเศรษฐกิจของรัฐ โดยข้อเท็จจริงพบว่า ผู้บริหารธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ให้สินเชื่อกลุ่ม บมจ.กฤษดามหานคร ที่มีสถานะอยู่ในกลุ่มลูกหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของธนาคาร เนื่องจาก ผอ.ฝ่ายกลั่นกรองสินเชื่อธุรกิจนครหลวง เคยจัดอันดับความเสี่ยงของกลุ่มกฤษดามหานครในอันดับ 5 คือไม่สามารถอนุมัติสินเชื่อให้ได้
ต่อมามีการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ และในสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้มีเงื่อนไขระบุว่า บมจ.กฤษดามหานครฯ ไม่สามารถที่จะขอสินเชื่อได้อีก เนื่องจากมียอดขาดทุนสะสมสูง คือ มียอดสะสมสูงมาก แต่ได้มีการอนุมัติสินเชื่อให้บริษัทในกลุ่มกฤษดามหานคร 3 กรณี คือ 1. การอนุมัติสินเชื่อให้บริษัทอาร์เค โปรเฟสชั่นนัล จำกัด จำนวนเงิน 500 ล้านบาท 2. การอนุมัติสินเชื่อให้บริษัทโกลเด้น เทคโนโลยี อินดัสเทรียล พาร์ค จำกัด วงเงิน 9,900 ล้านบาท (วงเงินไฟแนนซ์ 8,000 ล้านบาท วงเงินซื้อที่ดินเพิ่ม 500 ล้านบาท และวงเงินพัฒนาโครงการ1,400 ล้านบาท) และ 3. การอนุมัติขายหุ้นบุริมสิทธิแปลงสภาพของ บมจ.กฤษดามหานคร ให้กับบริษัท แกรนด์ คอมพิวเตอร์คอมมูนิเคชั่น จำกัด จำนวนเงิน 1,185,735,380 บาท ถือว่าผู้เกี่ยวข้องมีพฤติการณ์ ร่วมกันหรือสนับสนุนการกระทำความผิดกรณีธนาคารกรุงไทย ซึ่งเป็นองค์กรของรัฐ เป็นการกระทำโดยทุจริต เพื่อฟื้นฟูกิจการของ บมจ.กฤษดามหานคร ประโยชน์ส่วนตนกับพวก
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บุคคลที่ตกเป็นผู้ถูกกล่าวหาตามสำนวนที่ปรากฏในชั้นไต่สวน คตส.มีด้วยกัน 3 กลุ่ม คือ ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ที่มี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นผู้ถูกกล่าวหา, กลุ่มผู้ปล่อยกู้ คือ คณะกรรมการ (บอร์ด) ธนาคารกรุงไทย และกรรมการผู้จัดการใหญ่ธนาคาร และบริษัทเอกชนผู้ขอกู้ 3 ราย ประกอบด้วย บริษัท อาร์เค โปรเฟสชั่นนัล จำกัด, บริษัท โกลเด้น เทคโนโลยี อินดัสเตรียล พาร์ต จำกัด และบริษัท กฤษดามหานคร จำกัด (มหาชน) และกลุ่มบุคคลที่ได้รับประโยชน์จากบริษัทเอกชนดังกล่าว