“กองปราบ” สั่งไม่ฟ้อง “พสิษฐ์ ศักดาณรงค์” แพร่คลิปฉาวคดียุบพรรค ปชป. ชี้ไม่เข้าข่ายผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ โยนอัยการสูงสุดสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้องอีกคดี
วันนี้ (12 ต.ค.) ที่สำนักงานอัยการสูงสุด ถ.รัชดาภิเษก ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อช่วงปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา พนักงานสอบสวนกองปราบปรามโดย พ.ต.อ.นัยวัฒน์ ผะเดิมชิต รอง ผบก.ป. ได้นำสำนวนพร้อมความเห็นสมควรสั่งไม่ฟ้องนายพสิษฐ์ ศักดาณรงค์ อายุ 40 ปี อดีตเลขานุการส่วนตัวประธานศาลรัฐธรรมนูญ และน.ส.ชุติมา หรือพิมพ์พิจญ์ แสนสินรังสี อายุ 29 ปี เจ้าหน้าที่ระดับ 3 หน้าห้องประธานศาลรัฐธรรมนูญ ผู้ต้องหาคดี เป็นเจ้าพนักงานร่วมกันล่วงรู้ความลับในราชการ เปิดเผยความลับโดยประการให้เกิดความเสียหายตามกฎหมายอาญามาตรา 164 และความผิดฐานร่วมกันเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลอันเป็นเท็จ โดยประการน่าจะเกิดความเสียหาย ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 14 เสนอให้พนักงานอัยการพิจารณา
กรณีเมื่อวันที่ 1 พ.ย. 2553 นายเชาวนะ ไตรมาส เลขาธิการศาลรัฐธรรมนูญ พร้อมทนายความเข้าแจ้งความต่อ พ.ต.ท.ศิววงศ์ ดำรงสัจจ์สิริ พงส.(สบ 2) กก.1 บก.ป. เพื่อให้ดำเนินคดีต่อผู้ที่นำคลิป “พฤติกรรมศาลรัฐธรรมนูญไทย” ไปเผยแพร่ผ่านอินเทอร์เน็ต ซึ่งประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้
โดยกล่าวหาว่า นายพสิษฐ์และพวก แอบนำกล้องเว็บแคมไปซ่อนในห้องประชุมตุลาการรัฐธรรมนูญ แล้วบันทึกภาพขณะตุลาการกำลังหารือกันในคดียุบพรรคประชาธิปัตย์ เป็นคลิปวิดีโอรวม 5 คลิป และมีการเผยแพร่ในระบบอินเทอร์เน็ต ในช่องทาง “ยูทิวบ์” ซึ่งเป็นบริษัทจดทะเบียนสัญชาติสหรัฐฯ โดยผู้กระทำเจตนาให้มีการเผยแพร่ข้อมูลลับทางเครือข่ายดังกล่าวทั่วโลก และมีการเปิดรับข้อมูลข่าวสารในต่างประเทศ
อย่างไรก็ตาม เมื่อพนักงานสอบสวนกองปราบปรามได้สอบสวนเสร็จสิ้นแล้ว และผู้ต้องหาอยู่ในความควบคุมของพนักงานสอบสวน แต่ได้การประกันตัวออกไป จึงส่งเฉพาะสำนวนการสอบสวนให้อัยการตามกฎหมาย ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา142 โดยกำหนดให้อัยการสูงสุด เป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ และทำความเห็นชี้ขาดว่าจะมีความเห็นสั่งฟ้องผู้ต้องหาหรือไม่
ทั้งนี้ สำหรับการพิจารณาของพนักงานสอบสวนนั้นมีหลายประเด็น คือ ผู้ต้องหาเป็นเจ้าพนักงานต้องรับผิดตาม มาตรา 164 หรือไม่ เห็นว่า ความผิดตามกฎหมายนี้ผู้กระทำต้องเป็นเจ้าพนักงาน แม้นายพสิษฐ์ กับพวกเป็นบุคคลทั่วไปแต่เมื่อประธานศาลรัฐธรรมนูญแต่งตั้งให้เป็นเลขานุการ จึงเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมาย
2. มีการกระทำผิดหรือไม่ เห็นว่า คลิปที่เผยแพร่มี 5 รายการ คลิปแรกเป็นภาพบุคคลระดับสูง คลิปที่สอง เป็นภาพ ทนายความของพรรคการเมืองหนึ่งไปพบบุคคลหนึ่ง และพูดคุยกันเรื่องยุบพรรคประชาธิปัตย์ คลิปที่ 3 เป็นภาพตุลาการศาลรัฐธรรมนูญกำลังพูดคุยกันเรื่องยุบพรรคการเมือง โดยน่าเชื่อว่า ภาพถูกบันทึกมาจากเก้าอี้ของนายพสิษฐ์ คลิปที่4 เป็นการสนทนาต่อเนื่องกับคลิปที่ 3 และมีการพูดว่า”เพื่อป้องกันการครหา ให้ดึงนายอภิชาต สุขัคคานนท์ ประธานกกต.มาร่วมรับผิดชอบด้วย” คลิปที่ 5 เป็นการสนทนาของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ พูดคุยกันเรื่องให้ความช่วยเหลือ ส.ส.คนหนึ่ง
ทั้งนี้ พนักงานสอบสวนพิจารณาแล้วเห็นว่า ไม่มีพยานปากใดเห็นผู้ต้องหาเป็นผู้นำกล้องไปซ่อนในห้องประชุม หรือบันทึกภาพ ไม่มีใครเห็นว่าผู้ต้องหา นำคลิปเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์แล้วเผยแพร่ทางยูทูป มีแต่ผู้ใช้ยูสเนมว่า “โอ้ มายก็อด 3009” โดยไม่ระบุอีเมล์แอดเดรส จึงไม่เข้าองค์ประกอบความผิดตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ นอกจากนี้พนักงานสอบสวนได้พยายามขอตรวจสอบข้อมูล จากบริษัท ยูทิวบ์ฯ ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของบริษัทกูเกิล สัญชาติสหรัฐฯ ก็ได้รับแจ้งกลับมาว่า คดีลักษณะดังกล่าวไม่ตรงกับความผิดในสหรัฐฯ จึงไม่อาจสนับสนุนข้อมูลให้ได้
พนักงานสอบสวนจึงยุติการสอบสวน พร้อมทำความเห็นเสนออัยการสมควร “สั่งไม่ฟ้อง” ผู้ต้องหาทั้งสอง และปล่อยผู้ต้องหาไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา143 โดยระหว่างนี้ คดีอยู่ระหว่างการกลั่นกรองของคณะทำงานอัยการสูงสุด คาดว่าจะเสนอความเห็นต่อนายจุลสิงห์ วสันตสิงห์ อัยการสูงสุด พิจารณา ชี้ขาดได้ในสัปดาห์หน้า
สำหรับ นายพสิษฐ์ ศักดาณรงค์ ขณะนี้ได้รับแต่งตั้งเป็นข้าราชการการเมือง ในตำแหน่งที่ปรึกษานายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข