xs
xsm
sm
md
lg

บช.น.จับมือ “เอแบคโพลล์” สำรวจความพึงพอใจต่อการทำงานของตร.

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

พล.ต.ต.วรศักดิ์ นพสิทธิพร รองผบช.น. พร้อม พล.ต.ต.อำนวย นิ่มมะโน รองผบช.น. พล.ต.ต.อนันต์ ศรีหิรัญ รองผบช.น. พล.ต.ต.อนุชัย เล็กบำรุง รองผบช.น. และพล.ต.ต.ปิยะ อุทาโย ผบก.อก.บช.น.และโฆษก บช.น. ร่วมกับ ดร.นพดล กรรณิการ์ ผู้อำนวยการสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ ประชุมความร่วมมือเพื่อสำรวจความคิดเห็นของประชาชนต่อการดำเนินการโครงการ “กรุงเทพมหานคร เมืองปลอดภัย ห่างไกลอาชญากรรม”
“นครบาล” จับมือ “สำนักวิจัยเอแบคโพลล์” ร่วมมือสำรวจความคิดเห็นของประชาชนต่อการดำเนินการโครงการ “กรุงเทพมหานคร เมืองปลอดภัย ห่างไกลอาชญากรรม” หวังสำรวจความพึงพอใจภายหลังนโยบายประชาวิวัฒน์ลดอาชญากรรม 20% ภายใน 6 เดือนของ ตร.เป็นไปตามเป้าหมาย ขณะที่ “เอแบคโพลล์” ยันการทำวิจัยจะเคร่งครัดต่อระเบียบวิจัยไม่มีฮั้ว และไม่มีการทำเพื่อประโยชน์ส่วนตัวอย่างแน่นอน

วันนี้ (9 พ.ค.) เมื่อเวลา 10.00 น. ที่ห้องประชุมปารุสกวัน 1 กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) พล.ต.ต.วรศักดิ์ นพสิทธิพร รองผบช.น. พร้อม พล.ต.ต.อำนวย นิ่มมะโน รอง ผบช.น. พล.ต.ต.อนันต์ ศรีหิรัญ รอง ผบช.น. พล.ต.ต.อนุชัย เล็กบำรุง รอง ผบช.น. และพล.ต.ต.ปิยะ อุทาโย ผบก.อก.บช.น.และโฆษก บช.น. ร่วมกับ ดร.นพดล กรรณิการ์ ผู้อำนวยการสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ ประชุมความร่วมมือเพื่อสำรวจความคิดเห็นของประชาชนต่อการดำเนินการโครงการ “กรุงเทพมหานคร เมืองปลอดภัย ห่างไกลอาชญากรรม”

พล.ต.ต.วรศักดิ์กล่าวว่า สืบเนื่องจากที่รัฐบาลมีนโยบายประชาวิวัฒน์ลดอาชญากรรม 20% ภายใน 6 เดือน ในพื้นที่รับผิดชอบของ บช.น. เพื่อให้การดำเนินการเป็นไปอย่างมีระบบไปในแนวทางเดียวกันและมีประสิทธิภาพเป็นไปตามเป้าหมายที่รัฐบาลกำหนด ผลการปฏิบัติในช่วง 3 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. - 31 มี.ค.54 สามารถลดอาชญากรรมได้ 42.18 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเปรียบเทียบกับ 90 วัน ของค่าเฉลี่ย 6 เดือน ผลการทำงานเกินกว่าเป้าหมายที่รัฐบาลตั้งไว้ บช.น.จึงกำหนดแนวทางการดำเนินการลดอาชญากรรม โดยแบ่งกลุ่มสถานีตำรวจในพื้นที่ บช.น.ไว้ 4 กลุ่ม พื้นที่ที่มีสถิติการเกิดอาชญากรรมสูงมาก 10 สถานี พื้นที่ที่มีสถิติการเกิดอาชญากรรมสูง 15 สถานี พื้นที่ที่มีสถิติการเกิดอาชญากรรมค่อนข้างสูง 15 สถานี และพื้นที่ที่สามารถควบคุมอาชญากรรมได้ 46 สถานี

“เพื่อให้การปฏิบัติหน้าที่ในการป้องกันปราบปรามอาชญากรรมเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและสะท้อนผลการปฏิบัติตามความเป็นจริง บช.น.จึงกำหนดให้มีการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนต่อการดำเนินโครงการดังกล่าว และได้รับความร่วมมือจากศูนย์เครือข่ายวิชาการเพื่อสังเกตการณ์และวิจัยความสุขชุมชน (ศูนย์วิจัยความสุขชุมชน)มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ (เอแบคโพลล์) เป็นผู้ประเมินความพึ่งพอใจของประชาชนต่อการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจตามโครงการ กรุงเทพฯ เมืองปลอดภัย ห่างไกลอาชญากรรม ซึ่งจะสำรวจความคิดเห็นของประชาชนตามหลักวิชาการ” พล.ต.ต.วรศักดิ์กล่าว

ด้าน ดร.นพดลกล่าวว่า เป็นการทำงานร่วมกับตำรวจเพื่อสำรวจความคิดเห็นของประชาชนโดยใช้การทำวิจัย เน้นสะท้อนความรู้สึกของประชาชนว่าประชาชนรู้สึกอย่างไรต่อพื้นที่ที่อยู่อาศัยและการทำงานของตำรวจ โดยดูจากจุดเสี่ยงและไม่เสี่ยง ใช้หลักวิชาการแบบวิจัยเชิงปริมาณ การเลือกกลุ่มตัวอย่าง การจดบันทึกสังเกตการณ์ เมื่อรวบรวมข้อมูลทั้งหมดแล้วจะส่งกลับมา บช.น. เพื่อเป็นข้อมูลในการปฏิบัติต่อไป นอกจากนี้ยังมีการทดสอบแบบพุทธิปัญญา โดยจะมีการสนทนากับกลุ่มเป้าหมายและมีกล้องวงจรปิด (CCTV) บันทึกภาพ สำหรับกลุ่มเสี่ยง (Hot sport) เช่น ผู้ประกอบการร้านสะดวกซื้อ วินมอเตอร์ไซค์รับจ้าง สำรวจจากพื้นที่ครอบคลุม บก.น 1-9 จำนวน 148 พื้นที่ สำรวจกลุ่มตัวอย่าง 7,400 ตัวอย่าง

ผู้สื่อข่าวถามว่าการทำวิจัยรวมกันระหว่างตำรวจกับเอแบคโพลล์จะมีการฮั้วกันหรือไม่ ดร.นพดลกล่าวว่า การทำวิจัยจะเคร่งครัดต่อระเบียบวิจัย ไม่มีการทำเพื่อประโยชน์ส่วนตัวแน่นอน เพราะการลงพื้นที่เก็บข้อมูลทำเป็นทีมงานไม่ได้ทำเพียงคนเดียว การทำโพลล์สามารถตรวจสอบได้ทุกขั้นตอน ยึดการทำงานบนพื้นฐานความเป็นจริง สำหรับสิ่งที่ประชาชนกังวลมากที่สุดในเรื่องปัญหาอาชญากรรมนั้น ดร.นพดลกล่าวว่า ขณะนี้กำลังรวบรวมข้อมูลแต่จากข้อมูลย้อนหลังปัญหาอันดับ 1.การก่อความเดือดร้อนรำคาญ 2.ความไม่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน และ3.ยาเสพติด

พล.ต.ต.วรศักดิ์กล่าวอีกว่า การทำงานร่วมกันระหว่างตำรวจกับเอแบคโพลล์ ถือเป็นประโยชน์กับสังคมและสำนักงานตำแห่งชาติ เพื่อนำผลที่ได้มาปฏิบัติ พร้อมวางกรอบการทำงาน โดยทางตำรวจพร้อมให้ข้อมูลในเชิงลึก หวังเพื่อให้งานที่ออกมาเกิดประสิทธิภาพสูงสุด

กำลังโหลดความคิดเห็น