xs
xsm
sm
md
lg

แฉเล่ห์รู้ทันเหลี่ยมกลลวงมิจฉาชีพ!

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

"กริ๊ง กริ๊ง กริ๊ง...สวัสดีค่ะดิฉันโทรมาจากกรมสรรพากรนะคะ จากแผนกจัดเก็บภาษีทางเราขอแจ้งว่าคุณได้ติดค้างการชำระภาษีอากรเป็นจำนวน เงิน .........บาท เพื่อให้สะดวกแก่การชำระทางเราขอทราบชื่อ นามสกุล และเลขหมายบัตรประชาชนของคุณด้วยค่ะ"

ยิ่งอยู่ในช่วงคืนภาษี ประชาชนยิ่งต้องระมัดระวังอันตรายจากกลุ่มมิจฉาชีพ "แก๊งคอลเซ็นเตอร์" ที่ออกอาละวาดหนัก ข้างต้นเป็นเพียงบทสนทนา รูปแบบหนึ่งของ "แก๊งคอลเซ็นเตอร์" ที่หลอกข่มขู่ หาข้อมูล จากประชาชนทั่วไป โดยการสุ่มโทร หรือหลอกลวงเหยื่อหลากหลายรูปแบบ เช่น อ้างว่าโทรมาจากธนาคารพาณิชย์ พร้อมกับแจ้งกับปลายสายด้วยการแอบอ้างว่าติดค้างหนี้อยู่ให้ไปที่ตู้ ATM เพื่อโอนเงินมาชำระหนี้ หรืออ้างว่าโทรมาจากศาลอาญา โทรจากดีเอสไอ โทรจาก ป.ป.ง โดยแก๊งนี้จะพูดจาด้วยน้ำเสียงน่าเชื่อถือ เมื่อเหยื่อรับสายโทรศัพท์ คนร้ายก็จะแจ้งว่าได้ไปทำความผิดเกี่ยวกับธุรกรรมทางการเงินและจะถูกออกหมายจับ ถ้าไม่โอนเงินมาตามที่แอบอ้าง จะไม่สามารถตรวจสอบข้อมูลต่าง ๆ เพื่อประสานให้มีการยกเลิกหมายจับให้ได้ โดยแก๊งคอลเซ็นเตอร์จะมีการพูดโน้มน้าว เกลี้ยกล่อม อาศัยรุกล้ำไม่ให้เหยื่อได้ตั้งสติ หรือตั้งตัวคิดทบทวนกับเหตุการณ์ให้รอบคอบ ซึ่งเมื่อเหยื่อทำตามทุกขั้นตอนที่แก๊งหลอกลวงสร้างสถานการณ์ขึ้นมา นั่นหมายความว่า การสูญเสียเงิน และทรัพย์สินจะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน

อย่างไรก็ตาม มีเหยื่อหลายรายที่ทำงานในหน่วยงานรัฐ และภาคเอกชน ได้ร้องเรียนว่าขณะกำลังนั่งทำงาน จู่ ๆ มีโทรศัพท์เข้ามาหา โดยไม่โชว์เบอร์ ปลายสายเป็นเสียงผู้หญิงบอกว่าชื่อนาง.... โทรฯ มาจากกรมสรรพากร แจ้งว่ามีเงินภาษีเงินได้ที่จะคืนให้จำนวน ....... บาท โดยให้เดินทางมารับเงินในวันนี้ ซึ่งเป็นวันสุดท้าย ที่สำนักงานในซอยอารีย์ เนื่องจากก่อนหน้านี้ได้ส่งเช็คเงินสดไปที่บ้าน แต่ไม่มีผู้รับ เหยื่อจึงตอบกลับไปว่าจะเดินทางไปรับหากเสร็จธุระ คู่กรณีก็ตอบมาว่าถ้าวันนี้คงจะไม่ทัน อยากให้ไปที่ตู้เอทีเอ็ม เพื่อจะได้โอนเงินเข้าบัญชีให้

เหตุการณ์ดังกล่าวเหยื่อไม่ได้สงสัยอะไร เพราะเสียงปลายสายเหมือนอยู่ในสถานที่ราชการ มีเสียงโอเปอร์เรเตอร์พูดอยู่ใกล้ ๆ ตลอดเวลา จึงรีบไปที่ตู้เอทีเอ็มหน้าที่ทำงานทันที ซึ่งเมื่อไปถึงปลายสายบอกให้ใส่บัตร แล้วกดเมนูภาษาอังกฤษ พร้อมกำชับว่าให้กดเมนูตามที่บอก ไม่ต้องสนใจตัวเลข เพราะเลขที่กดนั้นเป็นรหัสของกรมสรรพากร ยิ่งทำให้หลงเชื่อต้องรีบกดตามโดยครั้งแรกมีสลิปออกมา คนร้ายถามว่าเงินเข้าหรือยัง เหยื่อบอกว่ายังไม่เข้า คนร้ายก็บอกให้ลองกดดูอีกครั้ง โดยให้กดหมายเลข 0620292052 ตามด้วยหมายเลข 29,988 อีก 3 ครั้ง และหมายเลข 9,988 อีก 1 ครั้ง

นี่เป็นเพียงหนึ่งตัวอย่างที่ผู้เสียหายได้เข้าแจ้งความ เพราะรู้ตัวว่าถูกหลอกจากแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ซึ่งในความเป็นจริงแล้วกรมสรรพากรไม่เคยมีการดำเนินการคืนเงินภาษีผ่านทาง ATM และไม่มีนโยบายให้เจ้าหน้าที่โทรศัพท์ไปสอบถามข้อมูลส่วนบุคคลของผู้เสียภาษีเพิ่มเติม เนื่องจากมีข้อมูลของผู้เสียภาษีในฐานข้อมูลอยู่แล้ว โดยเฉพาะการคืนภาษีนั้น จะคืนให้เป็นเช็คธนาคารระบุชื่อ - สกุลของผู้ขอคืน และส่งไปให้ทางไปรษณีย์ตามภูมิลำเนาที่แจ้งไว้เท่านั้น ทั้งนี้ แม้ว่าจะมีข่าวครึกโครมเกี่ยวกับเรื่องนี้บ่อยครั้ง แต่ก็ยังมีเหยื่อถูกต้นตุ๋นในลักษณะนี้หลายครั้ง ซึ่งกลุ่มมิจฉาชีพก็ยังคงแอบอ้างชื่อกรมสรรพากรแล้วใช้อุบายหลอกให้ผู้หลงเชื่อโอนเงินเข้าบัญชีธนาคารของมิจฉาชีพโดยไม่รู้ตัว

"แก๊งคอลเซ็นเตอร์" ยังมีกลอุบายตุ๋นเหยื่ออีกหลายอย่าง เช่น อ้างว่าเหยื่อเป็นผู้ถูกรางวัลสลากกินแบ่งรัฐบาล เป็นหนี้บัตรเครดิต หรือถูกโจรกรรมข้อมูลบัตรเครดิต เมื่อเหยื่อหลงเชื่อก็จะสมอ้างเป็นเจ้าหน้าที่จากบริษัทบัตรเครดิต หรือเจ้าหน้าที่ธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อหลอกเหยื่อให้ไปทำธุรกรรม หรือแก้ไขข้อผิดพลาดที่ตู้เอทีเอ็ม ด้วยวิธีโอนเงินที่ตู้เอทีเอ็ม กดรหัสและเปลี่ยนเมนูเป็นภาษาอังกฤษ และบอกให้ทำตามขั้นตอนต่างๆ แต่จริงๆ แล้วเป็นการหลอกให้โอนเงินเข้าบัญชีที่แก๊งคนร้ายเปิดไว้

ดังนั้น เพื่อมิให้ประชาชนตกเป็นเหยื่อของแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ถ้าเจอเหตุการณ์ลักษณะดังกล่าว จึงควรจะตั้งสติ ถ้ามีการโทรแอบอ้างมา ควรที่จะโทรกลับไปเช็คหน่วยงานที่แก๊งคอลเซ็นเตอร์ได้แอบอ้างไว้ ที่สำคัญควรตรวจสอบความเคลื่อนไหวของบัญชียอดเงินรวมไปถึงยอดหนี้ค้างชำระของตนเองเสมอ แต่ที่ผ่านมาก็เคยมีในบางกรณีเหยื่อหลงเชื่อมิจฉาชีพที่โทรฯมาโดย ใช้เบอร์หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พอเหยื่อโทรฯกลับไปสอบถามก็พบว่า มีคนดังกล่าวอยู่ในหน่วยงาน แต่ไม่ได้คุยสาย พอหลังจากนั้นมิจฉาชีพจะโทรฯมาอีกครั้งแล้วให้เหยื่อโอนเงิน

กลุ่มมิจฉาชีพยังคงงัดกลยุทธ์ หลอกลวงสารพัดจะนำมาลวงเหยื่อ โดยมีการส่งจดหมายเป็นหนังสือตราครุฑ ซองจดหมายมีตราของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล โดยอ้างว่าส่งมาจากสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ถึงเจ้าของกิจการ ห้างร้าน หรือประชาชนทั่วไป ที่ตกเป็นเหยื่อ ซึ่งจะอ้างว่าเป็นผู้ที่โชคดีที่ได้รับการคัดเลือกให้รับเลขเด็ดในงวดประจำวันที่หวยรัฐบาลใกล้ออก พร้อมให้เบอร์โทรติดต่อไปขอรับเลขเด็ด แต่ต้องปิดเป็นความลับ พร้อมกับมีชื่อที่อยู่ของผู้รับที่ส่งไปให้ปลายทาง

ส่วนรายละเอียดในเอกสารที่ส่ง จะลงเลขที่หนังสือราชการทั่วไป มีวันที่ชัดเจน มีลายเซ็นต์ของผู้อำนวยการสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล โดยเนื้อหาอ้างว่า สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลจะทำการออกสลากกินแบ่งรัฐบาลประจำงวดวันที่ ..... เดือน...... พ.ศ. ....... ซึ่งการออกรางวัลครั้งนี้ คณะกรรมการจะทำการล็อกเลขท้าย 2 ตัวบน กับเลขท้าย 2 ตัวล่าง และทางคณะกรรมการได้มีมติอนุมัติให้ท่านมีสิทธิ์ที่จะได้รับตัวเลขในครั้งนี้ ถ้าท่านมีความประสงค์ที่จะรับตัวเลขในงวดดังกล่าว ให้ท่านติดต่อขอรับเลขได้โดยตรงกับคุณ ....... เบอร์โทร. ........ ตั้งแต่วันที่ ซึ่งเป็นช่วงก่อนวันหวยออกประมาณ 5 วัน ซึ่งการออกสลากกินแบ่งรัฐบาลในครั้งนี้จะทำการให้เล่นเลข 2 ตัวบน 3 ชุด สองตัวล่าง 3 ชุด เล่นตรงๆ ไม่ต้องกลับตัว ค่าใช้จ่ายเลข 2 ตัวบนตรง และค่าใช้จ่ายเลข 2 ตัวล่างตรง อยู่ที่ 15,000 บาท และที่สำคัญต้องเก็บเรื่องนี้เป็นความลับ เพื่อเป็นผลดีต่อตัวเองและกลัวว่าเลขดังกล่าวจะออกมาก่อน

เมื่อเหยื่อหลงเชื่อและโทรไปตามนั้น จะมีเสียงผู้หญิงรับสาย แล้วอ้างตัวว่าเป็นเจ้าหน้าที่กองสลากฯ หากต้องการได้ตัวเลขรางวัล ให้จ่ายเงินโอนผ่านตู้เอทีเอ็มก่อน แล้วจะส่งเลขล็อตเป็นแมสเสจเข้าเบอร์มือถือของเหยื่อ ซึ่งที่ผ่านมามีคนหลงเชื่อและสูญเสียเงินให้กับแก๊งมิจฉาชีพในลักษณะนี้มาแล้ว โดยเรื่องที่เกิดขึ้นนี้ สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ยืนยันว่า จดหมายปลอมแปลง เพื่อฉ้อโกงหลอกเอาเงินจากผู้ที่หลงเชื่อ ที่ผ่านสำนักงานสลากฯ โดยกองสลากฯ ไม่เคยมีการส่งจดหมายเช่นนี้แน่นอน

ร้อยเล่ย์ สารพันกับกลโกง เพื่อหลอกลวงให้ประชาชนหลงเชื่อ หากแก๊งนี้ยังคงลอยนวลอยู่ได้ ยิ่งจะทำให้ประชาชนผู้ซื่อบริสุทธิ์จะต้องสูญเสียเงินออมที่สะสมมาทั้งชีวิตอีกมากมาย ดังนั้น เพื่อไม่ให้แก๊งคอลเซ็นเตอร์ผุดขึ้นเหมือนดอกเห็ด หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเร่งปราบปรามถอนราก ถอนโคลนให้สิ้นซาก!!
(แฟ้มภาพ)
(แฟ้มภาพ)
กำลังโหลดความคิดเห็น