สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กำหนดมาตราการเข้มงวดป้องกันการเกิดอุบัติเหตุช่วงเทศกาลปีใหม่ เน้นตั้งด่านตรวจพวกเมาแล้วขับ-โทรแล้วขับ เพื่อลดอุบัติเหตุในชีวิตและทรัพย์สินบนท้องถนน
วันนี้ (27 ธ.ค.) ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พล.ต.ต.ปิยะ อุทาโย โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เปิดเผยว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้กำหนดมาตรการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ เพื่อลดอุบัติภัยและความสูญเสียจากอุบัติเหตุจราจรให้เหลือน้อยที่สุด พร้อมทั้งส่งเสริมการเรียนรู้ การเดินทางและการขนส่งอย่างปลอดภัย
พล.ต.ต.ปิยะ กล่าวต่อว่า ในปีนี้หน่วยราชการและภาคเอกชนหยุดติดต่อกันหลายวัน เรื่องการเดินทางของประชาชน ได้กำชับเจ้าหน้าที่ตำรวจให้เข้มงวดการบังคับใช้กฎหมายจราจร โดยเฉพาะเรื่อง “ดื่มไม่ขับ” “โทรไม่ขับ” เพื่อป้องกันอุบัติเหตุ ลดจำนวนคนเจ็บ คนตาย ลงให้ได้มากที่สุด และเน้นการอำนวยความสะดวกในการเดินทางทั้งไปและกลับ พร้อมข้อมูลที่ชัดเจนถูกต้องแก่ประชาชน
พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธ์ม่วง ที่ปรึกษา (สบ 10) ฐานะกำกับดูแลการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจในช่วงเทศกาลปีใหม่ ได้กำหนดมาตรการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน พร้อมระดมสรรพกำลังพลจากหน่วยงานตำรวจทุกพื้นที่เพื่ออำนวยความสะดวกการจราจรและการบังคับใช้กฎหมาย โดยให้ทุกหน่วยที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามมาตรการ ดังนี้
1.ตั้งจุดตรวจ พร้อมทั้งจัดชุดสายตรวจเคลื่อนที่ทำงานแบบสุ่มตรวจ
2.เน้นการกวดขัน จับกุมตามมาตรการ 3 ม. (เมาไม่ขับ, สวมหมวกนิรภัย ,มอเตอร์ไซค์ปลอดภัย) 2 ข.(ใบขับขี่, รัดเข็มขัดนิรภัย) 1 ร.(ขับรถเร็ว) รวมทั้งการแซงในที่คับขัน ขับขี่รถย้อนศร ขับรถฝ่าฝืนสัญญาณไฟแดง และโทรศัพท์ขณะขับขี่ โดยได้เน้นหนักในการกวดขับ จับกุมพฤติกรรมเสี่ยงหลัก 3 เรื่อง ได้แก่ ความเร็ว เมาสุรา และไม่สวมหมวกนิรภัยอย่างเข้มงวดและจริงจังในเขตเมือง สถานศึกษา โรงงานอุตสาหกรรมและสถานที่ท่องเที่ยว
3.เน้นกวดขัน จับกุม มาตรการคนขับรถโดยสารสาธารณะ แอลกอฮอล์ต้องเป็นศูนย์
4.เน้นกวดขัน จับกุม สถานที่จำหน่ายสุรานอกเวลาจำหน่ายและการลักลอบจำหน่ายสุรา โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณสถานีบริการน้ำมัน ซึ่งเป็นจุดที่ประชาชนแวะพักเดินทาง
5.กรณีเด็กต่ำกว่า 18 ปี กระทำผิดกฎหมายจราจรหรือกฎหมายอื่นๆ ให้พิจารณา ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 ดำเนินคดีกับผู้ปกครองด้วย
6.การอำนวยความสะดวกการจราจรเส้นทางหลัก มอบหมาย บช.ก. ให้พิจารณาตั้งจุดบริการประชาชนให้เกิดความสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัยในเขตทางหลวงที่อยู่ในอำนาจรับผิดชอบ เพื่อเป็นจุดพักรถ โดยไม่ตั้งจุดตรวจอยู่ในบริเวณเดียวกันกับจุดบริการประชาชน รวมทั้ง การเปิดช่องทางเดินรถพิเศษชั่วคราวเพื่อขยายช่องทางการเดินรถ การเคลื่อนย้ายยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุ หรือรถเสียในช่องทางการจราจร
7.รณรงค์ผู้ใช้รถใช้ถนนสวมหมวกนิรภัยและคาดเข็มขัดนิรภัยทุกครั้ง ขอความร่วมมือประชาสัมพันธ์ผ่านสถานศึกษาหรือวิทยุชุมชน ให้เด็ก เยาวชนและประชาชนปฏิบัติตามกฎหมายและวินัยจราจร โดยเฉพาะการสวมหมวกนิรภัย การใช้ความเร็ว และงดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ก่อนและระหว่างการขับขี่ยานพาหนะ รวมถึงประชาสัมพันธ์เส้นทางสายหลัก สายรอง และเส้นทางลัดสู่ภูมิภาคต่างๆ เส้นทางที่มีจุดอันตราย ถนนที่อยู่ระหว่างการซ่อมแซมหรือก่อสร้าง เพื่อป้องกันปัญหาอุบัติเหตุและการจราจรติดขัด
นอกจากนี้ ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้มีการจัดรถจักรยานยนต์สายตรวจจราจร จำนวน 435 คัน รถยนต์สายตรวจจราจร จำนวน 10 คัน รถสายตรวจ บก.ทล., บก.ทท., บก.ป. รวมจำนวน 30 คัน รพ.ตร.จัดรถพยาบาลพร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ จำนวน 3 คัน