ตำรวจลุมพินี หอบสำนวนสั่งฟ้องคดี “ชวนนท์-มัลลิกา” หมิ่นนายกฯ ปู กรณี ว.5 โฟร์ซีซันส์ ส่งอัยการพิจารณา ขณะที่อัยการนัดฟังคำสั่งฟ้องหรือไม่ 12 มิ.ย.นี้ ด้านทนาย ปชป.ชี้ เป็นคดีทางการเมือง พร้อมทำหนังสือขอความเป็นธรรม ขอให้สอบเพิ่ม 2 ประเด็น
วันนี้ (25 เม.ย.) เมื่อเวลา 13.00 น.ที่สำนักงานอัยการกรุงเทพใต้ ถนนเจริญกรุง 53 พนักงานสอบสวน สน.ลุมพินี ได้นำสำนวนการสอบสวน พร้อมความเห็นสั่งฟ้อง นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ และ น.ส.มัลลิกา บุญมีตระกูล รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ เป็นผู้ต้องหาในคดีหมิ่นประมาทผู้อื่นโดยการโฆษณา กรณีร่วมกันให้สัมภาษณ์และแถลงข่าว น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ใช้เวลาราชการไปประชุมกับนักธุรกิจที่โรงแรมโฟร์ซีซันส์ หรือกรณี ว.5 โฟร์ซีซันส์ ทำให้เสื่อมเสียชื่อเสียง โดย นายชวนนท์ และ น.ส.มัลลิกา ได้เดินทางมารายงานตัวกับอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้ 3 ซึ่งอัยการนัดฟังคำสั่งว่าจะฟ้องหรือไม่ ในวันที่ 12 มิ.ย.เวลา 10.00 น.
ภายหลัง นายชวนนท์ กล่าวว่า เท่าที่ตรวจสอบสำนวนคดี ยังไม่มีครอบคลุมบทสัมภาษณ์ของตนเองทั้งหมด จึงไม่มีความกังวลใจในการต่อสู้คดี แต่อยากให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ และพนักงานอัยการทำงานอย่างเต็มที่ โดยไม่ต้องกดดันกับอำนาจใด ซึ่งตนยอมรับกระบวนการยุติธรรม พร้อมยืนยันว่า การให้สัมภาษณ์ดังกล่าวเป็นการทำหน้าที่ตรวจสอบตามหน้าที่
ขณะที่ น.ส.มัลลิกา เปิดเผยว่า ดีใจที่เจ้าหน้าที่ตำรวจเร่งรัดดำเนินคดีตามคำสั่งของผู้ใหญ่ ซึ่งตนจะได้ใช้กระบวนการของศาลพิสูจน์ความบริสุทธิ์ ว่า ข้อความที่แถลงข่าวให้สัมภาษณ์เป็นการตั้งคำถาม และทำหน้าที่ในเชิงตรวจสอบนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นบุคคลสาธารณะ ไม่ได้มีคำพูดใดเป็นการหมิ่นประมาท พร้อมทั้งจะได้มีการพิสูจน์ว่า ที่นายกรัฐมนตรีเลี่ยงการตรวจสอบ ไม่ไปให้ถ้อยคำต่อคณะกรรมาธิการสภาผู้แทนราษฎร และเลี่ยงการตอบกระทู้ถามในรัฐสภาเพื่อชี้แจงต่อสาธารณะ เพียงแต่อธิบายผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวของนายกฯ เท่านั้น ในวันดังกล่าวนายกรัฐมนตรีอยู่กับใคร นอกเหนือจาก นายเศรษฐา ทวีสิน กรรมการผู้จัดการบริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) และได้พูดคุยเรื่องอะไรกันบ้าง ซึ่งจะใช่เรื่องธุรกิจอสังหาริมทรัพย์หรือไม่ เพราะนายกฯก็เคยทำธุรกิจด้านอสังหาริมทรัพย์เช่นเดียวกับนายเศรษฐา
ด้าน นายราเมศ รัตนะเชวง ทีมกฎหมายพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า คดีนี้เป็นคดีทางการเมือง จึงขอตั้งข้อสังเกตว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจใช้เวลาทำสำนวนเพียงแค่ 2 เดือน ก็สามารถส่งสำนวนให้อัยการได้ จึงได้ทำหนังสือขอความเป็นธรรมต่อพนักงานอัยการสั่งให้พนักงานสอบสวนสอบเพิ่มเติมรวม 2 ประเด็น คือ 1.ถ้อยคำที่นายกฯ แจ้งความกล่าวหา นายชวนนท์ พูดหมิ่นประมาทนั้น ไม่ตรงข้อเท็จจริง เพราะสื่อมวลชนนำข้อความไปตีพิมพ์แค่บางส่วน หากพิจารณาถ้อยคำทั้งหมดที่ นายชวนนท์ ให้สัมภาษณ์จะฟังไม่ได้ว่าเป็นข้อความหมิ่นประมาท โดยเป็นคำพูดในลักษณะตั้งคำถาม และเป็นการทำงานตรวจสอบในระบอบประชาธิปไตย ที่ฝ่ายค้านมีหน้าที่ตรวจสอบฝ่ายบริหาร และ 2.ขอให้สอบปากคำ นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ที่ทำงานตรวจสอบเรื่องนี้ทางรัฐสภา ซึ่งจะมีพยานหลักฐานพิ่มเติมว่า สิ่งที่ นายชวนนท์ ให้สัมภาษณ์มาจากการตรวจสอบในรัฐสภา และหากทีมกฎหมายของพรรคประชาธิปัตย์ มีหลักฐานเพิ่มเติมก็จะเสนอต่อพนักงานอัยการอีกครั้ง