“ไอ้ตู่ จตุพร” ขึ้นศาลเบิกความสู้คดีถูกนายกฯ “มาร์ค” ฟ้องหมิ่นสั่งฆ่าประชาชนเสื้อแดง ด้าน “หมอเหวง” เตรียมฟ้อง “ธาริต” ปฏิบัติหน้าที่มิชอบ ถอนประกัน 9 นปช.ในคดีก่อการร้าย
วันนี้ (26 พ.ค.) ที่ห้องพิจารณาคดี 914 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ศาลได้สืบพยานจำเลยครั้งแรกคดีที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เป็นโจทก์ฟ้องนายจตุพร พรหมพันธุ์ ผู้สมัคร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย และแกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือ นปช. เป็นจำเลยในความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา
ทั้งนี้ จากกรณีเมื่อวันที่ 10 พ.ค. 2552 นายจตุพรได้ขึ้นพูดบนเวทีปราศรัยด้วยเครื่องกระจายเสียงต่อหน้าประชาชนที่วัดไผ่เขียว ย่านดอนเมือง โดยกล่าวหาว่าโจทก์ไม่ได้นั่งอยู่ในรถประจำตำแหน่งในช่วงเหตุการณ์ที่กลุ่มคนเสื้อแดงปิดล้อมกระทรวงมหาดไทย และรุมทุบรถ รวมทั้งกล่าวหาว่านายกรัฐมนตรีเป็นฆาตกรมือเปื้อนเลือดสั่งให้ทหารยิงประชาชนคนเสื้อแดงในเหตุการณ์ชุมนุมช่วงเดือน เม.ย.52 ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายเสื่อมเสียชื่อเสียง
โดยนายจตุพรเบิกความสรุปว่า ขณะที่ถูกฟ้องคดีนี้ตนเป็น ส.ส.มีหน้าที่ตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลทั้งในและนอกรัฐสภา ซึ่งการที่พรรคประชาธิปัตย์สามารถจัดตั้งรัฐบาล เพราะพรรคพลังประชาชนถูกศาลรัฐธรรมนูญตัดสินให้ยุบพรรค ซึ่งทำให้นายอภิสิทธิ์ ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ดึงพรรคการเมืองอื่นๆ มาร่วมจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งมีพรรคภูมิใจไทยเป็นหนึ่งในพรรคการเมืองที่ร่วมจัดตั้งรัฐบาลด้วย และเป็นที่ทราบกันดีว่านายอภิสิทธิ์ได้ไปพบนายเนวิน ชิดชอบ แกนนำพรรคภูมิใจไทย เพื่อชักชวนให้เข้ามาร่วมจัดตั้งรัฐบาล
อย่างไรก็ตาม ตนได้ซักถามนายอภิสิทธิ์ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจว่านายพสิษฐ์ ศักดาณรงค์ เลขานุการส่วนตัวประธานศาลรัฐธรรมนูญ เดินทางไปพบพร้อมทั้งแจ้งผลการตัดสินยุบพรรคพลังประชาชนให้ทราบ เพื่อให้มีการสลับขั้วทางการเมืองใช่หรือไม่ แต่นายอภิสิทธิ์ไม่ได้ตอบคำถามนี้ ดังนั้น การที่พรรคพลังประชาชน พรรคชาติไทย และพรรคมัชฌิมาธิปไตย ถูกตัดสินให้ยุบพรรคอย่างมีเงื่อนงำ ซึ่งทำให้เกิดข้อเคลือบแคลงสงสัย และการจัดตั้งรัฐบาลก็เกิดขึ้นในค่ายทหารเป็นการตอบย้ำว่าที่ผ่านมาการจัดตั้งรัฐบาลเป็นไปโดยมิชอบ อีกทั้งนายอภิสิทธิ์ยังไม่มีการแถลงนโยบายที่รัฐสภา แต่กลับมีการแถลงนโยบายที่กระทรวงการต่างประเทศแทนอีกด้วย ตนและประชาชนจึงต้องออกมารวมตัวกันเพื่อเรียกร้องให้นายอภิสิทธิ์ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี หรือดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่ง
นายจตุพรยังเบิกความต่อว่า การชุมนุมได้ดำเนินการไปเรื่อยๆ จนวันที่ 8 เม.ย. 52 มีประชาชนเดินทางมาร่วมชุมนุมจำนวนกว่า 3 แสนคน และได้ยื่นเงื่อนไขให้นายอภิสิทธิ์ รวมถึงผู้ที่เกี่ยวข้องลาออกจากตำแหน่ง แต่ไม่ได้รับการตอบสนอง ต่อมามีการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน ที่ จ.ชลบุรี กลุ่ม นปก.มีมติวันที่ 9 เม.ย. 52 ให้นายอริสมันต์ พงศ์เรืองรอง และผู้ชุมนุมบางส่วนเป็นตัวแทนยื่นหนังสือชี้แจงผู้บริหารของประเทศที่เข้าร่วมประชุมว่าประเทศไทยกำลังเกิดอะไรขึ้น และกลุ่ม นปก.มีทิศทางการต่อสู้เพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยอย่างไร ซึ่งไม่ได้มีเจตนาที่จะเลื่อนหรือล้มการประชุม แต่ระหว่างการเดินทางไปสถานที่จัดประชุมปรากฏว่ามีตะปูเรือใบโปรยตามเส้นทาง ทำให้รถแท็กซี่ 40 คันเสียหาย รวมถึงมีคนขับรถแท็กซี่ 2 คน และประชาชน 2 คน ถูกยิงได้รับบาดเจ็บ และขณะเดินทางกลับจากการยื่นหนังสือถูกกลุ่มชายฉกรรจ์สวมเสื้อสีน้ำเงินที่ยืนอยู่กับกลุ่มตำรวจและทหารซุ่มใช้ไม้และหนังสติ๊กทำร้ายกลุ่ม นปก. ซึ่งชายฉกรรจ์บางคนสวมชุดเกราะคล้ายทหารด้วย ภายหลังทราบว่าชายฉกรรจ์ดังกล่าวเป็นตำรวจจาก บช.ภ.3 ถือเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ และอยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของนายอภิสิทธิ์ นอกจากนี้ เสื้อสีน้ำเงินก็ได้รับจากกระทรวงมหาดไทย ภายใต้การดูแลของพรรคภูมิใจไทย และมีภาพถ่ายนายเนวินปรากฏอยู่ในเหตุการณ์ จึงเชื่อมโยงได้ว่านายเนวินก็มีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ด้วย ทั้งนี้ เมื่อนายจตุพรเบิกความเรื่องอื่นๆ แล้วเสร็จ ศาลจึงนัดสืบพยานจำเลยครั้งต่อไปในวันที่ 27 พ.ค.นี้
ด้าน นพ.เหวง โตจิราการ แกนนำ นปช.เปิดเผยว่า ในสัปดาห์หน้าจะยื่นฟ้องนายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษต่อศาลอาญาในความผิดฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ จากกรณีที่พนักงานสอบสวนกรมสอบสวนคดีพิเศษได้ยื่นคำร้องขอถอนประกันแกนนำ นปช.ทั้ง 9 คนในคดีก่อการร้าย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันนี้ยังคงมีกลุ่มคนเสื้อแดงจำนวนหนึ่งเดินทางมาให้กำลังใจนายจตุพรที่ศาลได้เบิกตัวมาจากเรือนจำด้วย