“เหลิม-ประชา” เรียกถก ผบ.เรือนจำ 143 แห่ง รวมทั้งเจ้าหน้าที่หน่วยงานเกี่ยวข้องทั้ง 9 ภาคในสัปดาห์หน้า เพื่อวางแผนเชิงรุกปราบการสั่งยาผ่านคุก ขณะที่กรมราชทัณฑ์ชู 4 มาตรการหลักเร่งแก้ปัญหา พร้อมเตรียมใช้งบ 3.5 พันล้าน สร้างเรือนจำ Super Max ที่จะใช้เทคโนโลยีสูงควบคุมผู้ต้องขังรายใหญ่ เล็งใช้พื้นที่ อ.สีคิ้ว นครราชสีมา ดำเนินการ
วันนี้ (1 ก.พ.) ที่กระทรวงยุติธรรม นายถิรชัย วุฒิธรรม เลขานุการ รมว.ยุติธรรม และ นายกอบเกียรติ กสิวิวัฒน์ รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ แถลงถึงมาตรการปราบปรามยาเสพติดในเรือนจำ โดย นายถิรชัย กล่าวว่า ในวันศุกร์ที่ 3 ก.พ. ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกฯ และ พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รมว.ยุติธรรม จะเรียกประชุมผู้บัญชาการเรือนจำทั้ง 143 แห่ง และ ผอ.สำนักงานปราบปรามยาเสพติด สำนักงาน ป.ป.ส.ทั้ง 9 ภาค ทั่วประเทศ เพื่อให้นโยบายในการแก้ปัญหาการใช้เรือนจำเป็นฐานบัญชาการในการสั่งยาเสพติด โดยต้องมีมาตรากรเชิงรุกแบบฉับพลันในการแก้ปัญหา ขณะเดียวกัน กรมราชทัณฑ์ ได้ร่วมกับ พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว เลขาธิการ ป.ป.ส.ได้กำหนดมาตรการเชิงรุกในการแก้ปัญหายาเสพติด 4 ระยะ ประกอบด้วย ระยะที่ 1.การย้ายผู้ต้องขังคดียาเสพติดรายสำคัญไปควบคุมที่เรือนจำกลางเขาบิน จ.ราชบุรี พร้อมทั้งสนธิกำลังเจ้าหน้าที่จาก ดีเอสไอ ป.ป.ส., ป.ป.ท.และตำรวจ ทหาร ในการเข้าจู่โจมตรวจค้นเรือนจำ นอกจากนี้ จะงดรับของฝากของเยี่ยมหรือพัสดุในเรือนจำที่มีความมั่นคงสูง ได้แก่ เรือนจำกลางบางขวาง เรือนจำกลางคลองเปรม เรือนจำกลางเขาบิน เรือนจำกลางคลองไผ่ จ.นครราชสีมา และทัณฑสถานบำบัดพิเศษกลาง
นายถิรชัย กล่าวต่อว่า จะติดตั้งระบบอัดเทปการสนทนาระหว่างผู้ต้องขังกับญาติ ส่วนเจ้าหน้าที่เรือนจำจะต้องเข้าเวรรักษาการณ์ในเรือนจำด้วยตัวเปล่า โดยจะไม่อนุญาตให้นำสัมภาระ หรืออาหารเข้าไปอีกต่อไป และจะเปลี่ยนให้เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ใส่เครื่องแบบที่มีตราสัญลักษณ์ที่ทำจากพลาสติก เพื่อรองรับการนำเครื่องสแกนโลหะมาติดตั้งหน้าประตูเรือนจำ รวมทั้งจะนำเครื่องตรวจหาสารเสพติดไว้ประจำที่เรือนจำที่มีความเสี่ยง ระยะที่ 2.เร่งรัดการติดตั้งระบบตัดสัญญาณโทรศัพท์ในเรือนจำกลางพิษณุโลก เรือนจำกลางคลองไผ่ และเรือนจำกลางระยอง ให้เสร็จภายในเดือน พ.ค.หรือ 90 วัน
ระยะที่ 3 เร่งรัดก่อสร้างแดนความมั่นคงสูงในเรือนจำกลางเขาบิน เพื่อปรับปรุงพื้นที่ให้เอื้อต่อการควบคุมผู้ต้องขังคดียาเสพติดรายสำคัญ โดยจะออกแบบห้องขังเดี่ยวและห้องขังรวมขนาดเล็กเพื่อให้ง่ายต่อการตรวจค้น และจะออกแบบการเยี่ยมญาติผ่านระบบวีดีโอคอนเฟอร์เรนซ์ ซึ่งจะยากต่อการส่งซื้อขายยาเสพติด
ระยะที่ 4 จะจัดสร้างเรือนจำ Super Max ซึ่งใช้เทคโนโลยีระดับสูงใช้ควบคุมผู้ต้องขังรายใหญ่โดยเฉพาะการสร้างเรือนจำ Super Max ซึ่งจะใช้เงินก่อสร้าง ประมาณ 3,500 ล้านบาท โดยกรมราชทัณฑ์ จะดำเนินการก่อสร้างให้เสร็จภายใน 3 ปี
ขณะที่ รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ กล่าวว่า ขณะนี้ลักษณะทางกายภาพของเรือนจำไม่เอื้อต่อการควบคุมผู้ต้องขังคดียาเสพติด เพราะผู้ต้องขังทั้งคดีฆ่า คดีเสพ และคดีค้ายาเสพติดอยู่รวมกันหมด ซึ่งทำให้มีความพยายามในการกระทำผิดซ้ำอีกในเรือนจำ โดยการแก้ปัญหาต้องสร้างเรือนจำ Super Max รองรับผู้ต้องขังคดียาเสพติดรายสำคัญไว้โดยเฉพาะ ซึ่งในชั้นนี้จะเร่งสำรวจปริมาณผู้ต้องขังคดียาเสพติดรายสำคัญ เพื่อใช้เป็นฐานข้อมูลในการออกแบบก่อสร้างเรือนจำต่อไป ส่วนสถานที่เบื้องต้นจะสำรวจพื้นที่ของกรมราชทัณฑ์ ใน อ.สีคิ้ว จ.นครราชสีมา โดยงบประมาณที่ใช้ในการก่อสร้างเรือนจำ Super Max ต้องใช้มากกว่าการสร้างเรือนจำทั่วไปประมาณ 5 เท่า ซึ่งปัจจุบันการสร้างเรือนจำทั่วไปในแต่ละแห่งจะใช้งบประมาณ 700 ล้านบาท นอกจากนี้ จะศึกษาในการย้ายเรือนจำที่ตั้งอยู่ในเขตชุมชนออกมา เพื่อประสิทธิภาพในการป้องกันการลักลอบโยนสิ่งของต้องห้ามข้ามกำแพงเรือนจำ