xs
xsm
sm
md
lg

การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมทางอาญาให้มีศักยภาพ!

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมทางอาญา ให้มีประสิทธิภาพและความเป็นธรรม โดยผู้ทรงคุณวุฒิด้านกฎหมายได้นำเสนอผลการวิจัยเรื่อง “ทางเลือกในการเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา” ภายใต้โครงการการวิเคราะห์กฎหมายและกระบวนการยุติธรรมทางอาญาด้วยเศรษฐศาสตร์

ทุกๆ ปี ศาลยุติธรรมจะต้องรับคดีเข้าสู่สารระบบมากเกินกว่าที่จะสามารถพิจารณาให้เสร็จสิ้นลงได้ จึงมีคดีคั่งค้างในศาลและระบบยุติธรรมทางอาญาจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งที่กระบวนการยุติธรรมไทยใช้ทรัพยากรทั้งงบประมาณและบุคลากรมากกว่าประเทศอื่นๆ โดยเปรียบเทียบปัญหาดังกล่าวข้างต้นนอกจากจะก่อให้เกิดต้นทุนอย่างมหาศาลต่อระบบยุติธรรมของประเทศแล้ว ยังทำให้เกิดคำถามต่อระบบยุติธรรม เพราะกระบวนการยุติธรรมที่มีประสิทธิภาพต่ำ อาจไม่ทำให้เกิดความยุติธรรมอย่างแท้จริง

สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) โดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) จึงได้นำเสนอผลการวิจัยเรื่อง “ทางเลือกในการเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา” ภายใต้โครงการการวิเคราะห์กฎหมายและกระบวนการยุติธรรมทางอาญาด้วยเศรษฐศาสตร์เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิและผู้เกี่ยวข้องในกระบวนการยุติธรรมร่วมกันแสดงความคิดเห็นไว้อย่างน่าสนใจ

ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ รองประธานทีดีอาร์ไอ ในฐานะหัวหน้าโครงการวิจัยนำเสนอผลการศึกษา โดยสรุปว่า ปัญหาดังกล่าวเกิดจากการออกแบบกฎกติกาต่างๆ ที่ทำให้เกิดแรงจูงใจที่ไม่เหมาะสมหลายประการ โดยเฉพาะการใช้กระบวนการทางอาญาเป็นหลักในการระงับข้อพิพาท ข้อเสนอแนะหลักในการลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการยุติธรรม ได้แก่ 1.การยกเลิกโทษทางอาญาในกฎหมายบางฉบับ โดยเฉพาะในคดีเช็ค และคดีหมิ่นประมาท 2.การสนับสนุนการไกล่เกลี่ยในคดีที่ยอมความกันได้ และ 3.การใช้โทษปรับแทนการจำคุกในคดีอาญาที่ไม่ร้ายแรง โดยเฉพาะการนำโทษปรับตามรายได้ (day fines) มาใช้ ทั้งนี้ ลำพังแนวทางการปฏิรูปทั้ง 3 แนวทางจะช่วยลดต้นทุนในกระบวนการยุติธรรมได้รวมกันกว่าปีละ 2 พันล้านบาท โดยจะช่วยลดจำนวนคดีในกระบวนการยุติธรรม เพื่อให้ศาลและกระบวนการยุติธรรมมีทรัพยากรเพียงพอในการพิจารณาคดีอื่นๆ ที่สำคัญกว่าได้

นักวิชาการในสถาบันการศึกษาให้ความเห็นสอดคล้องไปในทิศทางเดียวกัน โดย ดร.ปกป้อง ศรีสนิท อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ชี้ว่า ต้นทุนในกระบวนการยุติธรรมเกิดขึ้น เนื่องจากข้อพิพาทบางอย่างนั้น ผู้เสียหายมีทางเลือกในการดำเนินคดีแพ่ง หรือคดีอาญาก็ได้ เช่น คดีเช็ค และคดีหมิ่นประมาท ในประเทศไทยนั้น ต้นทุนในการดำเนินคดีอาญากับคดีแพ่งต่างกัน ผู้เสียหายส่วนใหญ่จึงเลือกดำเนินคดีอาญา เนื่องจากต้นทุนดำเนินการอิงกับงบประมาณของรัฐ ต่างจากคดีแพ่งที่ต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายเอง

ผลของการกระทำนี้ทำให้รัฐต้องแบกรับภาระต้นทุนในการดำเนินคดีแทนเอกชน ทั้งๆ ที่รัฐควรจะเอาต้นทุนเหล่านี้ไปดำเนินคดีที่เป็นความสงบของสังคม เช่น คดีฆาตกรรม คดีทำร้ายร่างกาย คดียาเสพติด ฯลฯ มากกว่า

ขณะที่ ดร.จุฑารัตน์ เอื้ออำนวย อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ผลการวิจัยนี้สอดคล้องกับกรอบแนวคิดของกระบวนการยุติธรรมทางเลือกของสหประชาชาติ โดยทางเลือกในการลงโทษที่น่าสนใจในงานศึกษานี้ คือ การทำงานบริการสังคมแทนการกักขังแทนค่าปรับซึ่งเป็นกลไกที่มีอยู่แล้ว หากจะนำมาใช้ควรเน้นประชาสัมพันธ์ให้มาก ส่วนการใช้โทษปรับตามรายได้อาจทำเป็นโครงการทดลองระยะสั้นก่อน เพื่อศึกษาอัตราโทษและการบังคับใช้ที่เหมาะสม

นอกจากนี้ ดร.จุฬารัตน์ ยังเสนอแนะให้มีการใช้ข้อมูลที่ต้นทาง โดยระบุว่า ข้อมูลคดีในงานศึกษานี้มาจากข้อมูลคดีอย่างเป็นทางการ แต่หากดูจากข้อมูลสถิติอาชญากรรมทั่วประเทศ ในรอบปี พ.ศ.2550 จะพบว่า ข้อมูลอาชญากรรมที่มีการรายงานอย่างเป็นทางการผ่านพนักงานสอบสวนมีเพียง 34.8% เท่านั้น ที่เหลืออีก 65.2% เป็นอาชญากรรมที่ไม่มีการรายงาน ซึ่งเราอาจเรียกว่า “ตัวเลขมืด” (dark figure) ที่มีต้นทุนอีกมหาศาล

ส่วนความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้องในกระบวนการยุติธรรมนั้น นายสัก กอแสงเรือง นายกสภาทนายความ กล่าวว่า มุมมองที่ได้จากงานวิจัยทำให้เห็นภาพชัดเจน 2 ประการ คือ ประการแรก กฎหมายของไทยมีโทษทางอาญามากเกินไป และผลักภาระให้ประชาชน เช่น เรื่องทรัพย์สินทางปัญญา ความลับทางการค้า รวมถึงเรื่องวิดีทัศน์ ซึ่งไม่ควรเป็นคดีอาญา เพราะเป็นเรื่องของปัจเจกที่ต้องดูแลสิทธิประโยชน์ส่วนตน ประการที่สอง ระบบกล่าวหาที่ใช้ในกระบวนการยุติธรรมสร้างภาระให้แก่ผู้ต้องหาและจำเลยมากเกินไป รวมถึงการปล่อยตัวชั่วคราวชั้นสอบสวนที่เคร่งครัดมากในเรื่องหลักประกัน ทั้งที่รัฐธรรมนูญให้การปล่อยตัวชั่วคราวเป็นหลัก แต่กลับใช้การควบคุมตัวเป็นหลักปล่อยตัวชั่วคราวเป็นข้อยกเว้น

นายสัก เสนอเพิ่มเติมว่า การลดต้นทุนกระบวนการยุติธรรมเป็นวิธีที่ดี แต่ยังต้องมีการลงทุนเสริมอื่นๆ ด้วย เช่น ในชั้นพนักงานสอบสวน หากสามารถมีพนักงานสอบสวนที่มีคุณภาพ จะทำให้ได้สำนวนคุณภาพที่ต้นทาง ซึ่งจะส่งผลดีต่อกระบวนการทั้งหมดได้ ในส่วนของบุคลากรในกระบวนการยุติธรรมมีความเห็นเกี่ยวกับการนำโทษปรับมาใช้แทนจำคุกต่างๆ กันไป

โดย นายสราวุธ เบญจกุล รองเลขาธิการศาลยุติธรรม เห็นว่า แม้การเพิ่มโทษปรับทางอาญา และการนำ “ค่าปรับตามรายได้” มาใช้จะสามารถทำได้ แต่การที่มีกฎหมายที่มีโทษทางอาญาจำนวนมาก แต่ไม่มีสภาพบังคับ จะทำให้กฎหมายขาดความศักดิ์สิทธิ์ ประชาชนไม่เกรงกลัว และไม่เคารพกฎหมาย นอกจากนี้ ปัญหาเกี่ยวกับการที่ประชาชนมักใช้กระบวนการยุติธรรมทางอาญา เป็นเพราะกระบวนการทางแพ่งไม่ได้ผลดีหรือมีประสิทธิภาพเท่ากระบวนการทางอาญา จึงต้องทำให้มาตรการทางแพ่งมีประสิทธิภาพและบังคับใช้ได้จริง

ขณะที่ นายวุฒิชัย หรูจิตตวิวัฒน์ รองประธานศาลอุทธรณ์ภาค 1 ให้ความเห็นว่า หลักการทดแทนการใช้โทษจำคุกที่ยอมรับกันในปัจจุบันคือ กระบวนการยุติธรรมสมานฉันท์ ซึ่งมิใช่การใช้โทษปรับเพียงอย่างเดียว โทษจำคุกจะใช้เป็นมาตรการสุดท้ายเมื่อไม่สามารถใช้โทษอย่างอื่นได้แล้ว
อย่างไรก็ตาม ปัญหาของประเทศไทย คือ ความไม่สมดุลของโทษปรับและโทษจำคุก เช่น ความผิดฐานบุกรุกมีโทษจำคุก 1 ปี แต่โทษปรับเพียง 2,000 บาท หากเปลี่ยนโทษปรับเป็นโทษกักขังแทนค่าปรับ คือ ศาลจึงถูกบีบบังคับให้ใช้โทษจำคุก

ด้าน นายมาร์ค เจริญวงศ์ อัยการประจำสำนักงานพิเศษ ฝ่ายพัฒนากฎหมาย ยังเสนอความเห็นเกี่ยวกับการลดต้นทุนในกระบวนการยุติธรรม เพิ่มเติมว่า การที่พนักงานอัยการที่ต้องฟ้องคดีความผิดต่อส่วนตัวจำนวนมาก เป็นการนำบุคลากรในกระบวนการยุติธรรมมาใช้ดำเนินคดีให้เอกชน ในประเทศญี่ปุ่นนั้น หากอัยการพิจารณาพยานหลักฐานในคดีความผิดต่อส่วนตัวแล้ว ผู้เสียหายจะต้องจ้างทนายเพื่อฟ้องคดีเอง ซึ่งจะสามารถลดต้นทุนคดีประเภทดังกล่าวได้
ผู้ทรงคุณวุฒิด้านกฎหมาย ได้นำเสนอผลการวิจัยเรื่อง “ทางเลือกในการเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา”

กำลังโหลดความคิดเห็น