นครบาลกำชับทุก สน.เร่งปราบปรามกลุ่มผู้มีอิทธิพลรีดไถ จยย.รับจ้าง สั่งทุกนายห้ามเกี่ยวข้องเรียกรับค่าคุ้มครอง พร้อมย้ำให้ทุกท้องที่ออกตรวจตราดูแลความปลอดภัยในชีวิตทรัพย์สินของประชาชนช่วงวันวาเลนไทน์ 14 ก.พ.นี้ โดยเน้นใช้กฎหมายควบคุมสถานบันเทิงอย่างเคร่งครัด
วันนี้ (7 ก.พ.) เวลา 13.00 น.ที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) พ.ต.อ.ปรีดา สถาวร โฆษก บช.น.แถลงถึงมาตรการป้องกันปราบปรามกลุ่มผู้มีอิทธิพลที่สร้างความเดือดร้อนแก่ประชาชน โดยเฉพาะกับผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์รับจ้าง พร้อมเตรียมมาตรการรักษาความปลอดภัยในชีวิต และทรัพย์สินช่วงวันวาเลนไทน์ 14 ก.พ.นี้ ว่า ตามที่ นายเฉลิม ชั่งทองมะดัน นายกสมาคมผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์รับจ้างแห่งประเทศไทย พร้อมตัวแทนผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์รับจ้างในพื้นที่กรุงเทพมหานครได้เข้าพบ พล.ต.ท.วินัย ทองสอง ผบช.น.และพล.ต.ต.วิชัย สังข์ประไพ รรท.รอง ผบช.น.เพื่อแจ้งข้อมูลและหารือกรณีได้รับความเดือดร้อนจากกลุ่มผู้มีอิทธิพล หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีพฤติกรรมไม่เหมาะสม ในพื้นที่ต่างๆ ซึ่งในเรื่องดังกล่าว พล.ต.ท.วินัย ได้กำหนดมาตรการและให้ทุกหน่วยแก้ไขปัญหาผู้มีอิทธิพลที่สร้างความเดือดร้อนแก่ประชาชน 4 แนวทาง ประกอบด้วย 1.ให้ทุก สน.ถือเป็นนโยบายสำคัญที่จะต้องควบคุมดูแลมิให้เกิดกลุ่มผู้มีอิทธิพลมาสร้างความเดือดร้อนแก่ประชาชนในพื้นที่รับผิดชอบ โดยเฉพาะกับกลุ่มผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์รับจ้าง โดยให้สืบสวนหาข่าวกลุ่มอิทธิพลรวมทั้งเจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีพฤติกรรมไม่เหมาะสม และกำหนดมาตรการควบคุมป้องกันมิให้มีการเรียกค่าคุ้มครองการก่อเหตุข่มขู่ ทำร้ายร่างกาย หรือกระทำการอื่นใดให้เกิดความหวาดกลัวโดยเด็ดขาด 2.ให้ทุกหน่วยงานกำชับเจ้าหน้าที่ตำรวจทุกนายอย่าให้เข้าไปเกี่ยวข้อง หรือมีส่วนเกี่ยวข้องเรียกรับและเก็บเงินจากผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์รับจ้างอย่างเด็ดขาด
3.ให้เจ้าหน้าที่กองบังคับการสืบสวนสอบสวน กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บก.สส.บช.น.) ช่วยสนับสนุนสืบสวนติดตามจับกุมคนร้าย 4.สน.ที่มีคดีเกี่ยวเนื่องกับผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์รับจ้าง และมีกรณีร้องเรียนต่างๆ ให้เร่งรัดการดำเนินคดีการสืบสวนข้อเท็จจริง โดยในกรณีมีการออกหมายจับผู้กระทำผิดไว้ให้เร่งรัดการสืบสวนติดตามจับกุมคนร้ายมาดำเนินคดีให้ได้
พ.ต.อ.ปรีดา กล่าวอีกว่า หลังจากรับเรื่องร้องเรียนจากกลุ่มรถจักรยานยนต์รับจ้างแล้ว โดยทางนครบาลได้ตรวจสอบพบว่ายังมีประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากกลุ่มผู้มีอิทธิพล พร้อมกับได้ยื่นเรื่องร้องเรียนทั้งหมด 18 เรื่อง ซึ่งหนังสือร้องเรียนต่างๆ กระจายอยู่ที่ สน.14 แห่ง ได้แก่ สน.พญาไท, สน.มักกะสัน, สน.ห้วยขวาง, สน.สุทธิสาร, สน.พหลโยธิน, สน.ประเวศ, สน.อุดมสุข, สน.วังทองหลาง, สน.ลาดพร้าว, สน.บางนา, สน.พระโขนง, สน.คลองตัน, สน.บางขุนนนท์, สน.ราษฎร์บูรณะ โดยสั่งการให้แต่ละ สน.ตรวจสอบและแก้ไขปัญหาแล้วนำมารายงานผลภายใน 7 วัน ซึ่งหลังจากนั้นจะรายงานให้ทราบอีกครั้ง
โฆษก บช.น.กล่าวต่อไปว่า สำหรับมาตรการเตรียมรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินช่วงวันวาเลนไทน์ 14 ก.พ.ที่จะถึง โดยมีประชาชน เด็ก และเยาวชนเดินทางไปเที่ยวตามสถานที่ต่างๆ รวมทั้งมีกิจกรรมรื่นเริงในสถานบริการ เพื่อเป็นการคุ้มครองความปลอดภัยแก่เด็กและเยาวชน รวมทั้งประชาชนโดยทั่วไป ซึ่ง บช.น.ได้กำหนดกรอบการทำงานของตำรวจ เพื่อคุ้มครองความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนในช่วงวันวาเลนไทน์ โดย 1.ให้กวดขันสถานบริการปฎิบัติตามกฎหมาย เพื่อป้องกันมิให้เป็นแหล่งมั่วสุมของเด็กและเยาวชน และกวดขันการเปิด-ปิดให้ตรงเวลา โดยไม่อนุญาตให้เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี เข้าไปใช้บริการเด็ดขาด พร้อมกันนี้ให้กวดขันปราบปรามยาเสพติดอย่างเคร่งครัด 2.ตามสถานที่ต่างๆ เช่น ห้างสรรพสินค้า โรงภาพยนตร์ โบว์ลิ่ง โต๊ะสนุกเกอร์ ร้านคาราโอเกะ สวนสาธารณะ เช่น สวนลุม สวนเบญจสิริ และสวนรถไฟ ร้านข้าวต้ม สถานที่ใช้เป็นที่รวมตัวแข่งรถ ฯลฯ ให้บังคับใช้กฎหมาย พ.ร.บ.ปี 2546 เช่น พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และพ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก ถ้าพบเห็นว่าเด็กออกมาเที่ยวเตร่ในยามวิกาลจะติดต่อให้ผู้ปกครองมารับตัวทันที
3.สำหรับประชาชน เด็ก และเยาวชน เกี่ยวกับการแต่งกายเมื่อออกไปนอกบ้าน ไม่ควรสวมใส่เครื่องประดับมีค่า ไม่ขับรถขณะเมาสุรา และให้ระวังเหตุประทุษร้ายต่อทรัพย์ ฉกชิง วิ่งราว ปล้น รถหาย ทำร้ายร่างกาย ทะเลาะวิวาท ซึ่งยิ่งเป็นสุภาพสตรีการแต่งกายควรให้ระวังอย่างมาก รวมถึงให้โรงแรมม่านรูด สถานประกอบการบันเทิงแจ้งข้อมูลข่าวสารต่อเจ้าหน้าที่ หากพบเห็นสิ่งผิดปกติ
“อยากฝากเตือนเยาวชนในเรื่องความผิดเกี่ยวกับเพศ จะมีกฎหมายมาตรา 317, 318, 319 ถ้าพรากผู้เยาว์ให้ระมัดระวัง เนื่องจากมีกฎหมายคุ้มครองอยู่” พ.ต.อ.ปรีดา กล่าว