ศาลแพ่งนัดฟังคำสั่ง"พธม. - รวมพลังปกป้องแผ่นดิน" ฟ้องเพิกถอนประกาศ และข้อกำหนด พ.ร.บ.มั่นคง 4 มี.ค.นี้ เวลา 13.30 น. พร้อมคดีที่ไชยวัฒน์ฟ้อง ด้าน ทนาย พธม. มองข้ามช็อต หากศาลยกคำร้อง เล็งยื่นศาล รธน. วินิจฉัยการออกฎหมาย พ.ร.บ.มั่นคง ฯมิชอบ
วันนี้ ( 1 มี.ค.) เมื่อเวลา 10.00 น.ที่ห้องพิจารณาคดี 612 ศาลแพ่ง ถ.รัชดาภิเษก ศาลนัดไต่สวนฉุกเฉินคดีที่นายประพันธ์ คูณมี กรรมการรวมพลังปกป้องแผ่นดิน และนายปานเทพ พัวพงษ์พันธุ์ โฆษกพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี , คณะรัฐมนตรี (ครม.) และพล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี ผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) เป็นจำเลยที่ 1-3 เรื่องละเมิดจากการออกประกาศและข้อกำหนดตามพ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายใน ราชอาณาจักร พ.ศ.2551 จึงขอให้ศาลมีคำพิพากษาเพิกถอนประกาศและข้อกำหนดทุกฉบับ และขอให้ไต่สวนฉุกเฉินเพื่อระงับการดำเนินการใดๆ ตามพ.ร.บ.ความมั่นคงฯ ซึ่งได้มีการประกาศต่ออายุจนถึงวันที่ 23 มี.ค.นี้
โดยวันนี้ พล.ท.อักษรา เกิดผล ผู้ช่วยเสนาธิการฝ่ายยุทธการทหารบก ในฐานะผู้อำนวยการสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.)และพล.ต.ท.วรพงษ์ ชิวปรีชา ผู้ช่วยผบ.ตร. เลขาธิการศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (ศอ.รส.) เป็นผู้แทนของนายกรัฐมนตรีจำเลยที่ 1 และผบ.ตร.จำเลยที่ 3 ส่งคำชี้แจงเป็นลายลักษณ์อักษร ประเด็นที่มาและเหตุในการออกประกาศพ.ร.บ.ความมั่นคงฯ รวม 4 หน้า
ภายหลัง ศาลพิจารณาเอกสารและสอบถามผู้แทนของจำเลยทั้ง 2 แล้วยืนยันให้การตามเอกสารดังกล่าว ศาลจึงนัดฟังคำสั่งเกี่ยวกับคำขอไต่สวนฉุกเฉินในวันที่ 4 มี.ค.นี้ เวลา 13.30 น. พร้อมกับคดีหมายเลขดำที่ 663/2554 ที่นายไชยวัฒน์ สินสุวงศ์ เลขาธิการสมัชชาประชาชนแห่งประเทศไทย และเครือข่ายประชาชนไทยหัวใจรักชาติ พล.ร.อ.บรรณวิทย์ เก่งเรียน ประธานสมัชชาฯ และนายทศพล แก้วทิมา เครือข่ายประชาชนไทยหัวใจรักชาติ ซึ่งถูกออกหมายเรียกลำดับที่ 10 ตามพ.ร.บ.ความมั่นคงฯ ร่วมกันยื่นฟ้องนายกรัฐมนตรีและผบ.ตร. เป็นจำเลยที่ 1-2 เรื่องขอให้พิพากษาว่าประกาศและข้อกำหนดที่ออกตามพ.ร.บ.ความมั่นคงฯเป็นโมฆะ เนื่องจากศาลเห็นว่าลักษณะคดีคล้ายคลึงกัน ซึ่งคดีดังกล่าวจะไต่สวนเสร็จวันที่ 3 มี.ค.นี้
ภายหลัง นายสุวัตร อภัยภักดิ์ ทนายความพันธมิตรฯ กล่าวว่า หากที่สุดแล้วศาลมีคำส่งยกคำร้องคดีนี้ ตนก็จะใช้วิธีการยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย เนื่องจากการออกประกาศพ.ร.บ.ไม่ชอบด้วยกฎหมายในหลายส่วน รวมทั้งบริบทในการที่ออกประกาศก็ไม่ชอบเช่นกัน