xs
xsm
sm
md
lg

ศาลฎีกาสั่งรอง อธ.อัยการแพ่งธนบุรีจ่ายภาษีค่ารถประจำตำแหน่ง!

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

แฟ้มภาพ
ศาลฎีกาพิพากษายืน ให้รองอธิบดีอัยการแพ่งธนบุรี จ่ายภาษีเงินเหมาจ่ายค่ารถประจำตำแหน่ง ศาลชี้เป็นเงินรายได้เพิ่ม ต้องเสียภาษีให้รัฐตามกฎหมาย

วันนี้ (2 พ.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 26 ต.ค.ที่ผ่านมา ศาลภาษีอากรกลาง ถ.รัชดาภิเษก ได้อ่านคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7536/2554 ในคดีที่นายสุทธิ ภู่เอี่ยม รองอธิบดีอัยการฝ่ายคดีแพ่งธนบุรี สำนักงานอัยการสูงสุด ในฐานะส่วนตัวเป็นโจทก์ยื่นฟ้องกรมสรรพากร เป็นจำเลย เพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งวินิจฉัยเกี่ยวกับภาษีเงินค่าตอบแทนเหมาจ่ายแทนรถประจำตำแหน่ง และให้กรมสรรพากรคืนเงินภาษีจำนวน 59,203 บาทด้วย

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นข้าราชการอัยการ ตำแหน่งรองอธิบดีอัยการฝ่ายคดีแพ่งธนบุรี สำนักงานอัยการสูงสุด ได้รับเงินเดือนเงินประจำตำแหน่ง เงินค่าตอบแทนเหมาจ่ายแทนการจัดหารถประจำตำแหน่งสำหรับข้าราชการผู้มีสิทธิได้รถยนต์ประจำตำแหน่งปี พ.ศ. 2551 ซึ่งเจ้าพนักงานประเมินนำเงินค่าตอบแทน เหมาจ่ายแทนการจัดหารถประจำตำแหน่งจำนวน 492,000 บาท มารวมคำนวณเป็นเงินได้พึงประเมิน ทำให้ต้องชำระภาษีและเงินเพิ่ม

ต่อมาโจทก์ได้อุทธรณ์การประเมินดังกล่าว ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ ซึ่งได้วินิจฉัยแล้วให้ยกอุทธรณ์ แต่ไม่เห็นด้วยทั้งกับการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ จึงนำคดีมาฟ้องขอให้ศาลภาษีอากรกลาง มีคำสั่งเพิกถอนการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ รวมทั้งให้คืนเงินภาษีที่โจทก์ชำระไว้เกินจำนวน 59,203 บาทแก่โจทก์ด้วย ส่วนกรมสรรพากร ต่อสู้คดียืนยันว่าได้พิจารณาตามหลักเกณฑ์โดยชอบแล้ว ซึ่งศาลภาษีอากรกลาง พิเคราะห์คำเบิกความและพยานหลักฐานทั้งสองฝ่ายที่นำสืบหักล้างกัน เห็นว่า กรมสรรพากร กระทำถูกต้องชอบด้วยกฎหมายแล้ว ให้พิพากษายกฟ้อง

จากนั้นโจทก์ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา ซึ่งศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยแล้วเห็นว่า โจทก์ได้รับค่าพาหนะเหมาจ่ายแทนการจัดหารถประจำตำแหน่งเป็นรายเดือนเท่ากันทุกเดือน ถือได้ว่า เป็นค่าตอบแทนเหมาจ่ายแทนการจัดหารถประจำตำแหน่ง ซึ่งล้วนเป็นเงินที่โจทก์ได้รับเป็นประโยชน์เพิ่มขึ้นจากการทำงานนอกเหนือไปจาก เงินเดือนและเงินประจำตำแหน่ง ซึ่งสามารถคิดคำนวณเป็นเงินที่ต้องชำระภาษี ที่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษามานั้นชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์โจทก์ฟังไม่ขึ้น พิพากษายืน
กำลังโหลดความคิดเห็น