ก.ตร.เคาะโผนายพลสีกากี เด็กเพื่อไทยผงาดยกแผง “วินัย ทองสอง” หลานเขยหญิงอ้อคุมเมืองหลวง โยก “จักรทิพย์” คุมภาคใต้ตอนล่าง ส่วน “ภาณุ เกิดลาภผล” นั่งเก้าอี้ ผบช.ภ.3 ขณะที่ “ธนากร” เพื่อนทักษิณคุมงานด้านการข่าวนั่ง ผบช.ส. แขวน “คำรณวิทย์” รอเคลียร์ตำแหน่ง ผบช.ภ.1 ด้าน รรท.ผบ.ตร.ยอมรับที่ต้องกลั่นกรองรอบสองเพื่อแก้โผตามนายกฯ ร้องขอ ดัน “ดำริห์” ขึ้น ผบช.ประสานนายกฯ
วันนี้ (25 ต.ค.) เมื่อเวลา 09.00 น.ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) นายนนทิกร กาญจนจิตรา เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการคัดเลือก หรือบอร์ดกลั่นกรอง โดยมีรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รอง ผบ.ตร.) จเรตำรวจแห่งชาติ (จตช.) ร่วมประชุม โดยใช้เวลา 50 นาที ทั้งนี้ เป็นการประชุมกลั่นกรองบัญชีแต่งตั้งนายพลตำรวจระดับรอง ผบ.ตร. ถึงผู้บัญชาการ (ผบช.) วาระประจำปี 2554 ตามที่ พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ รักษาราชการแทน ผบ.ตร.เสนอ ครั้งที่ 2 เป็นการกแก้ไข หลังจากเข้ากลั่นกรองรอบแรกไปแล้วเมื่อเย็นวันที่ 21 ตุลาคมที่ผ่านมา
พล.ต.อ.เพรียวพันธ์กล่าวว่า การกลั่นกรองรอบสอง เปลี่ยนแปลงไม่มาก เปลี่ยนแปลงตามความเหมาะสม 2-3 ตำแหน่ง เพราะมีบางตำแหน่งที่ต้องประสานงานกับนายกรัฐมนตรี คือตำแหน่งผู้บัญชาการประจำ สง.ผบ.ตร.ทำหน้าที่ ประสานงานนายกรัฐมนตรีและกระทรวงมหาดไทย ต้องเลือกคนที่ประสานได้ที่เรายังไม่ได้แต่งตั้งคนที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ นายกรัฐมนตรีต้องการไปประสานงาน
เมื่อถามว่าที่เปลี่ยนแปลงเพราะเป็นความต้องการของนายกรัฐมนตรี รรท.ผบ.ตร.กล่าวว่า ไม่ใช่ท่านต้องการ แต่ตำแหน่งนี้จำเป็นต้องใช้คนที่นายกรัฐมนตรีประสานงานได้ สั่งการผ่านได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องปัญหาน้ำท่วม
“บางทีสั่งโน่นก็ไม่ได้สื่อสารต่ออย่างที่ท่านอยากบอก ท่านก็จะเอาคนของท่าน ที่สั่งตรงถึงผมได้เลย ซึ่งท่านไม่ได้แนะนำมา แต่เป็นคนที่ผมทราบว่าคนนี้ประสานกับท่านได้ จุดอื่นมี 2-3 จุดที่เปลี่ยนส่วนตำแหน่ง ผบช.ภ.1 ยังต้องรอ วันนี้คาดว่า ก.ตร.ยังแต่งตั้งตำแหน่งนี้ไม่ได้ ต้องรอเข้า ก.ตร.ก่อน แต่คิดว่าไม่น่าจะมีปัญหาในการดูแลสถานการณ์น้ำท่วม ใน บช.ภ. 1อย่างแน่นอน เพราะ พล.ต.ต.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง รรท.ผบช.ภ.1 ก็ทำงานได้อย่างเข้มแข็งดี” พล.ต.อ.เพรียวพันธ์กล่าว
เมื่อถามว่า รายชื่อที่กลั่นกรองมาแล้ว มั่นใจหรือไม่ว่าเข้า ก.ตร.แล้วจะผ่าน รรท.ผบ.ตร.กล่าวว่า ตนมั่นใจว่า ก.ตร.ผู้ทรงคุณวุฒิ รวมทั้ง รอง ผบ.ตร.คงจะเข้าใจ เพราะว่าตนทำบัญชีด้วยระบบอาวุโสทุกอย่างโดยเฉพาะในตำแหน่ง ผบช.ขึ้นผู้ช่วย ผบ.ตร. หรือผู้ช่วย ผบ.ตร.ขึ้นรอง ผบ.ตร. ไม่มีใครที่ไม่อาวุโส และ ผบช.ก็แต่งตั้งด้วยระบบอาวุโส 33% ตนแต่งตั้งให้ตรงหมด อาวุโสต่อจาก 33% ตนก็ให้ มีเพียง 4-5 ตำแหน่ง ที่ตนเป็นผู้รับผิดชอบเป็นหัวหน้าหน่วยงาน ตนจำเป็นต้องใช้คนไปปฏิบัติงาน อย่างเรื่องน้ำท่วม ยาเสพติด
“ผมในฐานะรับผิดชอบหน่วยจึงขอความกรุณา ขอให้คนที่ผมไว้ใจ เพราะผมทำทุกอย่างเปิดเผย รับรองว่าไม่มีนอก ไม่มีใน ไม่มีผลประโยชน์แน่นอน” พล.ต.อ.เพรียวพันธ์กล่าว
เมื่อถามถึงนายตำรวจที่มีปัญหาร้องเรียน เช่น พล.ต.ท.สมคิด บุญถนอม จเรตำรวจ (สบ 8) และ พล.ต.ต.สัณฐาน ชยนนท์ ผบช.กมค. รรท.ผบ.ตร. กล่าวว่า ตรงนี้ผ่านกลั่นกรองมาแล้ว พูดไม่ได้ แต่ก็ไม่ทราบว่า ก.ตร.จะพิจารณาอย่างไร คาดว่าไม่น่าจะมีปัญหา ขณะที่สถานการณ์ตอนนี้มีความจำเป็นเร่งด่วนจึงเชิญ รองผบช. ตลอดจนผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อเป็น ผบช.ในหน่วยต่างๆที่ผ่านบอร์ดกลั่นกรองแล้วมามาประชุมรับสถานการณ์น้ำท่วม เนื่องจากเป็นช่วงรอยต่อ ไม่อยากให้เกิดช่องว่าจึงเรียกมาประชุมร่วมกันเพื่อทำความเข้าใจสั่งการทั้งเรื่องน้ำท่วมและยาเสพติด อย่างไรก็ตามผู้ทีได้รับการเสนอชื่อจะผ่าน ก.ตร.หรือไม่ ตนก็น้อมรับ ไม่เป็นไร หลังจากผ่านแล้วจึงจะตั้งให้ไปรักษาราชการแทนในตำแหน่งต่อไป
ขณะที่มีรายงาน สาเหตุหลักที่ต้องมีการประชุมกลั่นกรองอีกรอบ เนื่องจากหลังจากที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เห็นบัญชีแต่งตั้งที่ผ่านการกลั่นกรองรอบแรกออกมา ปรากฏว่าชื่อของ พล.ต.ต.ดำริห์ โชตเศรษฐ์ รอง ผบช.ก.ที่นายกรัฐมนตรี ไว้วางใจ และมีความสัมพันธ์อันดีกับพรรคเพื่อไทยหลุดไป และกลับมีชื่อของ พล.ต.ต.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง รองผบช.ภ.1 ที่ถูกวางตัวเป็น ผบช.ภ.1 มาเสียบแทน เพื่อให้ได้ขึ้นเป็น ผบช.ไว้ก่อน ทำให้มีการขอให้เปลี่ยนแปลงบัญชีเพื่อแต่งตั้ง พล.ต.ต.ดำริห์ ท่ามกลางกระแสข่าวว่าคนที่ถูกวางตัวในตำแหน่ง ผบช.ประจำสง.ผบ.ตร.ทำหน้าที่ประสานนายกรัฐมนตรีฯ คือ พล.ต.ต.นเรศ นันทโชติ รอง ผบช.ปส. แต่ท้ายที่สุดผู้ที่ถูกเสนอชื่อ คือ พล.ต.ต.ดำริห์
นอกจากนี้ ในบอร์ดกลั่นกรองรอบ 2 ยังได้พิจารณาแต่งตั้งสับเปลี่ยนตำแหน่งอื่นด้วย โดยมีกระแสข่าวว่า หลังจาก ก.ตร.ผู้ทรงคุณวุฒิ บางส่วนเห็นโผแต่งตั้งจึงชี้แนะว่าควรสับเปลี่ยน ดังนี้ พล.ต.ท.ก่อเกียรติ วงศ์วรชาติ ผบช.ภ.8 โยกเป็นจเรตำรวจ (สบ 8) โดยมี พล.ต.ท.สันติ เพ็ญสูตร ผบช.กองบัญชาการศึกษา (ผบช.ศ.)เป็น ผบช.ภ.8 แทน ขณะที่ให้ พล.ต.ท.เรืองศักดิ์ จริตเอก จตร (สบ 8) เป็น ผบช.ศ. แทน และให้ พล.ต.ท.คัคพงศ์ ศีรพาณิชย์ ผบช.ประจำฯ ที่ปรึกษาด้านวิเคราะห์นโยบายเป็น ผบช.สตส. ขณะเดียวกันมีการปรับเปลี่ยนตำแหน่งที่ปรึกษา (สบ 10) ที่ได้รับเลื่อนขึ้นใหม่ โดยมีการปรับหน้างาน ให้ พล.ต.ท.วรพงษ์ ชิวปรีชาเป็น ที่ปรึกษา (สบ 10)ด้านสืบสวน พล.ต.ท.สมยศ พุ่มพันธ์ม่วง เป็นที่ปรึกษา (สบ 10) ด้านความมั่นคงและกิจการพิเศษ และให้ พล.ต.ต.ฉัตรชัย โปรตระนันทน์ เป็นที่ปรึกษา(สบ 10) ด้านป้องกันปราบปราม
ต่อมาเมื่อเวลา 13.30 น.วันเดียวกัน ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี กำกับดูแลสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ หรือ ก.ตร. เพื่อพิจารณาแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการตำรวจวาระประจำปี 2554 ระดับ ผบช.-รอง ผบ.ตร. โดยจะมีการพิจารณาแต่งตั้งตำรวจระดับรอง ผบ.ตร.ทดแทนรอง ผบ.ตร.เกษียณอายุ จำนวน 4 ตำแหน่ง, ที่ปรึกษา (สบ 10) จำนวน 4 ตำแหน่ง หัวหน้านายตำรวจราชสำนักประจำ จำนวน 1 ตำแหน่ง, ผู้ช่วย ผบ.ตร.จำนวน 9 ตำแหน่ง รวม 18 ตำแหน่ง รวมถึงการพิจารณาโยกย้ายข้าราชการตำรวจในตำแหน่งที่เหมาะสม ตามที่ ก.ตร.เห็นสมควร หลังจากเมื่อวันที่ 21 ต.ค. ที่ผ่านมาคณะกรรมการกลั่นกรองข้าราชการตำรวจที่มีความเหมาะสมได้พิจารณาคุณสมบัติผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งไม่ขัดต่อกฎ ก.ตร.ว่าด้วยการแต่งตั้งเรียบร้อยแล้ว รวม 33 ตำแหน่ง
รายงานข่าวแจ้งว่า ที่ประชุมได้พิจารณารายชื่อตำรวจในระดับรองผบ.ตร. เห็นชอบให้ พล.ต.อ.เอก อังสนานท์ พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ พล.ต.อ.สุวัฒน์ จันทร์อิทธิกุล ที่ปรึกษา (สบ 10) โยกเป็น รอง ผบ.ตร. ขณะเดียวกันให้แต่งตั้ง พล.ต.ท.สมยศ พุ่มพันธ์ม่วง ผช.ผบ.ตร. ขึ้นเป็นที่ปรึกษา (สบ 10) ด้านความมั่นคงและกิจการพิเศษ พล.ต.ท.จิโรจน์ ไชยชิต ผู้ช่วย ผบ.ตร. ขึ้นเป็น ที่ปรึกษา (สบ 10) ด้านป้องกันปราบปราม พล.ต.ท.วรพงษ์ ชิวปรีชา ผู้ช่วย ผบ.ตร ขึ้นเป็นที่ ปรึกษา (สบ 10) ด้านสืบสวน พล.ต.ท.ชลธาร จิราณรงค์ รองหน.นรป. (สบ9 ) ขึ้นเป็น หน.นรป.(สบ 10) และ พล.ต.ท.อัมรินทร์ อัครวงศ์ ผู้ช่วย ผบ.ตร. เป็นที่ปรึกษา(สบ.10)
สำหรับตำแหน่ง ผู้ช่วย ผบ.ตร.ว่าง 9 ตำแหน่ง ได้พิจารณาให้เลื่อน พล.ต.ท.บริหาร เสี่ยงอารมณ์ จเรตำรวจ (สบ 8) พล.ต.ท.จรัมพร สุระมณี ผบช.สพฐ. พล.ต.ท.อุดม รักศิลธรรม ผบช.สตส. พล.ต.ท.อาจิณ โชติวงศ์ ผบช.ภ.6 พล.ต.ท.ไถง ปราศจากศตรู ผบช.ภ.2 พล.ต.ท. ประยูร อำมฤต ผบช.ตชด. พล.ต.ท.สัณฐาน ชยนนท์ ผบช. กมค. พล.ต.ท.ชนินทร์ ปรีชาหาญ ผบช.ประจำสง.ผบ.ตร. ขึ้นเป็นผู้ช่วยผบ.ตร. และให้เลื่อน พล.ต.ท.ไตรรัตน์ อมาตยกุล ผบช. นรป. ขึ้นเป็น รองหน.นรป.(สบ 9)
สำหรับตำแหน่งระดับ ผบช.ที่สำคัญ ก.ตร.มีความเห็นชอบตามที่บอร์ดกลั่นกรองเสนอมา โดยให้ พล.ต.ต.วินัย ทองสอง รอง ผบช.ก. หลานเขยคุณหญิงพจมาน ณ ป้อมเพชร เป็น ผบช.น. พล.ต.ต.ปัญญา มาเม่น รอง ผบช.ก.เป็น ผบช.ภ. 2 พล.ต.ต.ภาณุ เกิดลาภผล รอง ผบช.น. นายตำรวจที่เคยดูแลคุณหญิงพจมาน ณ ป้อมเพชร เป็น ผบช.ภ.3
พล.ต.ต.สุเทพ เดชรักษา รอง ผบช.ก. ขึ้นเป็น ผบช.ภ. 5 พล.ต.ต.วันชัย ถนัดกิจ รอง ผบช.ภ. 1 เป็น ผบช. ภ.6 พล.ต.ต.หาญพล นิตย์วิบูลย์ รอง ผบช.ปส. คนสนิท พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ขึ้นเป็น ผบช.ภ. 7 พล.ต.ท.สันติ เพ็ญสูตร ผบช.ศ.โยกเป็น ผบช.ภ. 8 พล.ต.ท.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบช.น. เป็น ผบช.ภ.9 พล.ต.ต.สุทิน เขียวรัตน์ รอง ผบช.ตชด. ซึ่งเป็นเพื่อนร่วมรุ่น นรต.26 ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็น ผบช.ตชด. พล.ต.ท.ธนากร ศิริอัฐ ผบช.งป. เพื่อนร่วมรุ่น นรต.26 ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร โยกเป็น ผบช.ส. พล.ต.ท.เรืองศักดิ์ จริตเอก จตร.สบ 8 เป็น ผบช.ศ. พล.ต.ท.ก่อเกียรติ วงศ์วรชาติ ผบช.ภ. 8 เป็น จเรตำรวจ (สบ8 )
พล.ต.ต.ดำริห์ โชติเศรษฐ์ รอง ผบช.ก. ซึ่งมีสายสัมพันธ์ที่ดีกับพรรคเพื่อไทย และน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ขึ้นเป็น ผบช.ประจำ สง.ผบ.ตร. ทำหน้าที่ประสานนายกรัฐมนตรี พล.ต.ท.พีระพงศ์ ดามาพงศ์ จตร.สบ 8 น้องชาย พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ โยกเป็น ผบช.สพฐ. พล.ต.ท.ตรีทศ รณฤทธิวิชัย ผบช.ส. เป็นผบช.ประจำตร. ประสานสมช. พล.ต.ท.พงษ์สันต์ เจียมอ่อน ผบช.ภ. 7 เป็น จเรตำรวจ (สบ 8) พล.ต.ต.ชัยยะ ศิริอำพันธ์กุล ผบช.ภ. 5 เป็นจเรตำรวจ (สบ 8)
สำหรับตำแหน่ง ผบช.ภ.1 ยังไม่สามารถแต่งตั้งได้ เนื่องจากติดปัญหากรณีร้องเรียนการนับวันทวีคูณของ พล.ต.ต.ศรีวราห์ รังสิพราหมณ์กุล รอง ผบช.ก. รายงานข่าวแจ้งว่า คณะกรรมการสอบสวนได้สอบสวนเสร็จสิ้นเรียบร้อยแล้วและได้เสนอให้ ก.ตร. เมื่อวันที่ 21 ต.ค.ที่ผ่านมา โดยคณะกรรมการสรุปว่า พล.ต.ต.ศรีวราห์ไม่เข้าข่ายนับวันทวีคูณเนื่องจากจากการพิจารณาพยานหลักฐานต่างๆ พบว่า ไม่ได้ไปอยู่ในตำแหน่งประจำ ไปเป็นครั้งคราว โดยยึดหลักมติ ก.ตร. ครั้งที่ 4/2553 และระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี 2550 ข้อที่ 5 และ 20 ที่ระบุไว้ว่าการไปอยู่ประจำ ต้องไปอยู่ประจำในพื้นที่ อย่างไรก็ตาม อยู่ที่ ก.ตร.ว่าจะพิจารณาอย่างไร