“วรพงษ์” หาทางออกให้ ป.ป.ท.กับ ตร.จากบทเรียนพบบ่อนบนเอสพลานาดแต่มีปัญหาการเข้าจับกุมโดยให้ตั้งศูนย์ประสานบูรณาการร่วม เพื่อเป็นศูนย์กลางรับแจ้งเหตุ และส่งตำรวจเข้าร่วมจับกุมกับ ป.ป.ท. ขณะที่เลขาฯ ป.ป.ท. เผย ป.ป.ท.มีคดีค้างที่ตรวจพบเจ้าหน้าที่รัฐทำหน้าที่มิชอบ 400 คดี ชี้พบมีตำรวจระดับผู้กำกับฯ ขึ้นไปเกี่ยวข้อง คาดมิถุนายนนี้ บอร์ด ป.ป.ท.ทำหน้าที่ได้
วันนี้ (11 พ.ค.) นายอำพล วงศ์ศิริ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) เปิดเผยความคืบหน้ากรณีเจ้าหน้าที่ ป.ป.ท.เข้าตรวจสอบการเปิดให้เล่นพนันออนไลน์ ที่ร้านตู้เกมมินิแลนด์ บนชั้น 2 ห้างเอสพลานาด ถ.รัชดาฯ ว่า เมื่อวานนี้ (10 พ.ค.) เจ้าหน้าที่ ป.ป.ท.จำนวน 3 คน ได้นำหลักฐานเกี่ยวกับการกระทำความผิดของร้านตู้เกมมินิแลนด์ ซึ่งเป็นคลิปวิดีโอและภาพนิ่ง ซึ่งถ่ายไว้ได้ขณะที่มีเล่นการพนันเข้าให้ข้อมูลต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.ห้วยขวางแล้ว แต่การให้ข้อมูลดังกล่าวยังไม่เสร็จสิ้น โดยมีการประสานให้เจ้าหน้าที่ ป.ป.ท.เข้าให้ข้อมูลเพิ่ม อีก 1-2 ราย อย่างไรก็ตาม ยืนยืนว่า ป.ป.ท.มีหน้าที่ตรวจสอบการทุจริตเหมือนเดิม หากมีเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับสถานบันเทิงเปิดเกินเวลา หรือมียาเสพติด ป.ป.ท.ก็จะเข้าไปดำเนินการตรวจสอบว่ามีเจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปเกี่ยวข้องด้วยหรือไม่ ส่วนตำรวจมีหน้าที่จับกุมการกระทำที่ผิดกฎหมาย
นายอำพลกล่าวต่อว่า เพื่อให้การทำงานระหว่าง ป.ป.ท.และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ดำเนินไปด้วยความเรียบร้อย โดยวันนี้ตนได้เข้าหารือกับ พล.ต.ท.วรพงษ์ ชิวปรีชา ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ โดยได้ข้อสรุปว่าทั้งสองหน่วยงานจะประสานงานร่วมกัน โดยในส่วนของตำรวจจะมีการตั้งชุดเฉพาะกิจ เรียกว่า “ศูนย์ประสานการบูรณาการร่วม” ระหว่างตำรวจ กับ ป.ป.ท. ดังนั้น ต่อไปนี้หากมีประชาชนพบแหล่งสถานบันเทิงหรือแหล่งอบายมุขเปิดเกินเวลา และแจ้งเรื่องมายังหน่วยงาน ป.ป.ท. เจ้าหน้าที่ ป.ป.ท.ก็จะประสานงานไปยังศูนย์ดังกล่าว ที่มี พล.ต.ท.วรพงษ์ ชิวปรีชา ผู้ช่วย ผบ.ตร.เป็นผู้บังคับบัญชา และรับผิดชอบโดยตรง จากนั้นทางศูนย์ดังกล่าวจะแจ้งไปยังหน่วยงานตำรวจในสังกัดที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ส่งผู้ปฏิบัติงานลงพื้นที่ตรวจสอบสถานบันเทิงและแหล่งอบายมุข ร่วมกับเจ้าหน้าที่ ป.ป.ท.เพื่อให้การทำงานเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ซึ่งคาดว่าแนวทางดังกล่าวจะสามารถแก้ปัญหาการติดขัดและความล่าช้าในเรื่องการประสานงานระหว่างสองหน่วยงานได้ และหากประชาชนแจ้งเรื่องร้องเรียนเข้ามาก็จะสามารถโทรศัพท์ติดต่อ หรือประสานงานกันตลอด 24 ชั่วโมง
นายอำพลกล่าวต่อไปว่า ขณะนี้มีการจัดตั้งบอร์ด ป.ป.ท. ซึ่งผ่านการอนุมัติจากวุฒิสภา เมื่อวันที่ 2 พ.ค. 2554 โดยคาดว่าบอร์ด ป.ป.ท.ที่ได้ผ่านการอนุมัติจากวุฒิสภา และจะต้องลาออกจากตำแหน่งเดิม หรือกรรมการของหน่วยงานรัฐและเอกชน ภายใน 30 วัน หลังจากนั้นจะส่งเรื่องให้คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบอีกครั้ง ซึ่งคาดว่าภายในเดือนมิถุนายนนี้ บอร์ด ป.ป.ท. จะสามารถทำงานได้ ซึ่งขณะนี้ ป.ป.ท.มีคดีคั่งค้าง ที่ตรวจสอบเบื้องต้นพบว่าเจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปเกี่ยวข้องไม่ต่ำกว่า 400 คดี รวมทั้งคดีที่ประชาชนร้องเรียนเกี่ยวกับเจ้าหน้าที่ตำรวจปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเป็นจำนวนมากเช่นเดียวกัน ทั้งนี้ ขณะนี้อยู่ระหว่างรอบอร์ด ป.ป.ท.เข้ามาพิจารณา เพื่อชี้มูลความผิด ซึ่งบอร์ด ป.ป.ท.มีอำนาจตรวจสอบและชี้มูลความผิดข้าราชการระดับ 1-7 ตำรวจระดับชั้นประทวนไปจนถึงระดับรองผู้กำกับสถานีตำรวจ
อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมามีหลายคดีที่ประชาชนร้องเรียนเข้ามายัง ป.ป.ท.แล้วพบว่าเกี่ยวข้องกับข้าราชการตำรวจระดับผู้กำกับสถานีตำรวจขึ้นไป ซึ่ง ป.ป.ท.จะดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงไว้เบื้องต้น ก่อนส่งให้ ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดตามกฎหมาย หลังจากนั้นจะแจ้งเรื่องไปยังหน่วยงานต้นสังกัด เพื่อพิจารณาลงโทษทางวินัยเช่น ไล่ออก หรือ ให้ออกจากราชการต่อไป
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บอร์ด ป.ป.ท.มีทั้งหมด 6 คน ประกอบด้วย นายอภินันทน์ อิศรางกูร ณ อยุธยา เลขาธิการ ป.ป.ช. ซึ่งเป็นบอร์ด ป.ป.ท.โดยตำแหน่ง และที่ผ่านอนุมัติจากวุฒิสภา อีก 5 คน ประกอบด้วย นายโสภณ จันเทรมะ อดีตอธิบดีผู้พิพากษา ศาลภาษีอากรกลาง นายกนก พันธุ์รักษา อดีตผู้พิพากษาศาลฎีกา นายถวิล อินทรรักษา อดีตผู้พิพากษาศาลฎีกา นายประสิทธิ์ แสนศิริ อดีตผู้พิพากษาศาลฎีกา และ นายปรีชา จำปารัตน์ อดีตเลขาธิการ ป.ป.ส.