xs
xsm
sm
md
lg

ศาลไฟเขียวเลิกจ้าง “สาวิทย์” กับพวก กรณียุยงหยุดเดินรถไฟใต้

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

นายสาวิทย์ แก้วหวาน ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย
ศาลแรงงานอนุญาตการรถไฟ เลิกจ้าง “สาวิทย์ แก้วหวาน” ประธานสหภาพแรงงานรถไฟ กับพวกรวม 7 คน พร้อมสั่งชดใช้เงิน 15 ล้านบาท กรณียุยงพนักงานรถไฟใต้หยุดเดินรถ

วันนี้ (28 ก.ค.) เมื่อเวลา 13.30 น. ที่ศาลแรงงานกลาง ถ.พระราม 4 ศาลออกนั่งบัลลังก์อ่านคำพิพากษาคดีที่การรถไฟแห่งประเทศไทย เป็นโจทก์ฟ้องนายภิญโญ เรือนเพชร นายบรรจง บุญเนตร์ นายสาวิทย์ แก้วหวาน นายธารา แสวงธรรม นายเหลี่ยม โมกงาน นายสุพิเชฐ สุวรรณชาตรี และนายอรุณ ดีรักชาติ เป็นจำเลยที่ 1-7 โดยจำเลยที่ 3 เป็นประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย และกรรมการกิจการสัมพันธ์การรถไฟแห่งประเทศไทย ส่วนจำเลยที่ 1-2 และ 4-7 เป็นกรรมการฯ

ฟ้องโจทก์สรุปว่า จำเลยทั้งเจ็ดร่วมกันไม่ปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่ในการหาทางปรองดองและระงับข้อขัดแย้งในรัฐวิสาหกิจ และกระทำการอันเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งของศาลจังหวัดสงขลาในคดีหมายเลขดำที่ 926/2552 โดยจำเลยทั้งเจ็ดกับพวกร่วมกันยุยงชักชวนให้พนักงานขับรถ และพนักงานช่างเครื่องของโจทก์ทั่วประเทศ รวมทั้งโรงรถจักรหาดใหญ่ หยุดการปฏิบัติหน้าที่ขับขบวนรถไฟเพื่อขนส่งผู้โดยสารและสินค้าอันเป็นการบริการของโจทก์ และไม่ยินยอมให้โจทก์นำหัวรถจักรออกใช้งาน โดยอ้างว่าหัวรถจักรของโจทก์ชำรุดไม่ปลอดภัยแก่พนักงานขับรถและพนักงานช่างเครื่องที่จะใช้ลากจูงขบวนรถไฟและบรรทุกสินค้าอันเป็นความเท็จ เป็นเหตุให้พนักงานขับรถและพนักงานช่างเครื่องของโจทก์หลงเชื่อไม่ปฏิบัติหน้าที่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่ประชาชนที่มาใช้บริการและทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย การกระทำของจำเลยทั้งเจ็ดเป็นการฝ่าฝืน พ.ร.บ.แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2543 ม.23(2) และ ม.33

นอกจากนี้ จำเลยทั้งเจ็ดกับพวกยังร่วมกันปราศรัย ณ ที่ทำการสำนักงานใหญ่ ตึกบัญชาการของโจทก์ เพื่อขับไล่และเรียกร้องให้รัฐบาลปลดผู้ว่าการรถไฟฯ อันเป็นการกระทำนอกเหนืออำนาจหน้าที่ขัดต่อข้อบังคับของโจทก์ ซึ่งถือเป็นความผิดชัดแจ้ง โจทก์สามารถลงโทษไล่จำเลยทั้งเจ็ดออกโดยไม่ต้องมีการสอบสวน และยังเป็นการทำผิดกฎหมายอาญา จึงขอให้ศาลอนุญาตให้โจทก์เลิกจ้างจำเลยทั้งเจ็ดโดยให้ไล่ออกจากงานและให้จำเลยทั้งเจ็ดร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ตามฟ้อง

ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยแล้ว ข้อเท็จจริงที่คู่ความทั้งสองฝ่ายนำสืบรับฟังได้ว่า กรณีสืบเนื่องจากขบวนรถด่วนของโจทก์ตกรางที่สถานีเขาเต่า จ.ประจวบคีรีขันธ์ เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2552 สหภาพฯรถไฟฯ โดยกรรมการสหภาพฯ มีความเห็นว่าเหตุที่ขบวนรถด่วนดังกล่าวตกรางเนื่องจากอุปกรณ์ระบบเดดแมนและระบบวิจิแลนซ์ ในหัวรถจักรชำรุดใช้การไม่ได้ จำเลยทั้งเจ็ดจึงร่วมกันรณรงค์เรื่องความปลอดภัยในการทำงานของพนักงานให้ตรวจสอบอุปกรณ์ดังกล่าวอยู่ในสภาพสมบูรณ์ แต่จากการรณรงค์ดังกล่าวเป็นเหตุให้พนักงานขับรถและพนักงานช่างเครื่องบางคนไม่ยอมนำหัวรถจักรไปนำขบวน ทำให้โจทก์ไม่มีรถไฟออกรับส่งผู้โดยสารและสินค้า ต่อมาศาลจังหวัดสงขลามีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ห้ามมิให้สหภาพฯกับพวกขัดขวางมิให้มีการเดินขบวนรถไฟตามปกติ โจทก์จึงสามารถนำหัวรถจักรไปนำขบวนได้ ซึ่งปรากฏว่าแม้หัวรถจักรที่มีอุปกรณ์ดังกล่าวชำรุดเสียหายก็สามารถนำไปทำขบวนได้เพราะเป็นเพียงอุปกรณ์เสริมมิใช้อุปกรณ์หลักที่มีความสำคัญเกี่ยวกับความปลอดภัยในการเดินรถ และปรากฏว่าไม่เคยเกิดอุบัติเหตุตามที่จำเลยทั้งเจ็ดกล่าวอ้าง

ดังนั้น การที่จำเลยทั้งเจ็ดรณรงค์เรื่องความปลอดภัยของพนักงานขับรถและช่างเครื่องจนเป็นเหตุให้พนักงานของโจทก์บางคนหยุดปฏิบัติหน้าที่นำรถไฟออกให้บริการประชาชนโดยเฉพาะการเดินรถในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ถือเป็นการยุยงชักชวนให้พนักงานขับรถและช่างเครื่องและพนักงานอื่นของโจทก์หยุดการปฏิบัติหน้าที่ เป็นการจงใจทำให้โจทก์ผู้เป็นนายจ้างได้รับความเสียหายและเป็นการละทิ้งหน้าที่ในขณะที่กำลังปฏิบัติอยู่ตามข้อบังคับของโจทก์ กรณีมีเหตุที่ศาลแรงงานกลางจะอนุญาตให้โจทก์เลิกจ้างจำเลยทั้งเจ็ดตาม พ.ร.บ.รัฐวิสาหกิจฯ ม.24 (2)

พิพากษาว่า อนุญาตให้โจทก์เลิกจ้างจำเลยทั้งเจ็ดได้ และให้จำเลยทั้งเจ็ดร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นเงิน 15 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จสิ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น