นครบาลคุมเข้มคดีอาชญากรรมจี้-ปล้น "ร้านทอง-ธนาคาร-ปั๊มน้ำมัน-ร้านสะดวกซื้อ" งัดมาตรการเด็ดจัดทำแผนเผชิญเหตุ สร้างสถานการณ์สมมติ เดินหน้ากวาดล้างเด็กแว้น นักเรียนนักเลงตีกัน โดยนำกล้องรุ่นใหม่ที่ปกติใช้ตรวจจับความผิดจราจร มาใช้ตามไล่จับพวกแข่งรถ รวมทั้งน้อมรับพระราชเสาวนีย์ "ราชินี" ใส่เกล้าฯ ปราบยาเสพติดอย่างจริงจัง หลังประชาชนร้องเรียนพร้อมแจ้งเบาะแส พบปัญหาค้ายาเสพติด บก.น.2 มากที่สุด รองลงมา บก.น. 5 และ บก.น. 9
วันนี้(17 ส.ค.)ที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล(บช.น.) พล.ต.ต.ปิยะ อุทาโย โฆษกกองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) เปิดเผยถึงมาตรการป้องกันปราบปรามอาชญากรรมคดีประทุษร้ายต่อทรัพย์สินพี่น้องประชาชน โดยเฉพาะกรณีชิงทรัพย์ธนาคาร ร้านทอง ร้านสะดวกซื้อ ตู้เอทีเอ็ม และปั๊มน้ำมัน ว่า พล.ต.ท.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล(ผบช.น.) มีคำสั่งให้กองบังคับการตำรวจนครบาล 1-9 เข้มงวดกวดขันตรวจตราการประทุษร้ายต่อทรัพย์ โดยมีผลบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังและต่อเนื่องตั้งแต่วันที่ 18 ส.ค.- 31 ส.ค. ในระยะแรก ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อสร้างความมั่นใจและความเชื่อมั่นกับประชาชนในการบำบัดทุกข์ของเจ้าหน้าที่ตำรวจ รวมทั้งให้ตำรวจทุกนายที่ปฏิบัติหน้าที่มีความตื่นตัวในการทำหน้าที่และรู้ลำดับของการปฏิบัติพร้อมกำหนดผู้รับผิดชอบอย่างชัดเจน
โฆษก บช.น. กล่าวต่อว่า พล.ต.ท.จักรทิพย์ มีคำสั่งให้ทุกกองบังคับการออกสถานการณ์สมมติคดีประทุษร้ายต่อทรัพย์ เช่น การจี้ปล้นร้านทอง ธนาคาร ปั๊มน้ำมัน ร้านสะดวกซื้อ และประทุษร้ายตู้เอทีเอ็ม ฯลฯ โดยให้มีผลบังคับใช้ตามกฎหมายอย่างจริงจังและต่อเนื่อง โดยทุก บก.จะต้องมีสถานการณ์สมมติ บก. ละ 1 วัน โดยให้มีการส่งแผนปฏิบัติล่วงหน้ามายังกองบัญชาการตำรวจนครบาลก่อนทุกครั้ง ซึ่งจะได้แจ้งให้สื่อมวลชนทราบด้วย เพื่อติดตามตรวจสอบว่าวันนี้จะมีสถานการณ์สมมติเกิดขึ้นในจุดใด ซึ่งการปฏิบัตินั้นจะให้ สน.พื้นที่เป็นเจ้าภาพ โดยมี ผกก. เป็นผู้ควบคุมการปฏิบัติในพื้นที่ ซึ่งจะสามารถเลือกจุดและกำหนดเวลาได้เองว่าจะสร้างสถานการณ์ให้เกิดขึ้นในตอนไหนโดยอาจเป็นกลางวันหรือกลางคืน ช่วงเวลา 01.00-02.00 น. ก็ได้ และสามารถเรียกกำลังสนับสนุนจากกองบังคับการสายตรวจปฏิบัติการพิเศษ ( 191 ) กองบังคับการตำรวจปราบจลาจล และกองบังคับการตำรวจจราจร อย่างน้อยวันละ 200 นาย
" การปฏิบัติในสถานการณ์สมมตินั้นผู้บังคับบัญชาจะดูว่า ท้องที่มีการวางแผนการทำงานอย่างไร จะมีการสั่งปิดล้อมสถานที่เกิดเหตุอย่างไร มีการควบคุมประชาชนในที่เกิดเหตุอย่างไร การก้าวสกัดจับ สน.ข้างเคียงต้องทำอย่างไร การดูแลเรื่องการจราจรจะต้องทำอย่างไร มีการซักซ้อมอย่างต่อเนื่องและประเมินสถานการณ์ปฏิบัติมีข้อผิดพลาดอย่างไร เพื่อแก้ไขในโอกาสต่อไป นอกจากนี้ยังมีคำสั่งให้ตั้งจุดตรวจค้นต่างๆ ในพื้นที่ล่อแหลม เพื่อสร้างความอบอุ่นใจแก่พี่น้องประชาชนด้วย โดยเริ่มคุมเข้มการป้องกันปราบปรามอาชญากรรมตั้งแต่คืนนี้เป็นต้นไป พร้อมคุมเข้มการจับกุมเด็กแว้นแข่งรถในทางต่างๆ ควบคู่ไปด้วยอย่างจริงจัง รวมถึงการปราบปรามนักเรียนตีกันซึ่งถือเป็น 4 หลักที่ตำรวจนครบาลต้องดูแลอย่างเร่งด่วนคือ ยาเสพติด อาชญากรรม คุมเข้มเด็กแว้น การแข่งรถในทางสาธารณะ และปัญหานักเรียนตีกันทำให้ประชาชนที่อยู่ใกล้เคียงได้รับความเดือดร้อน " พล.ต.ต.ปิยะ กล่าว
พล.ต.ต.ปิยะ กล่าวต่อไปว่า ขณะเดียวกันที่ประชุมบริหารมีคำสั่งให้ฝ่ายป้องกันปราบปรามทุก สน.ประสานกับกองบังคับการตำรวจจราจร นำกล้องตรวจจับความผิดการจราจรรุ่นใหม่ที่มีประสิทธิภาพไปใช้ในภารกิจอย่างอื่นได้อีกนอกเหนือจากคดีความผิดเรื่องจราจร โดยเฉพาะเรื่องการจับกุมการแข่งรถในทางสาธารณะ และการป้องกันอาชญากรรมในทุกรูปแบบ เพราะกล้องรุ่นใหม่นี้สามารถจับภาพในเวลากลางคืนได้ ซึ่งจะเห็นทะเบียนรถชัดเจน เพื่อนำไปใช้เป็นหลักฐานในการดำเนินคดีในชั้นศาลได้
โฆษก บช.น. กล่าวต่อว่า กองบัญชาการตำรวจนครบาลได้สรุปสถานภาพรวมอาชญากรรมในพื้นที่ กทม.ในรอบ 10 เดือนตั้งแต่ วันที่ 1 ต.ค. 2553 ถึงวันที่ 31 ก.ค. 2554 และเปรียบเทียบคดีย้อนหลังในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาพบว่า เป็นไปตามเป้าหมายในทุกกลุ่มคดีอาชญากรรมต่างๆไม่ว่าจะเป็นคดีอุกฉกรรจ์สะเทือนขวัญ คดีทำร้ายต่อชีวิตร่างกายและเพศ คดีประทุษร้ายต่อทรัพย์สิน ซึ่งพบว่ามีสถิติลดลงและมีสถิติการจับกุมสูงขึ้น แต่เมื่อตรวจสอบในรายละเอียดที่ประชุมบริหารระดับ ผบช.น. รอง ผบช.น.และ ผบก.น.ทุกหน่วยแสดงความเป็นห่วงคดีบางกลุ่มที่จำเป็นต้องเร่งรัดมากขึ้น โดยเฉพาะคดีที่เป็นความเสียหายต่อทรัพย์สินพี่น้องประชาชนมีหลายพื้นที่ในหลายกองบังคับการต้องเข้มงวดกวดขันมากขึ้นภายใน 2 เดือนจะต้องลดลง
รับใส่เกล้าฯเร่งปราบยาเสพติด
นอกจากนี้ พล.ต.ต.ปิยะ กล่าวถึงการปราบปรามยาเสพติดว่า กองบัญชการตำรวจนครบาลน้อมรับพระราชเสาวนีย์ของสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชชินีนาถ ในการดูแลเรื่องยาเสพติดอย่างเร่งด่วน โดยจะมีการปิดล้อมตรวจค้นยาเสพติดในพื้นที่ที่มีการร้องเรียนมาเป็นจำนวนมากใน 3 พื้นที่หลักคือ บก.น.2 ,บก.น. 5 และบก.น. 9 ซึ่งจะระดมกำลังทุกหน่วยที่เกี่ยวข้อง 2 วันด้วยกัน คือวันที่ 18 - 19 ส.ค. โดยมีการสนธิกำลังของกองบังคับการสายตรวจปฏิบัติการพิเศษ กองบังคับการปราบจลาจล และกองบังคับการตำรวจจราจร เข้าดำเนินการตามแผนร่วมกับตำรวจท้องที่ พร้อมกันนี้ได้ตรวจสอบข้อมูลการร้องเรียนเบาะแสต่าง ๆ ของประชาชนที่แจ้งเข้ามาในเรื่องของยาเสพติดพบว่า กองบังคับการตำรวจนครบาล 2 มีการแจ้งมากที่สุดในรอบเดือนที่ผ่านมา จำนวน 252 เรื่อง รองลงมากองบังคับการตำรวจนครบาล 5 จำนวน 178 เรื่อง และกองบังคับการตำรวจนครบาล 9 จำนวน 138 เรื่อง ซึ่งที่ประชุมบริหารระดับนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่เห็นว่าใน 3 พื้นที่นี้มีปัญหาเรื่องยาเสพติด จึงจำเป็นต้องดำเนินการก่อน